ฉายภาพธุรกิจภาพยนตร์ไทย อุตสาหกรรม 2.4 หมื่นล้านบาท - Forbes Thailand

ฉายภาพธุรกิจภาพยนตร์ไทย อุตสาหกรรม 2.4 หมื่นล้านบาท

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Nov 2014 | 12:52 PM
READ 7640

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีคนเกี่ยวข้องเยอะกว่าที่ส่วนใหญ่คาด มีภาพยนตร์ไทยออกฉายราวๆ 40-50 เรื่องต่อปี แต่ตลอดสายการผลิตและจำหน่ายมีผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องถึง 50,130 คน

 

 

ราว 1,450 คนอยู่ในกลุ่มสร้างและเป็นเจ้าของสิทธิการเผยแพร่ ส่วนในธุรกิจสนับสนุนการผลิต เช่น ให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ จัดช่างแต่งหน้าทำผม ออกแบบตัดเย็บ ตัดต่อภาพเสียง ก็ราว 4,500 คน ส่วนด้านการตลาดมีไม่ถึง 500 คน ที่เหลืออยู่ในรูปของเจ้าหน้าที่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ 10,300 คน และคนในธุรกิจ DVD อีก 33,600 คน

 

กระนั้นก็ไม่อาจถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นับห้างร้าน กิจการที่ทำธุรกิจนี้ได้ราว 21,500 ราย นี่เป็นข้อมูลที่รวบรวมครั้งสุดท้ายเมื่อ 2554

 

มูลค่ารวมของทรัพย์สิน และการลงทุนของอุตสาหกรรมนี้คำนวณได้ 24,279.74 ล้านบาท จากมุมรายได้การฉายหนังไทยในโรง ได้ค่าบัตรราว 1,240 ล้านบาท/ปี หลังพ้นโรงแล้ว แผ่น DVD แท้จึงจะออกวางจำหน่าย สร้างรายได้ราว 1,832 ล้านบาท/ปี ผลพลอยได้อื่น เช่น ค่าโฆษณาในโรงและจำหน่ายเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวหน้าโรงอีก 2,000 ล้านบาท/ปี แต่รายได้จากการส่งออกหนังไทยไปต่างประเทศ เพียง 500 ล้านบาท/ปี ซึ่งควรจะขยายได้อีกมาก 

 

สิทธิในการผลิตสินค้า ไม่ว่าเสื้อยืด โปสเตอร์ภาพถ่าย เพลงประกอบ ของที่ระลึก ตุ๊กตา สามารถทำรายได้อีกอย่างน้อยก็เท่ากับค่าบัตร หรือคูณเข้าไปอีก 3-4 เท่า แล้วแต่หนังเรื่องนั้นมีพลังทางการตลาดมากแค่ไหน

 

Walt Disney ไม่ได้ขายหนังเป็นรายได้หลัก แต่ได้จาก “ลิขสิทธิ์” ที่จินตนาการจนกลายเป็นสินค้าตั้งแต่ของเล่น หรือลวดลายเส้น และเสียงเพลงอมตะ ไปจนถึงสวนสนุก โรงแรม ร้านขนม หนังสือ การแสดงโชว์ หรือแม้แต่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

เกาหลีใต้ไม่ได้หวังเพียงรายได้จากการขายบัตรดูหนังเกาหลี แต่สิ่งที่ได้คือความเชื่อถือ เชื่อว่าสาวเกาหลีผิวดี มีความงดงาม ทั้งรูปหน้า แฟชั่น และทิวทัศน์ เชื่อว่ากิมจิมีเสน่ห์สรรพคุณสารพัด  เชื่อว่าชายเกาหลีโรแมนติกให้เกียรติ ไม่ดุ ทันสมัย อีกสารพัดให้เชื่อ...จริงหรือเปล่าเป็นเรื่องที่วิจารณ์กันได้ แต่สินค้าและวัฒนธรรมเกาหลีขายได้ละ

 

ดังนั้น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติใดก็ตาม ที่จริงแล้วมี 2 มิติเป็นอย่างน้อย มิติด้านมูลค่าอาจคำนวณจากการขาย การลงทุน เพื่อภาพยนตร์ของชาตินั้น แต่มิติด้านคุณค่าต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่าราคา

 

เหมือนหวีและเจลแต่งผมแหละครับ ราคาหวีกับเจลไม่มากนัก แต่หลังใช้ของสองอย่างนี้ด้วยฝีมือแล้ว ให้ผลที่น่าตื่นตะลึงมากกว่า แน่นอนไม่ใช่ว่าใครมีหวี มีเจล ก็จะหล่อสวยได้ทันที สิ่งที่ต้องมีด้วยคือฝีมือครับ ช่างแต่งผมที่ตาแม่น มองขาด จึงมีค่าตัวแพง

 

ศิลปะภาพยนตร์ รวมสารพันช่างมาถักทอรวมกัน ทั้งสิ่งที่ตาจะเห็น หูจะได้ยิน สมองจะซึมซับผ่านการลำดับเรื่อง สิ่งที่ทำหัวใจพองโต หรือบีบคั้นด้วยฉากและบทที่กำหนดให้เป็น ถ้าถักทอรวมได้ดี เราเรียกหนังนั้น...ว่า “สนุก” ไม่ว่าจะแนวเศร้า น่ากลัว แนวบู๊ หรือแนวตลก

 

คนสังคมไหนเป็นอย่างไร  ภาพยนตร์ที่สร้างในสังคมนั้นพอจะบอกได้ แต่สิ่งที่ภาพยนตร์จากสังคมนั้นขยายต่อไปต่างหาก ที่จะพาไปอีกขั้นว่า วัฒนธรรมของชาตินั้นขายได้และขยายได้

 

Hollywood ทำให้โลกเชื่อว่า สหรัฐมีพลัง คนอเมริกันภูมิใจในตนเอง ส่วนใหญ่ก็มาจากภาพยนตร์อเมริกันบอก บอกซ้ำๆ อย่างมีเทคนิค บอกคนอเมริกัน แล้วบอกโลกผ่าน “ช่องทางจัดจำหน่าย” ขยายภาษาอเมริกัน ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษ ขยายตัวจนเป็นภาษายิ่งใหญ่สำคัญที่สุดในโลก ทำให้คนเกรงใจยิว แต่หวาดระแวงอาหรับโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดมีนโยบายต่างประเทศที่ไม่ได้สติอยู่เนืองๆ

 

ภาพยนตร์ไทยจึงควรได้หวี (นโยบาย) มีเจล (ระบบบริหารรองรับ) และมีช่างฝีมือที่ดี เพราะช่างแต่งทรง 5 หมื่นคนข้างต้น แม้ได้ค่าหวีผมให้เจ้าสาวแพงกว่าค่าอาหารของเจ้าสาวหลายมื้อก็เถอะ แต่เจ้าสาวที่โดดเด่นจนแม่เจ้าบ่าวตะลึงนั้น...สินสอดและศักดิ์ศรีจะเพิ่มอีกไม่อั้นทีเดียว


 


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา