ค้าปลีกไทย: สวรรค์ ของ TV home shopping - Forbes Thailand

ค้าปลีกไทย: สวรรค์ ของ TV home shopping

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี และพรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น และภัทรพล ตันตรงภักดิ์

“โอ้จอร์จ! มันยอดมาก!” ครั้งหนึ่งเคยเป็นวลีที่โด่งดังจนคนไทยพูดกันติดปาก และได้ยินกันติดหู ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการโฆษณาขายสินค้าของ TV home shopping ในยุคแรกเริ่ม หรือช่องรายการแนะนำสินค้าทางโทรทัศน์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการตลาดแบบขายตรง (direct marketing) ในธุรกิจค้าปลีกไทยที่ล่าสุดมีมูลค่ารวมถึง 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2557

จากปัจจัยต่างๆ ของมูลค่าตลาดค้าปลีกไทยไม่ต่ำกว่า 1.55 แสนล้านบาท พร้อมกำลังซื่้อจากประชาชน ประกอบด้วยรายได้ประชากรไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ความเจริญด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเข้าถึงของไฟฟ้า การขนส่งและกระจายสินค้า จากองค์ประกอบข้างต้นจึงถือได้ว่าเมืองไทยมีความพรั่งพร้อมแก่การลงทุนจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นสวรรค์ของการทำธุรกิจ TV home shopping ได้เลยทีเดียว

ครั้นเมื่อวัดสรรพกำลังระหว่างตลาดค้าปลีก กับธุรกิจ TV home shopping ที่ใหญ่เพียง 5 พันล้านบาทเมื่อปี 2557 จะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

จากมุมมองของผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้อย่าง Sung Nak Je หรือ Jay ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งดูแลช่องรายการจำหน่ายสินค้า “O Shopping” ที่คาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่ายอดขายรวมของทั้งตลาดจะไต่เพดานขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทได้ ในปี 2560
 
ขณะที่มุมมองจากช่อง Shop CH โดย Shigeru Ohashi ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คร่ำหวอดทั้งในธุรกิจค้าปลีกไทยและธุรกิจขายสินค้าผ่านจอโทรทัศน์มากว่า 20 ปี ระบุว่า เหตุผลที่การแข่งขันยังไม่ดุเดือดดังเช่นช่องทางค้าปลีกอื่นๆ นั้น เป็นเพราะผู้เล่นแต่ละรายต่างมีจุดเด่นในด้านตัวสินค้า การนำเสนอ และฐานลูกค้าเฉพาะของช่องตัวเอง จึงไม่จำเป็นต้องทำการตลาดแบบดุดัน
 
สอดคล้องกับมุมมองของ ทรงพล ชัยมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีวี ไดเร็ค และ นายกสมาคมทีวีโฮมช็อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ THA ที่ว่า “การรบราฆ่าฟันระหว่าง TV home shopping อาจจะทำให้ blue ocean เป็น red ocean แบบไม่จำเป็น ทั้งที่แต่ละบริษัทต่างสร้าง competency ในช่องของตัวเองในแนวทางที่แตกต่างกัน” เพื่อย้ำชัดถึงความพยายามสร้างบรรยากาศทางธุรกิจให้เกิดความสมานฉันท์ เพื่อคงสถานะ “blue ocean” อันเป็นจุดเด่นของธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มถึงปัจจุบัน

สำหรับอุปสรรคที่อาจจะขัดขวางให้ TV home shopping ไม่ก้าวไกลดังคาดนั้น Jay คิดว่าเป็นเรื่องของข้อกำหนดที่เหมาะสมและส่งเสริมธุรกิจ TV home shopping โดยเฉพาะซึ่งจะออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
นอกจากนั้น ทรงพลจาก TV Direct ยังให้มุมมองความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ TV home shopping ในอนาคตที่จำเป็นต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเข้าสู่เทรนด์ “multitasking” หรือการรับสื่อได้หลากหลายรูปแบบในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ  ไลน์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอื่นๆ โดยทีวี ไดเร็ค มีความพร้อมทั้งระบบที่รองรับธุรกิจ เงินทุน การพัฒนาซอฟแวร์ และความร่วมมือกับพันธมิตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค
 
โดยผู้เล่นรายล่าสุด อย่าง HIGH Shopping ที่เพิ่งประกาศตัวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากพลังผนึกระหว่าง Hyundai Home Shopping Network Corp. ยักษ์ใหญ่ด้านจำหน่ายสินค้าออนไลน์หลากหลายช่องทางจากประเทศเกาหลีและ บริษัท อินทัช มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Intouch หรือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ที่สัดส่วน 49% และ 51% ตามลำดับ นับเป็นผู้เล่นรายสำคัญที่ต้องจับตามองต่อไปว่าจะมาวาดลวดลายแหวกว่ายในตลาด blue ocean ได้ถึงฝั่งหรือไม่
 
ทั้งนี้ ผู้เล่นเดิมต่างมองเป็นเรื่องดีของวงการ TV home shopping เพราะจะยิ่งช่วยกันทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านจอ TV ได้รับความเชื่อมั่นจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง พัฒนาบริการให้ดีขึ้น และนำไปสู่การเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต ส่วนจะเป็นตัวเลข 1.3 หมื่นล้านในปี 2560 ดังที่คาดหวังหรือไม่ คงต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการหลักที่ยังมีไม่มากจนต้องเบียดเสียดกันยืน การแข่งขันกันอย่างดุเดือดจึงยังไม่เกิดขึ้น ทว่า ผู้เล่นแทบทุกรายต่างแข่งกับแบบสร้างสรรค์เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ตลาดรวมเติบ โตมากกว่า หรือถือเป็นการตลาดแบบ “blue ocean” โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจ TV home shopping ได้จัดตั้งสมาคมขึ้นอย่างเป็นทางการ

คลิ๊กอ่าน "ค้าปลีกไทย: สวรรค์ ของ TV home shopping" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ SEPTEMBER 2015