ขาย IPO ไตรมาส 3 ใส่ทุนได้ ไม่ต้องไปเวียดนาม - Forbes Thailand

ขาย IPO ไตรมาส 3 ใส่ทุนได้ ไม่ต้องไปเวียดนาม

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Jul 2015 | 02:09 PM
READ 4397
เรื่อง: กชกร บุญลาย ภาพ: AMATAVN (คลิ๊กอ่าน "Forbes Thailand: The Essential Guide for Enrichment" ฉบับพิเศษประจำ JUNE 2015)
 
AMATAVN บริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน “อมตะเวียดนาม” ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในเวียดนาม เตรียมกระจายหุ้นสู่มือนักลงทุนทั่วไป ในไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมเริ่มพัฒนาพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ Long Thann ต้นปี 2559
 
เม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการจากไทยในเวียดนาม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมามูลค่ารวม ณ 20 มีนาคม 2015 อยู่ที่ 6,794 ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวน 385 โครงการเชื่อกันว่าตัวเลขลงทุนจากไทยไปเวียดนามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต เพราะเศรษฐกิจของเวียดนามยังเติบโต รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้กับต่างชาติมี “เสน่ห์” ดึงดูดได้เป็นอย่างดีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

กลุ่มอมตะ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ผ่าน บริษัท อมตะ เวียดนาม จำกัด กิจการร่วมทุนระหว่างกลุ่มอมตะและรัฐวิสาหกิจเวียดนาม มาวันนี้การลงทุนรอบใหม่ของกลุ่มอมตะจะเริ่มต้นอีกครั้งในต้นปีหน้า ด้วยมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญ ซึ่งครั้งนี้มีแม่ทัพชื่อ บมจ. อมตะ วีเอ็น (AMATAVN) ปัจจุบัน AMATAVN ถือหุ้น 69.99% ในอมตะเวียดนาม ที่เหลือ 30% ถือโดย Sonadezi Corp. รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการประชาชนของจังหวัด Dong Nai ซึ่งทำธุรกิจหลักคือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาที่ดินเพื่ออยู่อาศัยใน Dong Nai

“ที่เวียดนามเราไปอยู่ตอนนี้ก็ 20 ปีได้ เราทำผลงานได้ดีมาตลอด เป็นบริษัทที่สม่ำเสมอในเรื่องจ่ายภาษี ไม่เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อม มีนักลงทุนต่างชาติใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ทุกปี และมีการจ้างงานที่เราไม่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ ก็พูดกันปากต่อปาก” สมหะทัย พาณิชชีวะ CEO วัย 49 ปีของ AMATAVN บอกถึงเหตุผลทำไมกลุ่มอมตะจึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเวียดนาม

“ทุกโครงการเราไม่ได้สวยหรู มันต้องดูและอ่านโจทย์ให้ขาด เวียดนามเรามองจากสนามบินก่อนเป็นสำคัญ เพราะคนเดินทางเข้าอย่างเก่งไม่นาน 5 ปี 10 ปีก็ต้องไป ไปอยู่ที่ไหนเราต้องเช็ค อันที่สอง ท่าเรือน้ำลึก เพราะอะไรที่ต้องมองแบบนี้ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตแล้วต้องส่งออก ของหนักต้องไปเรือ ลูกค้าหลักของเขา สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ล้วนแล้วแต่ต้องเป็นทางทะเล เมื่อมองแบบนี้ก็ต้องมาดูพื้นที่ที่เราจะไปจับจอง เหมือนต้องซื้ออนาคต การจะมองแบบนี้ได้ ต้องสนิทกับข้าราชการ ฟังแล้วคุยตามข่าวสิ่งที่จะเกิด” หญิงแกร่งแห่งอมตะ กล่าวกับ Forbes Thailand เธอเป็นบุตรคนที่ 9 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คนในตระกูลกรมดิษฐ์ เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวของตระกูลที่เข้าสู่สนามธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เดินตามรอย วิกรม กรมดิษฐ์ พี่ชาย ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน

“ตอนนี้เรามีนิคมฯ Bien Hoa ประสบความสำเร็จแค่ไหน ก็ไปได้เรื่อยๆ เติบโตทุกปี ปีหนึ่งปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ 20-25% การค้าขายอาจไม่ได้มาก การเช่าที่ปีหนึ่งไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับไทยปีหนึ่งเป็นพันไร่ เพราะข้อจำกัดที่ดินมีไม่มากและราคาที่ขยับขึ้น เราจึงไม่รีบขายของ ที่สำคัญต้องมาบรรจบกับนิคมใหม่ของเราด้วย ไม่ใช่ขายหมดแล้วนิคมใหม่ยังไม่เกิด”

นอกจากรายได้เช่าที่ดิน ยังมีรายได้จากโรงงานให้เช่า ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของ อมตะ เวียดนาม โดยแต่ละปีการเช่าโรงงานเพิ่มขึ้น 1.5-2 หมื่นตารางเมตรรวมถึงมีรายได้จากค่าบริหารส่วนกลางนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ Bien Hoa มีจำนวนพื้นที่ 4.38 พันไร่ สัญญาเช่า 50 ปี อยู่ใกล้สี่แยกทางหลวงสาย 1 และสาย 15 ในเมือง Bien Hoa จังหวัด Dong Nai

ทางหลวงหมาย 1 เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างใต้สุดจนถึงเหนือสุดของประเทศ ผ่านเมืองสำคัญ เช่น นคร Ho Chi Minh เมือง Bien Hoa และกรุง Hanoi สาย 15 เชื่อมสู่ท่าเรือ Cai Mep และท่าเรือ Vung Tau ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญของเวียดนาม ราว 80% ของจำนวนที่ดินในนิคมฯ ถูกครอบครองแล้วโดยบริษัทชั้นนำ เช่น Honda Plus Vietnam, Toshiba Industrial Products Asia, Nestle Vietnam และ Amway Vietnam
 
ลุยสร้าง “อมตะซิตี้ Long Thanh”

อมตะ เวียดนาม ยังได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนาม ให้เช่าที่ดินระยะยาวในเมือง Long Thanh จังหวัด Dong Nai บนเนื้อที่กว่า 8 พันไร่เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท คาดว่าจะแล้วเสร็จราวไตรมาส 3 ปีนี้ และเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2559 “Long Thanh เป็นพื้นที่ที่จะสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเวียดนาม Long Thanh เหมือนกับ (นคร) Ho Chi Minh ใครไปเวียดนามต้องรู้จัก ตอนนี้เศรษฐียังไม่เยอะเพราะสนามบินยังไม่ได้สร้าง เพราะฉะนั้นเราต้องทำเฟสที่เป็นการทำงานก่อน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนเราจะเริ่มปีหน้า ทำเรื่องอุตสาหกรรมก่อน เป็นไฮเทคทั้งหมด อย่างน้อยต้องทำ 2 ปี สนามบินก็เริ่มพอดี”

นิคมฯ Long Thanh แบ่งพื้นที่เป็น 2 โครงการโครงการแรก 2.7 พันไร่ สร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เหลือเป็นเมืองอยู่อาศัย นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มอมตะแบ่งพื้นที่ทำนิคมฯ เพียง 40% เป็นเมืองถึง 60% จากปกติแบ่งสัดส่วนทำเป็นนิคมฯ 70% และเมืองอีก 30% เนื่องจากทำเลดี โดยจะใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านเหรียญ ผ่านการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยและกู้จากสถาบันการเงิน

“โครงการนี้...location ดีมาก อยู่ห่างสนามบินใหม่ไม่ถึง 10 กิโลฯ ห่างจาก (นคร) Ho Chi Minh ไม่ถึง 20 กิโลฯ ถ้าเราทำให้เช่าเป็นนิคมฯ รายได้ต่อตารางเมตรมันไม่มากเท่ากับทำเป็น residential เลยกลายเป็นนิคมฯแค่ 40% เพราะเราไม่อยากเอาของดีๆ ไปทำให้เสียมูลค่า”

สมหะทัย มั่นใจด้วยว่า นิคมฯ Long Thanh จะได้รับการตอบรับดี เพราะเป็นพื้นที่ที่แรงงานมีความชำนาญ เหมาะกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ค่าแรงไม่สูง ระบบสาธารณูปโภคดี อยู่ไม่ไกลจากสนามบินและท่าเรือ ที่สำคัญรัฐบาลเวียดนามให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกับต่างชาติที่จะไปลงทุน เห็นได้จากยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงก็ไปเวียดนาม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามจึงมีโอกาสในการเติบโต ส่วนโครงการที่อยู่อาศัยเชื่อว่าจะไปได้ดีมากทั้งราคาและปริมาณเช่าเนื่องจากทำเลดี

“รัฐบาลเวียดนามเขาอ่านขาด ประเทศคือบริษัทไม่อย่างนั้นในวันนี้เขาคงไม่สามารถแข่งขันได้ เขาพร้อมให้สิทธิประโยชน์ที่คิดว่าเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน มุมมองเราเรื่องสิทธิประโยชน์ปัจจุบันเวียดนามเป็นอันดับ 1”
บทวิเคราะห์จากธนาคารเอชเอสบีซี เวียดนามระบุว่า ไตรมาส 1/58 การส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 64.4% โดยมองว่าการที่ ซัมซุง โนเกีย อินเทล เข้าไปลงทุนในเวียดนาม จะเป็นฐานการผลิตให้กับเอกชนจากประเทศในอาเซียนได้ การผ่อนปรนนโยบายการค้าการลงทุน ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งต่ำ ทักษะแรงงานสูง รวมทั้งค่าแรงต่ำ จะส่งผลให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้จะโต 6.1%

หันหัวเรือเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นไทย

แผนเดิมของ AMATAVN เมื่อกว่าสิบปีก่อน คือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งขณะนั้น P/E สูงถึง 70 เท่า แต่เนื่องจากเกณฑ์หลายอย่างของตลาดต้องใช้เวลาในการเตรียมการนาน พร้อมกับการปรับตัวลงของ P/E ของตลาดที่ลงมาอยู่ที่ 10 กว่าเท่าจึงต้องพับแผนไป และหันมาหาตลาดหุ้นไทยที่เริ่มมีเกณฑ์โฮลดิ้ง คอมปะนี

“ตอนนี้ต้องเริ่มใช้เงินแล้ว เพราะโครงการมาแล้วก่อนหน้านี้เรา delay มีการเปลี่ยนกฎต่างๆ เราต้องทำงานเพิ่ม พอ delay ก็ไม่กล้า launch IPO ถ้าlaunch ออกไปได้เงินมาแต่โครงการยังไม่มา จะเอาเงินมาเก็บไว้ทำไม แต่ตอนนี้รอ master plan เพียงอย่างเดียว ถ้าเสร็จก็เริ่มได้” สมหะทัย บอกหนักแน่น

ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดเช่าที่ดิน 120-130 ไร่จากเดิมปีละ 50 ไร่ เพื่อรักษาอัตราทำกำไรไม่ให้ต่ำกว่า 20-25% หลังจากซ่อมบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการตัดค่าเสื่อม 20 ปี และค่าใช้จ่ายขยายโครงการใหม่ ซึ่งไตรมาสแรกปีนี้มียอดเช่าที่ดินกว่า 40 ไร่ เท่ากับทั้งปีของปีที่แล้ว หลักๆ มาจากcluster ที่อยากอยู่ใกล้ซัมซุง เพราะอมตะซิตี้ BianHoa อยู่ห่างจากซัมซุงไม่เกิน 15 กิโลเมตร

สมหะทัย กล่าวทิ้งท้ายถึงจุดเด่นของ AMATAVN ไว้ด้วยว่า “ธุรกิจไม่มีประเทศไหน growth ได้ทุกปี ต้องมีเจอความท้าทายในแต่ละช่วง อยากให้มองว่าหุ้นเราเป็นหุ้นที่ไม่ได้หวือหวา แต่เป็นหุ้นที่มีความมั่นคงในการเติบโต เราสร้างเมือง สร้างความเจริญ สร้างงานเรากำลังจะเอาของจากเวียดนามมาให้ลงทุน โดยที่คุณไม่ต้องไปเวียดนาม”

คลิ๊กอ่าน "Forbes Thailand: The Essential Guide for Enrichment" ฉบับพิเศษประจำ JUNE 2015