การเปลี่ยนถ่าย Family Business สู่ความสำเร็จในตลาดทุน - Forbes Thailand

การเปลี่ยนถ่าย Family Business สู่ความสำเร็จในตลาดทุน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Aug 2016 | 11:38 AM
READ 4689
สังคมธุรกิจประเทศไทยในปัจจุบันเราจะเห็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่เติบโตโดดเด่น หลายธุรกิจของไทยไปไกลจนถึงระดับโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังขยายตัว ธุรกิจที่น่าจับตามองส่วนใหญ่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัวที่จะขยายตัวจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น โจทย์สำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวไปต่อได้ การเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจรุ่นพ่อสู่ลูก จึงเป็นความท้าทายให้ทายาทนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัวยังเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน ในวันที่ธุรกิจครอบครัวถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะไปไหนต่อ แล้วไปต่ออย่างไรให้ได้ดีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการส่งต่อธุรกิจให้ทายาท นับเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าจะเดินหน้าอย่างไร กับธุรกิจที่ครอบครัวบริหารจัดการมา ถ้าคิดง่ายๆ ทางเลือกแรกที่นิยมทำกันคือ การขายธุรกิจแล้วนำเงินแบ่งมรดกแบ่งสมบัติระหว่างผู้ถือหุ้น/สมาชิกในครอบครัวและต่างคนต่างไป แต่ในหลายครอบครัวคำตอบไม่ง่ายแบบนั้น เพราะลูกๆ หรือทายาทธุรกิจต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป ทำให้ในลำดับถัดมาที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องจัดวาง คือการจัดสรรแบ่งปันอำนาจการบริหารเพื่อให้การจัดการธุรกิจมีความเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยในอดีตคนรุ่นพ่ออาจจะใช้ผู้หลักผู้ใหญ่คนใกล้ชิด หรือทนาย มาช่วยคอยเป็นที่ปรึกษาให้ลูกๆ ต่อมาก็จะเห็นว่าเริ่มมีพัฒนาการในการจ้างคนนอกเข้ามาช่วยบริหารงานเมื่อจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารคนในครอบครัวก็ไม่ได้หายไปไหน แต่อาจจะขยับขึ้นไปเป็นกรรมการบริษัท หรือกรรมการบริหาร ยังคงกำกับดูแลนโยบายต่างๆ ของบริษัท ดังนั้นเมื่อครอบครัวเปิดใจรับคนนอกเข้ามาร่วมงาน การนำพาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่นอกจากจะได้นักบริหารมืออาชีพมาร่วมงานแล้ว ภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เคยบริหารงานกันแบบ Family Business ก็จะหมดไป มีภาพของความเป็นมืออาชีพเข้ามา เพราะการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจะต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่อง การจัดการบัญชีการเงิน การบริหารข้อมูล การบริหารงานบุคคล การควบคุมภายใน ซึ่งต้องทำให้เป็นมาตรฐาน ตามกฎระเบียบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การตัดสินใจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์การเลือกเฟ้นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเป็นหัวใจสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจเลือกพี่เลี้ยง (mentor) คนสำคัญที่จะมาช่วยปรับกลยุทธ์การบริหารงาน เป็นเพื่อนคู่คิดในการปรับโครงสร้างการเงิน การวางระบบงาน การบัญชี การบริหารจัดการงานบุคคล เรียกว่างานหน้าบ้านหลังบ้านที่ปรึกษาทางการเงินจะสามารถผ่าแผนธุรกิจให้ออกจากทางตัน เพื่อนำพาบริษัทเข้าไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นอย่างดีเพราะการทำงานของที่ปรึกษาทางการเงิน ต้องทำงานร่วมกับว่าที่บริษัทจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 12-15 เดือน เพื่อให้มีความเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การคิดวางแผน ปรับโครงสร้างบริษัทในด้านต่างๆ ให้มีความพร้อม และวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม ดังนั้น หากวันนี้ ตัดสินใจและได้พูดคุยกับครอบครัวจนชัดเจนแล้ว ความได้เปรียบเสียเปรียบของภาษีไม่ได้เป็นประเด็นอีกต่อไป (ปัจจุบันบริษัทต้องเสียภาษีนิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20 เท่ากันไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์) และเห็นพ้องต้องกันว่าการนำธุรกิจของครอบครัวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการต่อยอดสร้างความเติบโตก้าวหน้าและมีชื่อเสียงให้กับบริษัทต่อไป แม้ในวันที่ครอบครัวอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของแล้วก็ตาม ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
คลิกอ่าน "การเปลี่ยนถ่าย Family Business สู่ความสำเร็จในตลาดทุน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine