กำลังซื้อเกษตรกรแผ่ว SME ไทยใจแป้ว - Forbes Thailand

กำลังซื้อเกษตรกรแผ่ว SME ไทยใจแป้ว

แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB SME Sentiment Index) ในไตรมาส 3/2557 (กันยายน 2557) โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี แสดงตัวเลขดีขึ้นสูงสุดในรอบปีนี้ที่ 38.0  ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.4 จุด จากไตรมาสก่อน
 
 
แต่ด้วยดัชนีความเชื่อมั่นที่ยังต่ำกว่า 50 ย่อมชี้ถึงกำลังใจที่เปราะบางของผู้ประกอบการไทย ด้วยเหตุจากความกังวลต่อรายได้ของธุรกิจ ที่มีราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นตัวฉุดกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นตลาดหลักในหลายภูมิภาค 
 
"มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่รัฐออกมา ยังไม่พอพยุงรายได้เกษตรกรให้เกิดการจับจ่ายที่มากพอ" เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวถึงทิศทางในอนาคตอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เมื่อภาระต้นทุนการเกษตรที่สั่งสมมานานกว่า 2 ปี เริ่มคลี่คลายลงและเริ่มมีกำลังซื้อกลับเข้ามา
 
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2557 SME ภาคตะวันออกในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ก็ยังมีกำลังใจดีกว่า จึงมีตัวเลขความเชื่อมั่นสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขใช้จ่ายของผู้บริโภคในภูมิภาคดังกล่าวที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีความเชื่อมั่นถดถอยกว่า เพราะพึ่งพารายได้จากเกษตรกรค่อนข้างมาก ถึงร้อยละ 23, 31 และ 26 ตามลำดับ ตลอดจนทั้ง 3 ภาคต่างมีอัตราแรงงานในภาคเกษตรสูงกว่าร้อยละ 40 ไม่เพียงเท่านั้นในภาคใต้ที่ความมั่นใจอ่อนแอที่สุดยังมีอัตราการว่างงานสูงสุดถึงร้อยละ 1.3 
 
เบญจรงค์ฝากถึงภาครัฐเพิ่มเติมว่า "เมื่อรายได้เกษตรกรส่งผลต่อ SME โดยตรง ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจึงส่งแรงบวกต่อ SME ในแต่ละภูมิภาคด้วย" 
 
แต่กำลังจะเต็มที่แค่ไหน ก็ยังต้องรอดูกันต่อไป

 
ทั้งนี้ล่าสุดมีมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือชาวนาในปีการผลิต 2557/58 จำนวน 3 โครงการ  คือ
 
1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 โดยการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินสำหรับโครงการนี้จำนวน 89,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลรับภาระชำระดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งแทนเกษตรกรในกรอบวงเงิน 2,292 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ถึง 3.57 ล้านราย
 
2. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปี (ประกันยุ้งฉาง) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ มีเป้าหมายดําเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท
 
3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจําหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนําไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท ด้วยหวังให้องค์กรของเกษตรกรมีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาผลผลิตข้าว รวมทั้งมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR -1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรจ่าย 1% และรัฐบาลชดเชย 3% โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี