การลงทุนเดือนพฤษภาคมที่ต้องจับตา "Sell in May" และ "A Hundred Days of Trump" - Forbes Thailand

การลงทุนเดือนพฤษภาคมที่ต้องจับตา "Sell in May" และ "A Hundred Days of Trump"

ผลงานประธานาธิบดี Trump 100 วัน ยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา คือวันที่ Donal Trump เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครบ 100 วัน นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียง ได้สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนทั่วโลก แต่หลังจากผ่าน 100 วันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง แทบจะไม่มีนโยบายเศรษฐกิจเรื่องใดเลย ที่ Trump ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะแผนการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกเคยคาดหวังว่าจะส่งผลดีกับบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และส่งผลบวกต่อตลาดทุนทั่วโลก แม้ว่าจะมีการเปิดเผยแผนการออกมาบ้างแต่ยังคงไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นสำคัญก็คือจะนำรายได้จากส่วนไหนเข้ามาชดเชยรายได้ที่ลดลงจากแผนการปฏิรูปภาษี อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่ารายได้ที่จะถูกนำมาชดเชยจะมาจากการประกาศใช้ภาษี Border Adjustment Tax (BAT) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดกำไรของบริษัทที่จะนำมาคำนวณภาษีนิติบุคคลใหม่ โดยหากอิงตามการเปิดเผยของสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional Budget Office:CBO) ได้ประเมินว่า การลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 20% จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ หากมีการใช้ภาษี BATจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การประกาศบังคับใช้ภาษี  BAT ยังต้องผ่านขั้นตอนกฏหมายอีกหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายพรรค Republican และ ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจน ดังนั้น ความหวังที่จะเห็นการประกาศปรับลดภาษีนิติบุคคลจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้น่าจะเป็นไปได้ยาก ช่วงที่ผ่านมาบทบาทที่สำคัญของประธานาธิบดี Trump กลับแสดงให้เห็นเด่นชัดออกมาในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มด้วยการออกกฎห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ รวมถึงคำสั่งทิ้งระเบิดในประเทศตะวันออกกลาง และการแสดงบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือต่อการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ช่วยหนุนราคาทองคำและน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของเรา ความเสี่ยงดังกล่าวยังคงต้องติดตาม แต่ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ชัยชนะของ Moon-Jae In ที่มีนโยบายเน้นการเจรจากับเกาหลีเหนือเข้าดำรงตำแหน่ง น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดอุณหภูมิความร้อนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือลงได้ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมนับจากต้นปีจะเห็นได้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นต่างๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความหวังในนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจริง หรือ Hard Data ไม่ได้ดีตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้ สอดคล้องกับคำแถลงของประธาน Fed ในการประชุมเดือน พ.ค. ล่าสุดที่ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า คาดช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.นักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่ผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนและทิศทางนโยบายของ Fed หลังจากที่นโยบาย Trump ยังไม่มีความชัดเจน เชื่อว่านักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่ผลดำเนินงาน บริษัทจดทะเบียน โดยล่าสุดกว่า 80% ของรายงานผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พบว่า 75% รายงานผลดำเนินงานดีกว่านักวิเคราะห์คาด และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี ดังนั้น แนวโน้มการปรับเพิ่มประมาณการผลดำเนินงานในตลาดหุ้น S&P500 จะยังเป็นปัจจัยหนุน Sentiment แต่ในแง่ของ Valuation ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถือว่าเทรดที่ P/E ที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตจึงมีโอกาสที่จะเห็นการขายทำกำไรได้บ้าง ด้านนโยบายการเงิน เรายังคงมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย. และ ก.ย. นอกจากนี้ จะมีการประกาศแผนการลดงบดุลในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
กราฟ: นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการผลดำเนินงานใน S&P500Source: Factset data as of May 5 2017
 

ปัจจัยอื่นๆ ที่จะมีผลกับการลงทุนในระยะนี้

เรามองความเสี่ยงการเมืองในยุโรปลดลง หากประเมินจากผลการเลือกตั้งฮอลแลนด์และฝรั่งเศส สะท้อนประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มยุโรปต่อไป ทำให้จากนี้ นักลงทุนจะกลับไปโฟกัสตัวเลขเศรษฐกิจ และนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งเราคาดว่าเดือน มิ.ย. ECB จะเริ่มกล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี และเดือน ก.ย.จะประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tappering) ลงอีก สำหรับการเลือกตั้งอังกฤษซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย. และ การเลือกตั้งเยอรมันในเดือน ก.ย.ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวมมากนัก ติดตามเศรษฐกิจจีนมากขึ้นในระยะนี้ หลังจากเศรษฐกิจจีนช่วงปลายไตรมาส 4/2016 ถึงไตรมาส 1/2017 ขยายตัวดีส่งผลให้ทางการจีนเริ่มกลับมาเข้มงวดทางการเงินอีกครั้งผ่านนโยบายต่างๆ อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหลายตัวในตลาดการเงินเพื่อลดการกู้ยืม หรือการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยลบเชิง Sentiment กับตลาดหุ้นโดยรวมได้ในระยะนี้ จากสถิติในช่วง 10 ปี ย้อนหลังพบว่า เดือน มิ.ย. ดัชนี S&P500 มักจะปรับตัวลดลง หากพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังดัชนี S&P500 พบว่าผลตอบแทนในเดือน มิ.ย. -1.5% ดังนั้นหากอิงข้อมูลดังกล่าว เดือน พ.ค.จะเป็นเดือนที่นักลงทุนมักจะ Take Profit ตามคำกล่าว “Sell in May” สำหรับปี 2017 หากอิงสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงจุดสูงสุด ย่อมเป็นไปได้ที่เดือน มิ.ย. จะเกิดการ Take Profit ได้บ้าง อย่างไรก็ดี มุมมองในช่วงที่เหลือของปี เรายังคงมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และ ผลดำเนินงานตลาดหุ้นยังคงอยู่ในช่วงของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น การปรับลดลงมองว่าเป็นจังหวะในการทยอยเข้าลงทุนมากกว่า