รองกรรมการผู้จัดการ ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ มีแผนเสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทด้อยสิทธิไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.55 และ 5 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.10 หุ้นกู้อายุ 2 ปี เป็นอัตราดอกเบี้ยคงตัว ส่วนหุ้นกู้อายุ 5 ปี ซีพี ออลล์ มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด (Call Option) โดยสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ภายหลังครบกำหนด 1 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินทุนในอนาคตได้ดีขึ้น
หุ้นกู้ทั้ง 2 ประเภท เสนอขายวันที่ 16 – 19 มี.ค.นี้ โดยมีผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ให้นักลงทุนทั่วไป เป็นสถาบันการเงิน 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
“การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลทำให้สถานะหนี้สินของบริษัทเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเงินทุนและโครงสร้างเงินทุนของบริษัท โดยโครงสร้างหนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น จะเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย จากอัตราดอกเบี้ยที่มีการลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่คงที่ และเพิ่มเสถียรภาพการบริหารจัดการและโครงสร้างของเงินทุนต่อไปในอนาคต” เกรียงชัย กล่าว
หน้าเว็บไซต์ สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 9.46 เท่า เทียบกับ 1.68 เท่า เมื่อปี 2555 ก่อนการกู้เงินมาซื้อกิจการ สยามแม็คโคร ส่วนเอกสารประกอบการแถลงข่าววันนี้ของ ซีพี ออลล์ ระบุว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิ (เฉพาะหนี้สินที่เกิดดอกเบี้ย) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 4.7 เท่า เทียบกับ 4.9 เท่า ณ สิ้นปี 2556 ทางบริษัทฯ บอกว่า ไม่ได้ให้ตัวเลขของปี 2555 ไว้ แต่คาดว่าสัดส่วนหนี้นี้จะเพิ่มเป็น 5 เท่า ในปีนี้ และตั้งเป้าที่จะลดสัดส่วนนี้ให้เหลือ 2 เท่า ภายในปี 2561
การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 ของการออกหุ้นกู้ ภายหลังจาก ซีพี ออลล์ ซื้อหุ้น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด(มหาชน) (makro) จำนวน 64.35 % จาก บริษัท SHV Netherlands B.V. เมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 2556 (3/4/56) ด้วยวงเงิน 188,880 ล้านบาท ซึ่งปีเดียวกันนั้น ซีพี ออลล์ ออกหุ้นกู้ชนิดมีหลักประกัน 4 ประเภท คือ อายุ 3, 5, 7 และ 10 ปี มียอดซื้อและลงทุนในหุ้นกู้กว่า 5 หมื่นล้านบาท จากนั้น ปี 2557 ได้ออกหุ้นกู้อีก 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งแรกเสนอขายนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป มีอายุ 3, 5, 7 และ 10 ปี ครั้งละ 4 หมื่นล้านบาท และครั้งสุดท้ายปลายปี มีการออกหุ้นกู้แบบพิเศษ คือ แบบจำเพาะเจาะจง อายุหุ้นกู้ 3 และ 12 ปี ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เน้นที่นักลงทุนสถาบัน
“บริษัทคงไม่ได้มองถึงสถานะของการใช้หนี้ให้หมด และบริษัทไม่มีหนี้เลย เพราะเรื่องการบริหารเงินทุนและโครงสร้างของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ ต้องยอมรับว่าอาจต้องมีหนี้สินอยู่บ้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารเงิน และใช้ต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมที่สุด แม้บริษัทเข้าซื้อกิจการสยามแม็คโครเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทก็ยังเจริญเติบโตและลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจ 7-Eleven และสยามแม็คโคร ไม่ใช่มีเงินกู้หรือมีภาระหนี้สินแล้วชะลอการลงทุน” รองกรรมการผู้จัดการ ซีพี ออลล์ กล่าว
ปี 2557 ซีพี ออลล์ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 371,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 284,670 ล้านบาท ในปี 2556 คิดเป็น 30.4% และมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 21,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.8% จากปี 2556 และมีกำไรสุทธิ 10,154 ล้านบาท
เกรียงชัย กล่าวว่า ปี 2558 ซีพี ออลล์ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา พร้อมเชื่อมั่นว่า ธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัว สำหรับงบลงทุนธุรกิจ 7-Eleven ปีนี้ ตั้งไว้ที่ราว 9 พันล้านบาท คาดเติบโตไม่น้อยกว่า 600 สาขา จากปีที่แล้วที่เติบโตเกือบ 700 สาขา ส่วนแม็คโคร ปีที่ผ่านมาเปิดเพิ่มกว่า 10 สาขา คาดปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10 สาขา
ปัจจุบัน (นับถึง 24 ก.พ.) 7-Eleven มีทั้งหมด 8,224 สาขา แบ่งเป็น บริษัท 3,639 สาขา แฟรนไชส์ 2,808 สาขา ร้าน ปตท. 1,137 สาขา และ Sub Area 640 สาขา