การเปิดเผยข้อมูล : เมื่อมากอาจกลายเป็นน้อย - Forbes Thailand

การเปิดเผยข้อมูล : เมื่อมากอาจกลายเป็นน้อย

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jun 2014 | 03:10 PM
READ 7080
    การเปิดเผยข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกมิติอาจเพราะเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศคนจึงสนใจเรื่องข้อมูลกันมากขึ้นอีกส่วนอาจมาจากปัญหาทุจริตของกิจการชั้นนำระดับสากลตลอดจนวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งล้วนมุ่งเป้าไปที่กลไกกำกับดูแลกิจการควบคุมและตรวจสอบโดยเฉพาะประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกลไกทั้งหลาย

    เมื่อข้อมูลเปิดเผยเพิ่มมากขึ้นหลายฝ่ายเชื่อว่ามีแต่จะได้ประโยชน์มากขึ้นแต่มักไม่คิดหรือคิดไม่ถึงว่าประโยชน์ที่ได้รับจริงอาจลดลงรวมทั้งอาจทำให้เกิดโทษมากขึ้นนอกจากเพิ่มภาระในการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วยังสร้างปัญหาและความยุ่งยากในการจำแนกข้อมูลว่าอะไรเกี่ยวข้องอะไรสำคัญซึ่งอาจนำไปสู่การหลงประเด็นเข้าใจผิดหรือสับสนเสียทั้งเวลาและความรู้สึก

                มาตรฐานทางวิชาชีพกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปิดเผยข้อมูลรวมถึงกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลเช่น IFRS, CG, CSR เป็นต้นหากการเปิดเผยข้อมูลทำไปเพียงเพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขภาคบังคับเท่านั้นก็คงไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

                ถ้าการเปิดเผยข้อมูลมีวัตถุประสงค์เพื่อความโปร่งใสเกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานข้อมูลต้องช่วยให้เข้าใจกระบวนการและผลการดำเนินการได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมหัวใจสำคัญคือคุณประโยชน์ซึ่งทั้งผู้เปิดเผยและผู้ใช้พึงจะได้รับตามสมควรในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดโทษความเสียเปรียบหรือเสียหายขึ้นรวมทั้งยังดูแลรักษาความลับและที่ไม่พึงเปิดเผยไว้ได้อย่างปลอดภัยจึงจะถือว่าเป็นผลสำเร็จที่แท้จริง

                สมมุติฐานคือความเชื่อมั่นในกลไกตลาดและวินัยตลาดซึ่งมีเงื่อนไขหลายประการกล่าวคือความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์คุณภาพและคุณประโยชน์ของข้อมูลที่เปิดเผยและความสนใจและตั้งใจจริงของตลาดรวมถึงองค์กรกำกับดูแลในทุกระดับทุกภาคส่วนในการผลักดันให้มีการพัฒนามาตรฐานและแนวการปฏิบัติที่ดีด้านการเปิดเผยข้อมูลให้เกิดคุณประโยชน์ได้จริง

                นอกจากนั้นการผลิตเผยแพร่ส่งต่อหรือกระจายตลอดจนถึงการรับข้อมูลข่าวสารก็ทำได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้นจากทุกสถานที่ทุกเวลาโดยผ่านทางช่องทางและรูปแบบสื่อหลากหลายบางครั้งก็ซ้ำซ้อนแตกต่างกันบ้างตามข้อจำกัดทำให้ประสิทธิภาพลดลงและยังสร้างปัญหาด้านประสิทธิผลอีกด้วย

                การมีข้อมูลมากเกินไปเป็นกรณีที่พบได้ทั่วไปส่วนการขาดแคลนข้อมูลที่ต้องการและจำเป็นนั้นเป็นกรณีที่วินิจฉัยได้ยากจึงมักถูกปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นความเคยชินยอมรับความบกพร่องบางกรณีมีข้อมูลที่ไม่ต้องการหากเป็นข้อมูลด้อยคุณภาพด้วยแล้วก็เรียกว่าข้อมูลขยะซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

                คำถามสำหรับองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเผยแพร่และบริโภคข้อมูลคือว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะส่งเสริมแนวการปฏิบัติที่ดีด้านการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่วัตถุประสงค์หลักการมาตรฐานนโยบายขั้นตอนรวมทั้งการปฏิบัติจริงและการประเมินผลลัพธ์เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน

                แนวทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมดูแลตั้งแต่ต้นทางของสายการผลิตหรือแหล่งข้อมูลตามมาด้วยสายการเผยแพร่หรือช่องทางกระจายข้อมูลจนถึงปลายทางของสายการบริโภคหรือการเข้าถึงข้อมูลนัยหนึ่งอาจเป็นข้อดีที่มีข้อมูลหลากหลายขึ้นอีกนัยหนึ่งอาจเป็นข้อเสียที่ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าจะใช้ได้เป็นภาระในการจัดเก็บรักษาและนำกลับมาใช้งานอีกยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลในชีวิตประจำวันยังมีมากมายหลายเรื่องคุณภาพก็อาจเป็นปัญหาบ่อยครั้งยังไม่มีโอกาสประมวลข้อมูลเดิมเลยข้อมูลใหม่ก็เข้ามาแทนที่และความสนใจก็เปลี่ยนไปแล้ว

                กระบวนการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์ควรคำนึงถึงหลักการที่ดีในการสร้างชุดข้อมูลรายงานและนำเสนอจัดวางโครงสร้างและระบุชี้ข้อมูลสำคัญซึ่งอาจเกิดปัญหาอุปาทานหรือความโอนเอียงทางความคิดได้
                กระบวนการแสวงหาข้อมูลหรือดึงดูดจากด้านการบริโภคเพื่อนำมาใช้งานก็ต้องมีหลักการที่ดีในการค้นหาแหล่งข้อมูลคัดกรองจัดลำดับความต้องการและกำหนดจุดสนใจเฉพาะกระบวนการบริโภคข้อมูลเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตรงตามความประสงค์นั้นนับว่ามีความสำคัญและอ่อนไหวมากเนื่องจากขึ้นอยู่กับแต่ละคนไม่ว่าเรื่องพื้นฐานความรู้และทัศนคติการกำหนดสมมุติฐานตีความหมายทำความเข้าใจและตัดสินใจซึ่งอาจเกิดปัญหาอุปาทานได้เช่นกัน

                คุณภาพของการเปิดเผยข้อมูลขึ้นอยู่กับคุณภาพข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบกระบวนการเปิดเผยข้อมูลและข้อมูลที่เปิดเผยทั้งนี้คุณภาพของข้อมูลมีองค์ประกอบหลักได้แก่รูปแบบโครงสร้างรูปลักษณ์รายละเอียดและสาระใจความส่วนคุณภาพกระบวนการเปิดเผยข้อมูลมีรากฐานได้แก่ความคิดความตั้งใจและความรู้ความสามารถซึ่งต่างเป็นปัจจัยที่สำคัญโดยลำพังและโดยรวมยังมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นตลอดทั้งกระบวนการด้วย

    นอกจากองค์ประกอบหลักแล้วคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับข้อมูลที่มีคุณภาพได้แก่ถูกต้องเป็นจริงครบถ้วนสมบูรณ์ชัดเจนกระชับรัดกุมทันกาลตรงประเด็นจำเป็นมีนัยสำคัญเพียงพอเหมาะสมและเป็นประโยชน์โดยหลีกเลี่ยงความคลุมเครือลดโอกาสที่จะสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด

    Big Data เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้บรรยายถึงทั้งลักษณะและปัญหาซึ่งมาพร้อมกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งสอดคล้องกับมิติทั้งสี่ในการเปิดเผยข้อมูลได้แก่ Volume,Variety, Velocity และ Veracity

    ข้อมูลอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามคุณภาพของความจริงแท้ได้แก่ข้อมูลความจริงซึ่งแสดงหลักฐานเหตุผลพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จและข้อมูลความเห็นซึ่งบางส่วนอาจชี้ชัดได้ว่าถูกหรือผิดแต่ส่วนอื่นจะเป็นความเชื่อจินตนาการหรือความรู้สึกซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด

   ความถูกต้องของข้อมูลจึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเป็นปัญหายุ่งยากที่สุดด้วยความถูกต้องของข้อมูลบางกรณีขึ้นอยู่กับเวลาความสมเหตุผลอาจไม่ใช่ความถูกต้องตัวอย่างเช่นการอภิปรายในสภามีประเด็นที่น่าสนใจและมักดูมีมูลฐานฟังดูสมเหตุผลก็หาข้อสรุปไม่ได้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จได้แต่ฟังข้อโต้แย้งไปมาการบริหารประเทศซึ่งต้องบริโภคข้อมูลอย่างรอบคอบจึงประสบแต่อุปสรรคจากประเพณีปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล

   แนวการปฏิบัติที่ดีด้านการเปิดเผยข้อมูลมีหลักการสามัญเพียงว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายที่มีผลต่อการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติและหมั่นทบทวนแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่เสมอโดยคำนึงถึงความเพียงพอความเหมาะสมคุณภาพและคุณประโยชน์เป็นสำคัญการเปิดเผยข้อมูลก็จะไม่เป็นปริศนาอีกต่อไป



ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

TAGGED ON