"คลัง" ชี้ 4 ปัจจัยเขย่าเศรษฐกิจปีแพะ - Forbes Thailand

"คลัง" ชี้ 4 ปัจจัยเขย่าเศรษฐกิจปีแพะ

ใกล้ถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้รัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานแล้ว แต่คงปลุก GDP ให้ฟื้นไม่ทัน ที่จะวิ่งไกลเกินกว่า 2% ตามการวิเคราะห์ของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คงต้องฝากความหวังไว้กับแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยปี 2558 ว่าจะผงกหัวขึ้นได้ราว 4-5% ดังที่ สศค.วาดภาพไว้ 
 
ทว่ายังคงต้องจับจ้อง 4 ปัจจัยหลักที่เฝ้าคอยสั่นสะเทือนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 
 
เริ่มจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง จึงน่าจะไม่เอื้อต่อรายได้ส่งออกของไทยที่ครองอัตรากว่า 70% ของ GDP  แม้ตลาดที่เคยซึมเซาอย่างสหรัฐฯ เริ่มสดใสขึ้นแล้ว แต่เชื่อว่ายอดการค้ากับตลาดจีน ญี่ปุ่น และยุโรปยังแผ่วอยู่ ขณะที่กลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม หรือ CLMV จะกลายเป็นอัศวินผู้นำพาให้ตัวเลขส่งออกของไทย ขยายได้ 5.8-7.8% ในปีหน้า
 
ส่วนปัจจัยต่อมาที่ต้องไม่วางใจ แม้ว่าราคาน้ำมันจะทรงตัว และความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลงตามภาวะการผลิตที่ชะลอลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองโลกที่พร้อมปะทุได้ตลอด
 
อีกปัจจัยที่พึงระวัง นั่นคือค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน จากนโยบายการเงินของประเทศยักษ์ใหญ่ ได้แก่ การถอนมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน หรือมาตรการ QE ของสหรัฐฯ การเพิ่มปริมาณเงิน QE2 ของญี่ปุ่น และนโยบายสะกัดภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป ดังนั้นจำต้องเตรียมตัวรับมืออัตราดอกเบี้ยที่อาจสูงขึ้น และป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทผันผวน
 
กระนั้น GDP จะยังมีปัจจัยที่เป็นแม่แรงค้ำจุนจากนโยบายการคลังที่มุ่งอัดฉีดเม็ดเงินสู่ภาคเศรษฐกิจ โดย สศค. ประเมินว่าในปีหน้าตัวเลขการบริโภคภาครัฐจะอยู่ที่กว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปีนี้ และการลงทุนภาครัฐที่กว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มถึง 13.4% 
 
แม้ สศค. จะจุดประกายความหวังให้พอมีกำลังใจสู้ต่อในปีหน้า แต่สิ่งที่จะเป็นหลักประกันให้ทั้งคนไทยและผู้ประกอบการทั้งหลาย เอาชนะอุปสรรคและเป็นผู้รอดในทุกวิกฤติคือ การพัฒนาศักยภาพตัวเองให้เดินหน้าสู่ความเป็นเลิศ
 
ตามคำที่ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ย้ำว่า "อย่าไปมัวหวังอะไรลมๆ แล้งๆ" แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเราก่อน จึงจะก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน