การลงทุน เกมที่ไม่มีวันจบ - Forbes Thailand

การลงทุน เกมที่ไม่มีวันจบ

ช่วงที่ผ่านมาผมได้หยิบหนังสือที่ชื่อ  Game Theory หรือ ทฤษฎีเกม ฉบับที่เขียนโดย Ken Binmore และแปลโดยคุณพรเทพ เบญญาอภิกุล ขึ้นมาปัดฝุ่นอ่านอีกรอบ ส่วนตัวผมจัดหนังสือเล่มนี้ในกลุ่มที่พอทิ้งช่วงไปสักพักจะต้องหยิบขึ้นมาอ่านอีกรอบ อาจเพราะมีเวลาตกผลึกกับเรื่องที่อ่านไปก็เป็นได้ จึงทำให้เราสัมผัสได้ว่าคอนเซปท์ เรื่องราวที่ผู้เขียนสื่อมาในหนังสือมันลึกขึ้น ทฤษฎีเกมนี่ไม่ใช่เรื่องวีดีโอเกมนะครับ ถ้าให้ตีความง่ายๆ เกม คือ สถานการณ์อะไรก็ได้ที่มีผู้เล่นรวมมากกว่า 1 คนและแข่งขันกัน โดยการตัดสินใจของฝ่ายหนึ่งมักมีผลกับอีกฝ่าย ดังนั้นผู้ที่อยู่ในเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมการเงิน เกมธุรกิจ เกมสงคราม เกมกีฬา ควรวางหมากอย่างมีกลยุทธ์ ไม่ใช่ซี้ซั้วเข้าไป พาลจะแพ้เขาได้ แน่นอนในรายละเอียดมีมากกว่านี้แต่อธิบายทั้งหมดจะกลายเป็นบทความวิชาการไป ไปหาหนังสือ "ทฤษฎีเกม" อ่านเข้าท่ากว่าครับ และหนังสืออีกเล่มที่ต่อยอดได้ดีมากๆ คือ Finite and Infinite games ที่เขียนโดย James P. Carse เล่มนี้คนจะรู้จักน้อยหน่อย แต่ผมว่าคอนเซปท์นี้เป็นประโยชน์โดยตรงกับทุกคนที่อยู่ในตลาดหุ้น ไม่ว่าลงทุนซื้อถือยาว หรือเก็งกำไรระยะสั้น โครงคอนเซปท์คร่าวๆ หน้าตาแบบนี้ครับ 1. Finite games คือ เกมหรือการแข่งขัน ที่มีกฎกติกาตายตัว มีผลแพ้ชนะชัดเจน เมื่อรู้ผลแพ้ชนะนั่นคือ เกมจบ ตัวอย่างคือ เกมกีฬา 2. Infinite games คือ เกมหรือการแข่งขัน ที่ไม่มีกฎกติกาตายตัว และไม่มีผลแพ้ชนะชัดเจน ที่สำคัญคือเกมเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีจบ ตัวอย่างคือ เกมธุรกิจและการลงทุน เมื่อ Infinite games ไม่มีผลแพ้ชนะชัดเจน และเกมไม่มีจบ ผู้ชนะ (หรือเรียกว่าใกล้เคียงชนะที่สุด) กลายเป็นผู้ที่ยังอยู่ในเกม หรือ รักษาความได้เปรียบของตัวเองไว้ได้นั่นเอง ความตลกร้ายคือคอนเซปท์นี้สวนทางกับวิธีปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดหุ้น คนส่วนใหญ่ต้องการซื้อหุ้นและคาดหวังให้ราคาขึ้นทันที พูดตรงๆ คือเขาต้องการเข้าหุ้นแล้วราคาพุ่งเลย หรือ "ชนะหุ้น" นั่นเอง และมองความสำเร็จในตลาดหุ้น คือ การชนะหุ้นทุกตัวที่เข้าไปเล่น  แต่ไปหวังแบบนั้นมันไม่ได้สะท้อนความจริงเลย ผลคือพอไม่ได้ตามที่คิดไว้ก็ถอดใจ หมดกำลังใจพับเสื่อออกจากตลาดหุ้นไป ซึ่งน่าเสียดาย จะชนะในเกมการลงทุน ต้องเริ่มที่เข้าใจและยอมรับว่า เกมนี้ไม่มีวันจบ และตัวแปรที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นส่วนใหญ่อยู่นอกการควบคุมของเรา ไม่ใช่ไปพยายามอ่านงบฯ หรืออ่านกราฟหาสัญญาณซื้อที่หุ้นจะขึ้นทันทีหรือขึ้นมากที่สุด เพราะให้มองตามความเป็นจริง ไม่มีใครรู้หรอก แต่เราสามารถออกแบบพอร์ตลงทุนให้ไม่ว่าหุ้นจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่เจ๊ง และไม่เลิกไปเสียก่อนได้ เปลี่ยนจากซื้อหุ้นให้ชนะ เป็นซื้อหุ้นให้ยังไงก็ไม่เจ๊งและไม่ต้องเลิกเล่น โจทย์ใหญ่คือ จะซื้อหุ้นยังไงให้ไม่เจ๊ง กับราคาหุ้นที่ไม่มีใครรู้ว่าจะขึ้นหรือลงหลังจากนี้ ผมจึงได้ออกแบบวิธีการ "สไลด์หุ้น" ขึ้น สไลด์คือศัพท์เท่ๆ ที่แปลว่า หั่นให้เป็นชิ้นๆ ยกตัวอย่างเช่นผมจะซื้อหุ้นสักตัว เราสามารถสไลด์การซื้อหุ้นเป็น 3 ส่วน เป็น 3/4/3, 3/5/2 หรือ 5/3/2 ได้หมด ขึ้นอยู่กับการออกแบบความเสี่ยงในการซื้อหุ้น อย่างในบริบทของการดูกราฟเทคนิค จะแบ่งได้ว่า ราคายืนบนแนวรับได้ซื้อ 30% พอราคาเริ่มขึ้นผ่านแนวต้านซื้ออีก 40% และจะกล้าซื้อเพราะเติมไปแล้วต้นทุนที่มีก็จะถูกกว่าราคาล่าสุด ราคาขึ้นต่อซื้ออีก 30% เป็นต้น ถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาร่วง จะขาดทุน แต่จากฐาน 3/10 แต่ถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาขึ้น จะกำไร และจากฐาน 10/10 โมเดลนี้ผลคือ เสียจากฐานเล็ก-ได้จากฐานใหญ่ ประกอบกับการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม มีขาดทุนบ้าง แต่ยังไงก็ไม่เจ๊ง รอบหุ้นมาเมื่อไร ก็จะซื้อได้เต็มหน้าตัก ซื้อหุ้นแล้วไม่ต้องมาลุ้นว่าจะขึ้นหรือไม่ ไม่เครียดและทำได้เรื่อยๆ การออกแบบให้ยังไงก็ไม่แพ้ คือ วิธีการเอาชนะใน Infinite games ที่เรียกว่าตลาดหุ้น จริงๆ ครับ.. ขอให้ความโชคดีของพวกเรา คือ มีหน้าตักเงินเพียงพอและกล้าซื้อเมื่อรอบหุ้นมากันนะครับ