หลังจากที่ได้แต่งตั้งทีมใหม่ ท่านนายกฯ ได้ประกาศ “ให้เวลาสามเดือน” ในการตรวจผลงาน คำบัญชานี้อาจเป็นความตั้งใจสื่อสารความเร่งด่วน เพื่อสะท้อนกระแสความต้องการของสังคม แต่อาจจะเป็นปัญหาให้กับทีมเศรษฐกิจในอนาคต เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นระบบที่สั่งให้หันซ้ายหรือหันขวาไม่ได้ (ขนาดจีนที่คิดว่าแน่ยังพิสูจน์แล้วเลยครับว่าทำไม่ได้) เพราะจริงๆ แล้วผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจคือตัวท่านเองในฐานะนายกรัฐมนตรี จริงอยู่ท่านสมคิดอาจดูแล 7 กระทรวง แต่การกำหนดทิศทางโดยรวมยังเป็นหน้าที่ของท่านนายกฯ ที่สำคัญท่านนายกฯ ไม่ได้ระบุให้ประชาชนหรือทีมงานว่า ตัวชี้วัดในสามเดือนที่ท่านต้องการจะเห็นนั้นคืออะไร ในเมื่อไม่มีการกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจน ต่างคนอาจจะต่างคิด เช่นชาวนาก็อาจจะมองว่าในสามเดือนราคาข้าวต้องเกวียนละหมื่นสอง นักเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะมองว่า GDP ของประเทศต้องเพิ่มขึ้น 3.5% พ่อค้าอาจจะมองว่าส่งออกต้องกลับมาเป็นบวก ฯลฯ และเมื่อต่างคนต่างมโนตั้งเป้าของตนเอง แนวโน้มโอกาสที่จะผิดหวังก็จะสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าสามเดือนเป็นระยะเวลาเพียงพอต่อการออกและเดินหน้านโยบาย เพราะทีมงานของดร. สมคิด ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจมาโดยตลอด ดังนั้นผมมั่นใจว่ามีความพร้อมทางด้านความคิดและการวางแผน และท่านเองก็เคยบริหารบ้านเมืองมาในฐานะฝ่ายบริหาร ผนวกกับอำนาจเผด็จการที่มีอยู่ในมือ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแปลงความคิดให้มีผลเป็นรูปธรรม
ทีมงานของดร. สมคิด ดูเหมือนมียุทธศาสตร์หลักๆ อยู่สองวิธี ซึ่งทั้งสองวิธีหวังผลในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการซื้อขายในประเทศเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่การส่งออกและการลงทุนกำลังถดถอย วิธีแรกคือการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศในแนวเดียวกันกับโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ใช้ในการแก้วิกฤต “แฮมเบอร์เกอร์” ในปี 2552 ส่วนวิธีที่สองคือการอัดฉีดเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้ชาวบ้านผ่านกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ดร. สมคิดเองเคยทำไว้สมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทย
ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งสองมาตรการนี้น่าจะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าวงเงินหนึ่งแสนกว่าล้านบาทที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น มีค่าประมาณเพียง 5% ของงบประมาณประจำปีเท่านั้น และไม่ถึง 1% ของ GDP ประเทศ ดังนั้นเราจะหวังผลให้มาตรการลักษณะนี้ของรัฐบาลส่งผลโดยตรงในการพลิกสถานการณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือไม่ได้ เงื่อนไขความสำเร็จสำคัญคือผลข้างเคียงจากประชาชนและภาคเอกชน ผมจำได้ว่าในสมัยปี 2545-46 ที่มีการเปิดตัวกองทุนหมู่บ้าน หรือสมัยที่มีการเปิดตัว “เช็คช่วยชาติ” หรือ “ไทยเข้มแข็ง” ในปี 2552 ล้วนมีการ “โหมโรง” ปลุกกระแสสร้างความตื่นตัวในส่วนของภาคธุรกิจและประชาชนโดยตรง
ที่สำคัญสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในวันนี้ก็ต่างกับในอดีตอย่างมาก ในปีที่มีการนำเสนอนโยบายกองทุนหมู่บ้านครั้งแรกปี 2544 หนี้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่เพียงประมาณ 40% ของ GDP ของประเทศ แต่ในขณะที่ วันนี้อยู่ที่กว่า 80% ดังนั้นนโยบายการเพิ่มหนี้ให้ประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้นและจะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจน้อยลง
ในแง่การบริการจัดการ “ทีมเศรษฐกิจ” ในแทบทุกยุคในอดีตจะประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นการใช้กำลังทั้งองคาพยพโดยมีนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคเป็นผู้นำ ปัญหาเศรษฐกิจเราวันนี้สาหัสพอควรครับ ต้องอาศัยการผลักดันและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงๆ ในขณะนี้ตัวผลักดันจากต่างประเทศแทบไม่มี กำลังซื้อภายในประเทศก็แย่ ภาระหนี้สินประชาชนก็สูงเป็นประวัติการณ์ พูดง่ายๆ คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในยุคนี้ยากกว่าในหลายๆ ยุคสมัยที่ผ่านมา เราจึงไม่ควรโยนภาระให้แค่ “ทีมเศรษฐกิจ” แต่ต้องช่วยกันทุกฝ่ายในการฝ่าด่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ได้พูดไว้ถูกต้องว่า ถ้าเราปล่อยให้เศรษฐกิจถลำลึกลงไปกว่านี้ ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูในภายหน้า จะมากกว่าทรัพยากรที่เราอาจต้องใช้ในวันนี้ในการพยุงสถานการณ์ไว้ เวลามีน้อยครับ เรามาช่วยกันดีกว่า

กรณ์ จาติกวณิช
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และประธานคณะทำงานด้านนโยบายพรรคประชาธิปัตย์
พบ Forbes Thailand "แรงบันดาลของผู้ไฝ่ความสำเร็จ" ในได้ในรูปแบบ Magazine และ E-Magazine พร้อมกับทุกพฤหัสดี