ครอบครัวกระทิงแดง ร่วมสู้โควิด หนุนไทย “พึ่งตน เพื่อชาติ” - Forbes Thailand

ครอบครัวกระทิงแดง ร่วมสู้โควิด หนุนไทย “พึ่งตน เพื่อชาติ”

ครอบครัวกระทิงแดง หรือ ตระกูลอยู่วิทยา เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม “กระทิงแดง-เรดบูล” เป็นอีกตระกูลหนึ่งที่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงมหาเศรษฐีไทย 20 รายเมื่อเดือนเมษายนผ่านมา และขอให้ใช้ศักยภาพดำเนินโครงการ เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของคนไทยอันเนื่องจากโควิด-19

อีก 10 วันต่อมา เฉลิม อยู่วิทยา แห่ง ครอบครัวกระทิงแดง ได้ยื่นหนังสือตอบรับถึงนายกฯ ระบุว่าครอบครัวอยู่วิทยาจะทำโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ล่าสุด พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้อำนวยการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดดังกล่าว ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ผ่านการดำเนินงานโดยศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา” เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง พรรณราย และ โรจนี ลีลากุล ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้สามารถนำไปใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะเกษตรกร เริ่มจากการเปลี่ยนหลักคิดสู่การพึ่งตนเอง ทำความรู้จักอาหารที่กิน การเพาะปลูก การแปรรูป การฟื้นฟูดิน การจัดการน้ำไปจนถึงภาพความสัมพันธ์ในระดับลุ่มน้ำ เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ พื้นฐานการดำรงชีวิต การดูแลสุขภาพ การนำองค์ความรู้มาพัฒนาและต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์
ครอบครัวกระทิงแดง
พรรณราย พหลโยธิน ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้อำนวยการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ
ศูนย์เรียนรู้ฯ มีอาณาบริเวณ 50 ไร่ สามปีก่อนมีต้นไม้ไม่ถึง 10 ต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นของพรรณรายและเพื่อน รวมทั้งการเกื้อกูลจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทำให้สามารถเปลี่ยนผืนดินสีแดงกลายเป็นสีเขียวอุดมไปด้วยต้นไม้และพืชผักสมุนไพรนานาชนิด มีจุดเรียนรู้ อาทิ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง หัวคันนาทองคำ ห้องเรียนไม้ไผ่ โรงน้ำหมัก/ปุ๋ยหมัก หมู่บ้านไก่ เป็นต้น เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพิ่งเปิดอบรมหลักสูตรครั้งแรกในชื่อรุ่นพรรณา 001 และต้นเดือนกรกฎาคม เป็นพรรณา 002 หรือรุ่นทดสอบหลักสูตร 5 วันสำหรับ โครงการพึ่งตนเพื่อชาติ ตอนซื้อที่ดินพรรณรายตั้งใจว่าจะทำเป็นรีสอร์ท แต่หลังจากเข้าอบรมกับ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องความคิดก็เปลี่ยนไป และทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ศาสตร์พอเพียงพรรณาแทน และว่าหลังได้รับจดหมายจากนายกฯ แล้วคนในครอบครัวได้ร่วมกันระดมสมองว่าจะ “ช่วยชาติ” อย่างไรได้บ้าง “คุณแม่ คุณน้า รุ่นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ก็คุยกัน และบอกว่าอยากให้เจเนอเรชั่นที่ 3 ทำ คือคุณตาจะพูดถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พูดว่าเราเป็นคนไทยต้องตอบแทน ก็เป็นโอกาส มีหลายคนเสนอ แต่อาจยังไม่ชัดเจนมาก เพราะเวลาค่อนข้างสั้น เผอิญส่วนตัวพอเสนอไปก็ตรงกับโจทย์ เราทำศูนย์ฯ อยู่แล้วเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ถูกซักถามเยอะเหมือนกันว่าจะสำเร็จจริงหรือเปล่า อาจารย์ยักษ์กรุณามาให้ข้อมูลกับครอบครัวด้วย ทำให้มั่นใจ คราวที่ทำร่างหลักสูตรก็โดนอาจารย์ยักษ์ และอาจารย์ประภาภัทร นิยม ตีตกไปหลายรอบ” ส่วนชื่อโครงการมาจาก “เฉลิม อยู่วิทยา” ซึ่งเป็นรุ่น 2 ของตระกูล “ตอนแรกช่วยกันเสนอ คิดกันลึกล้ำ ตอนแรกเด็กๆ อยากได้ชื่อแนวๆ ฟังดูอาจจะยาก แล้วคุณน้าเฉลิมก็คิดและส่งมาเลยว่าอันนี้ดีไหม ทุกคนลงความเห็นเอาอันนี้แหละ ตรงและเข้าใจง่าย” งบประมาณ 300 ล้านบาท ประเมินจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงาน 3 ปี สำหรับผู้เข้ารับการอบรม เป็นค่าที่พัก เดินทาง อุปกรณ์ การประสานภาคีเครือข่ายและการจัดเวทีแสดงผลโมเดลชุมชนต้นแบบ โดยเป็นเงินลงขันจากสมาชิกอยู่วิทยาจำนวน 10 ครอบครัว โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” มี 3 เป้าหมายหลักคือ มุ่งสร้างผู้นำเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงตนเอง และชุมชน โดยหนุนเสริมจุดเล็กๆ คนเล็กๆ เริ่มจากครอบครัว เพื่อนฝูง สู่ชุมชน ให้มีพลังในการสร้างรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการพึ่งตนและแบ่งปัน, สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม (Social Impact) และสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาสังคม โดยคาดหวังว่าจะเกิดโมเดลชุมชนแห่งการพึ่งตนเอง 100 แห่ง และชุมชนเหล่านี้จะช่วยขยายผล เกิดเป็นโมเดลรูปแบบใหม่ๆ ให้คนไทย 1 ล้านคนได้รับประโยชน์ โครงการนี้ถือเป็มเดิมพันของครอบครัวอยู่วิทยาหรือไม่? ตัวแทนเจเนอเรชั่นที่ 3 ตอบว่าครอบครัวรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ในฐานะคนไทยและมีความพร้อมระดับหนึ่ง สามารถแบ่งปันได้ และเชื่อว่าหากคนไทยทำตามแนวทางนี้ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแน่นอน และจะเกิดการแบ่งปันสู่คนอื่นๆ ในสังคมด้วย “เศรษฐกิจพอเพียงของคือวิถีชีวิต ทำให้มั่นคง มีความสุข สร้างสรรค์ขึ้นมา เราทำให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ผู้อำนวยการโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ กล่าวในตอนท้าย ล้อมกรอบ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่มาสร้างแนวทางการดำรงชีวิต ตามวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างความพอมีพอกิน และพึ่งพาตนเอง โดยหวังว่าจะสร้างคุณค่าใหม่ของสังคมแห่งการพึ่งตนและแบ่งปันได้ในท้ายที่สุด กลุ่มเป้าหมายมี 3 กลุ่มและแบ่งตามสัดส่วนประกอบด้วย 1.คนเมือง ที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพในเมือง อาจหันมาปลูกผักเล็กกินเอง (ร้อยละ 10) 2.คนกึ่งเมือง หมายถึงคนที่ต้องการกลับไปอยู่บ้านเกิด เป็นคนที่มีศักยภาพ เวลาและพื้นที่ สามารถพึ่งตนเองและแบ่งปันได้อย่างรวดเร็ว หากช่วยกลุ่มนี้ได้ จะแบ่งเบาภาระรัฐบาลได้มาก (ร้อยละ 70) 3.เกษตรกร เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการทำเกษตรอินทรีย์ (ร้อยละ 20) รูปแบบคือ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ 90 วัน แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ วันที่ 1 ทดลองทำกิจกรรมพึ่งตนเองอย่างง่ายๆ, วันที่ 2-6 โปรแกรมเติมหลักคิด หลักทำ ตามทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้การออกแบบพื้นที่นิเวศ ดิน น้ำ ป่า คน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยเป็นพื้นฐานของการพึ่งตน วันที่ 7-16 ฝึกปฏิบัติการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อดึงศักยภาพของตนเองและชุมชน ปลูกฝังการเรียนรู้การพึ่งตนและแบ่งปัน โดยเลือกฝึกกับครูเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ 4 ภาค ร่วมค้นหาต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่แตกต่างตามภูมิสังคม ส่วนที่เหลืออีก 75 วัน ให้แต่ละคนลงมือทำในพื้นที่ของตน โดยมีครูและเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ หากไม่มีที่ดินสามารถใช้พื้นที่ของครอบครัวอยู่วิทยาได้ โครงการเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรม 1,000 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แบ่งการรับสมัครเป็นรอบ รอบละ 300 คน รอบที่ 1 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2563 ประกาศผลวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ดูราย ละเอียดได้ที่ www.พึ่งตนเพื่อชาติ.com และ https://www.facebook.com/thaipuengton ภาพ : สินีพร มฤคพิทักษ์, ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine