ซิตี้แบงก์ เผยอนาคต "ห่วงโซ่ธุรกิจ" ในเอเชียแปซิฟิก - Forbes Thailand

ซิตี้แบงก์ เผยอนาคต "ห่วงโซ่ธุรกิจ" ในเอเชียแปซิฟิก

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Oct 2021 | 07:35 PM
READ 2846

ธนาคารซิตี้แบงก์ ร่วมกับ  The Economist Intelligence Unit (EIU) เผยผลงานวิจัยชิ้นใหม่ อนาคตของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เกี่ยวข้องกับ ห่วงโซ่ธุรกิจ โดยเฉพาะ 6 อุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก

ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับ "ห่วงโซ่ธุรกิจ" อนาคตของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยร่วมกับ The Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายองค์กรมีการคิดทบทวนกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่อุปทานในเอเชียแปซิฟิกในวงกว้างมากขึ้น แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคจะค่อนข้างมีความยืดหยุ่น โดยรายงานการวิจัยนี้อิงจากผลการสำรวจผู้จัดการด้านซัพพลายเชนจาก 175 คนทั่วโลก ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลัก 6 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ รองเท้าและเครื่องแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ไอที/เทคโนโลยี/อิเล็กทรอนิกส์และการดูแลสุขภาพ/ยา/เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประเด็นสำคัญจากการวิจัย พบว่า แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานในเอเชียแปซิฟิกจะมีความยืดหยุ่น แต่บริษัทต่างๆ กำลังทบทวนกลยุทธ์สำหรับอนาคตในระยะยาว เพิ่มการลงทุนในระบบดิจิทัล แต่ยังคงเชื่อมั่นในกระแสโลกาภิวัตน์และห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศมากกว่าที่อื่น ส่วนบริษัทในแถบยุโรปและอเมริกาเหนืออาจมีการถอนตัวจากห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แต่มาเน้นการขยายตัวภายในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและกระจายความเสี่ยงแทน นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทขนาดใหญ่เริ่มที่จะทำการกระจายห่วงโซ่อุปทานและเปลี่ยนการใช้ซัพพลายเออร์รายเดียว (single sourcing) ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กเลือกที่จะใช้วิธีการโลคัลไลเซชัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีประเทศที่ภาคธุรกิจกำลังลงทุนหรือวางแผนที่จะทำในปีหน้า เช่น อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เกาหลีใต้ เมียนมาร์ มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย จีน เวียดนาม ฯลฯ โดยปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นที่น่าลงทุน อาทิ ค่าแรง สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ เงินอุดหนุนหรือสิ่งจูงใจจากรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมือง ทั้งนี้ ผลรายงานการวิจัย สำรวจข้อมูลช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จากบริษัททั่วโลกครอบคลุมอุตสาหกรรมหลัก 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.ยานยนต์ 2.รองเท้าและเครื่องแต่งกาย 3.อาหารและเครื่องดื่ม 4.การผลิต 5.ไอที/เทคโนโลยี/อิเล็กทรอนิกส์ และ 6.การดูแลสุขภาพ/ยาเทคโนโลยีชีวภาพ พบว่า 5 ปัจจัยของการหยุดชะงักในซัพพลายเชนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ หยุดการผลิตร้อยละ 36.4 ตามมาด้วยปัญหาการขนส่งทางอากาศ ทะเล รถไฟ และถนน ร้อยละ 20.9 ปัญหาการเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตหลัก เช่น ฝ้าย แร่เหล็ก แร่หายาก ร้อยละ17.3 ข้อจำกัดทางการค้า เช่น การควบคุมการส่งออก ภาษีนำเข้าร้อยละ 11.8 และการเข้าถึงปัจจัยการผลิตของสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก ส่วนประกอบ เซมิคอนดักเตอร์ร้อยละ 6.4 โดยภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อยคือกลุ่มยานยนต์ ตามด้วย กลุ่มรองเท้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มการผลิต กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มการดูแลสุขภาพ ยา และเทคโนโลยีชีวภาพ และ กลุ่มไอที เทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหลักของการหยุดชะงักในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์คือหยุดการผลิต และข้อจำกัดทางการค้า เช่น การควบคุมการส่งออก รวมถึงการเข้าถึงวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตหลัก การจัดหาเทคโนโลยี รวมถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมาก ในขณะที่ด้านการขนส่งเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนปัจจัยการเข้าถึงวัตถุดิบหรือข้อมูลเบื้องต้นเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม เป็นต้น นอกจากนี้จากผลสำรวจยังเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ซัพพลายเชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 44.6 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางอย่างแต่กลยุทธ์หลักยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 32.6 กำลังดำเนินการยกเครื่องกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด และ ร้อยละ 22.9 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดย 5 กลยุทธ์หลักสำหรับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ 1. การกระจายความหลากหลาย เช่น ปรับซัพพลายเชนของบริษัทให้มาจากซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย หรือขายในตลาดที่กว้างขึ้น 2. ย้ายซัพพลายเชนของบริษัทไปยังประเทศรอบๆ ตลาดหลัก หรือตลาดของผู้ใช้ปลายทาง 3. การโลคัลไลเซชันด้วยการย้ายซัพพลายเชนให้อยู่ในตลาดหลักหรือตลาดผู้ใช้ปลายทาง 4. ย้ายการผลิตกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของบริษัท และ 5. China Plus One แนวคิดการลงทุนในประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนอย่างเดียว อย่างไรก็ดียังพบว่าอุตสาหกรรมไอที เทคโนโลยี และอิเล็กทรอนิกส์ มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ซัพพลายเชนน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญสูง และมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตเฉพาะทาง ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเนื่องจากความซับซ้อนเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ พร้อมกันนี้ผลสำรวจยังเผยให้เห็นประเทศที่บริษัทต่างๆ ลงทุนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาหรือกำลังวางแผนที่จะทำในปีหน้า โดยบริษัทในเอเชียมีการลงทุนในประเทศ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ออสเตรเลีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ เมียนมาร์ มาเลเซีย และศรีลังกา ในขณะบริษัทที่อยู่ในอเมริกาเหนือและยุโรปมีความสนใจลงทุนในฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นที่น่าลงทุนจากมากไปน้อย ประกอบด้วย 1.ค่าแรง 2.ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ 3.เข้าถึงตลาดหลัก โครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ 4.ผลผลิต 5.ฝีมือแรงงาน 6.เงินอุดหนุน/สิ่งจูงใจจากรัฐบาล และทักษะต่าง ๆ 7.การแปลงสกุลเงิน 8.เสถียรภาพทางการเมือง และอัตราภาษี 9.การเข้าถึงการเงิน ตามลำดับ สุดท้ายนี้ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความกังวลในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบ พบว่าบริษัททั่วโลกส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่อง 1. โรคระบาดครั้งต่อไป 2. การล่มสลายของระบบการค้าโลก และ 3. วิกฤตเศรษฐกิจหรือการเงิน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการระบาดของโรคโควิด-19 ได้นำไปสู่การเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือและกระบวนการดิจิทัลเพื่อจัดการซัพพลายเชน โดยบริษัทส่วนใหญ่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเครื่องมือและกระบวนการดิจิทัล ทั้งกระบวนการผลิต การบริการลูกค้า การคาดการณ์ความต้องการซื้อและความต้องการขาย การจัดการสินค้าคงคลัง ฯลฯ ซึ่งเหตุผลหลักในการลงทุนในเครื่องมือและกระบวนการดิจิทัลมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น บริษัทในเอเชียส่วนใหญ่ลงทุนในเครื่องมือดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการบริการลูกค้าและการจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงการลงทุนในกระบวนการดิจิทัลสำหรับคู่ค้า คือการคาดการณ์การผลิต และการคาดการณ์ความต้องการซื้อและความต้องการขาย รายงานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าทุกภาคอุตสาหกรรมต่างมีการตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ที่กำลังเผชิญ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อรักษาความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว รวมถึงทำให้ภาคธุรกิจในภูมิภาคมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซิตี้แบงก์ในฐานะธนาคารชั้นนำที่มีการดำเนินงานอยู่ในกว่า 100 ตลาดทั่วโลก มีความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายด้วยความสามารถในการให้คำปรึกษาผสานความเชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่น พร้อมการเดินหน้าสำรวจภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อการปรับให้เข้ากับท้องถิ่นหรือเปลี่ยนตำแหน่งใหม่เพื่อเข้าใกล้ตลาดปลายทาง หรือขยายไปสู่ตลาดใหม่เพื่อลดต้นทุนและกระจายซัพพลายเชน โดยให้มีความสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นและการเติบโต ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควบคู่ไปกับการเป็นพันธมิตรกับลูกค้านักลงทุนอย่างใกล้ชิด อ่านเพิ่มเติม: กรุ๊ปเอ็ม เผยอินไซต์ผู้บริโภคไทยหลังวิกฤตโควิดปีที่สอง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine