คนไทยเตรียมรอช้อป Facebook เปิดทางให้ขายของบนฟีดได้ - Forbes Thailand

คนไทยเตรียมรอช้อป Facebook เปิดทางให้ขายของบนฟีดได้

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Jul 2014 | 09:35 AM
READ 2524


เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า E-commerce คือแนวรุกใหม่ของสื่อสังคมออนไลน์ขาใหญ่อย่าง Facebook 
 
 
โดยประกาศแล้วว่า กำลังอยู่ในช่วงทดสอบฟังก์ชั่นใหม่ ด้วยการเพิ่มปุ่มคำสั่ง "สั่งซื้อ" หรือ Buy ในหน้าแฟนเพจและหน้าโฆษณา เพื่อให้ผู้ใช้งานสะดวกในการซื้อสินค้าโดยตรงจาก News Feeds ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องละหน้าจอไปจาก Facebook เลย ในช่วงแรก ฟังก์ชั่นใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองนี้ จะแสดงผลเฉพาะหน้าโฆษณาในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ยังปรากฎให้เห็นในคู่แข่งอย่าง Twitter อีกด้วย เมื่อเปิดเกมด้านพาณิชย์ออนไลน์ภายใต้การนำของ Nathan Hubbard อดีตหัวหน้า Ticketmaster ที่ลาออกจากที่เก่า มารับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่ปีกลาย เวลานี้จะเห็นการทดลองปุ่มคำสั่ง "Buy now" ในบางทวีตแล้ว

ขณะเดียวกัน Twitter ยังจับมือ Amazon อำนวยความสะดวกให้สั่งซื้อสินค้า เมื่อเห็น tweet ลิงก์ของ Amazon ผู้สนใจสามารถ reply  แล้วติด hashtag #AmazonCart เพียงเท่านี้ item นั้นก็จะไปรอจ่ายเงิน อยู่ใน Shopping cart ของเราแล้ว
 
แนวโน้มดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทย การรุกเข้าสู่ตลาดค้าปลีกออนไลน์ของสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งเจาะจงผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟน ดูจะมีอนาคตอันสดใส
 
จากรายงานสำรวจของ BuzzCity ซึ่งจัดทำในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 3,590 คน จาก 26 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ครอบคลุมประเทศไทยด้วย พบว่าในไตรมาสล่าสุด ตลาดโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยวัดจากการโฆษณาผ่านแบนเนอร์ที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ 12.4 ล้านคน ในไตรมาสที่สองของปี 2014 เพิ่มขึ้นถึง 30% (ปีต่อปี) และเพิ่มจากไตรมาสแรกกว่า 42% (ปีต่อปี)
 
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทย 59% ซื้อของออนไลน์ และใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางการเพื่อซื้อสินค้าและบริการ  ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ซื้อชาวไทยยังใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางในการหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ โดย 24% ใช้โทรศัพท์มือถือขณะอยู่ในร้านค้า เพื่อขอคำแนะนำจากเพื่อนหรือครอบครัว และ 29% ใช้เพื่ออ่านรีวิวสินค้า
 
ประเภทของสินค้าที่นิยมสั่งซื้อออนไลน์ ได้แก่ สินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องประดับ 38% ตามมาด้วยสินค้าในครัวเรือน 25% สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 18% และสินค้าประเภทหนังสือ-เครื่องดนตรี 15%
 
ทั้งนี้ นางสาววราริน ภูนุชอภัย ผู้จัดการ BuzzCity ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขนี้ยืนยันว่าไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตด้านดิจิตอลอย่างรวดเร็วที่สุด จากการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น 60% เราจึงคาดหวังว่าผู้โฆษณาจะเพิ่มการเข้าถึงดิจิตอลให้มากขึ้นทั้งจากแบนเนอร์ แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์บนมือถือ ตลอดจนช่องทางอื่นๆ เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคให้ได้ดียิ่งขึ้น
 
รายงานของ BuzzCity ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Mobile Marketing Association (MMA) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ซื้อของออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วจะซื้อผ่านทางมือถือ โดยเกือบครึ่งของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ (48%) ซื้อของออนไลน์เป็นประจำ และเกือบ 1 ใน 5 มีการดูสินค้าทางออนไลน์ก่อนจะไปซื้อที่ร้านค้า และมากกว่า 70% ที่ซื้อของออนไลน์
 
ในหลายประเทศ โทรศัพท์มือถือถือเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลสูงสุดในการซื้อของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพราะประชากรส่วนใหญ่ถือว่าโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ กว่า 32% ซื้อของผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ 21% ซื้อของผ่านเครื่องพีซี ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าการซื้อของออนไลน์จะเติบโตอีกกว่า 30% ของผลการสำรวจ
 
Rohit Dadwal กรรมการผู้จัดการ MMA ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกล่าวว่า โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อของ และนี่ถือเป็นความท้าทายของนักการตลาดที่จะต้องสร้างประสบการณ์การซื้อของในทุกช่องทาง ให้สื่อสารข้อความและเอกลักษณ์ของแบรนด์ไปในทิศทางเดียวกัน
 
การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของการซื้อของออนไลน์แสดงให้เห็นว่าร้านค้าปลีกต้องปรับตัว จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคจำนวนมากเดินออกจากร้านค้าโดยไม่ได้ซื้อของ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป โดย 22% มองว่าการซื้อของออนไลน์ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 13%  ในขณะที่ 27% มองว่าไม่สามารถหาสินค้าที่ต้องการได้จากร้านค้าปลีก เทียบกับ 14% ในปี 2556 ในภาพรวมจึงอาจสรุปได้ว่าผู้บริโภคมีความผูกพันกับผู้ขายในร้านค้าน้อยลง และนี่ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญสำหรับผู้ค้าปลีก
 
Dr. KF Lai ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง BuzzCity กล่าวว่า แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภค แต่ไม่ได้หมายความว่าโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางเดียวสำหรับผู้ค้าปลีก แต่การที่ผู้บริโภคเปลี่ยนช่องทางในการซื้อสินค้านั้น ก็ทำให้การเข้าถึงผู้บริโภคทำได้ยากขึ้น เพราะจากผลการสำรวจเน้นว่าโทรศัพท์มือถือมีโอกาสที่จะทำลายคุณค่าของแบรนด์ นักการตลาดจึงมีความจำเป็นที่จะสร้างการสื่อสารของตราสินค้าให้ไปในทางเดียวกัน
 
นับตั้งแต่เกิดสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ท ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก โดยได้ใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างกัน จากโทรศัพท์มือถือที่เคยไว้โทรพูดคุยกันเป็นหลัก มาวันนี้กลับเป็นแค่ฟังก์ชั่นหนึ่งเท่านั้น หลายคนสนุกที่จะ text ข้อความส่งถึงกัน ราวกับส่งโทรเลขในยุคเก่า เพียงแค่ย้ายมาไว้ในสมาร์ตโฟนเท่านั้น
 
เวลานี้คงมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ซึ่งดูท่าทีแล้วก็ไม่ยากเลยที่จะประสบความสำเร็จ และจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้ตัวมากกว่าเดิน มันไม่ได้ตั้งอยู่บนโต๊ะอีกแล้ว แต่มันอยู่ในมือเราเอง ถูกใจอยากจะได้สิ่งใด ไม่ต้องรอเปิดเครื่องพีซี แค่ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจิ้ม ก็สำเร็จเสร็จสิ้น ง่ายดาย... คล้ายพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว



ข้อมูล
Facebook Joins Twitter In Testing Out A 'Buy' Button For E-Commerce โดย Jeff Bercovici
 

TAGGED ON