การลงทุนอย่างยั่งยืน โดย ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ - Forbes Thailand

การลงทุนอย่างยั่งยืน โดย ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jan 2016 | 11:35 AM
READ 6100
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
 
เมื่อมองย้อนกลับไป เป้าหมายของการลงทุนจะเน้นเรื่องการสร้างกำไรและผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น ในระยะต่อมาได้มีการนำองค์ประกอบอื่นที่ไม่ใช่การเงินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของการวิเคราะห์การลงทุน โดยได้นำหลักการ “บรรษัทภิบาล” (corporate governance) มาเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของการลงทุน เพราะ “บรรษัทภิบาล” เป็นการบริหารธุรกิจที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

ขอบเขตของการลงทุนได้ขยายตัวไปสู่การลงทุนที่เรียกว่า การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (responsible investment) หรือ การลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investment) การลงทุนตามแนวทางนี้ ทำให้ทั้งในส่วนของนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่างปรับทิศทางในการลงทุนและการบริหารธุรกิจมาสู่แนวทางแห่งความยั่งยืน

เมื่อต้นปี 2005 Kofi Annan เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เชิญนักลงทุนสถาบันระดับโลกกลุ่มหนึ่ง โดยการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญทั้งอุตสาหกรรมการลงทุน หน่วยงานระหว่างประเทศ และกลุ่มประชาสังคม มาร่วมกระบวนการในการพัฒนา หลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (The Principles for Responsible Investment, PRI) และหลักการนี้ได้ประกาศตัวในเดือนเมษายน 2006 ที่ New York Stock Exchange

หลัก การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบนี้มีเครือข่ายระดับสากล มีความร่วมมือและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในบรรดานักลงทุนที่นำหลักการนี้มา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการวิเคราะห์ลงทุน ในปี 2014 มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบรวม 59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับที่เริ่มต้นในปี 2006 ที่มีมูลค่าเพียง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่การลงทุนในลักษณะนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในอีกด้านหนึ่ง มีนักลงทุนรวมตัวกันตั้งเป็นพันธมิตรการลงทุนอย่างยั่งยืนระดับสากล (The Global Sustainable Investment Alliance, GSIA) การลงทุนของ GSIA ในปี 2012 มีมูลค่าการลงทุน 13.3 ล้านล้านเหรียญ และเพิ่มขึ้นเป็น 21.4 ล้านล้านเหรียญในปี 2014

การ ลงทุนภายใต้หลักการการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (PRI) หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environmental) และสังคม (social) ควบคู่ไปกับการบริหารตามหลักบรรษัทภิบาล (corporate governance) หรือเรียกว่าเป็นการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG

นอกจากนี้ จากแนวคิดของการลงทุนดังกล่าว ยังมีการจัดทำดัชนีชี้วัดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหลากหลาย เช่น FTSE4Good, MSCI Indexes โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Down Jones Sustainability Indices หรือ DJSI นักลงทุนที่สนใจการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน สามารถค้นหาบริษัทที่ดำเนินการอย่างยั่งยืนได้จากดัชนีดังกล่าว ใน ปี 2014 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยอยู่ในดัชนี DJSI รวม 10 บริษัทด้วยกัน ซึ่งมีมากที่สุดในอาเซียน และปรากฎว่าในปี 2015 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปรากฎอยู่ในดัชนี DJSI เพิ่มอีก 3 บริษัท รวมเป็น 13 บริษัท ซึ่งนอกจากสร้างความโดดเด่นให้กับการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเป็นที่น่าภูมิใจว่าบริษัทไทยได้ให้ความ สนใจในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) มากขึ้นอีกด้วย

เพื่อ ตอบสนองบริษัทขนาดเล็กที่ต้องการสร้างผลตอบแทนทั้งทางด้านการเงินและการ ดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำทำเนียบการลงทุนอย่างยั่งยืนของประเทศ ไทย (Thailand Sustainability Investment) ที่สอดคล้องกับแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืนในระดับสากล

ในปี 2015 ปรากฎว่ามีบริษัทที่อยู่ในเกณฑ์ Thailand Sustainability Investment รวม 51 บริษัทด้วยกัน บริษัทเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “บริษัทยั่งยืน” หรือ “หุ้นยั่งยืน” ที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนอย่างยั่งยืนเลือกลงทุนได้

แท้ที่จริงแล้วการเป็นบริษัทยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม แต่บริษัทเองกลับได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว เพราะการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการใช้ไฟฟ้า น้ำ หรือการนำวัสดุมาใช้ใหม่ และการคำนึงถึงสังคมไม่ว่าการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและการให้สวัสดิการ ที่เหมาะสม ตลอดจนการดูแลชุมชนใกล้เคียงให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการเพิ่มความสุขในการทำงานและความผูกพันต่อองค์กร ตลอดจนการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่นอีกด้วย การลงทุนที่เคยมองว่าเป็นไปเพียงเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่การลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable investment) อันเป็นแนวทางหลักของการพัฒนาในทุกยุคนี้              

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
อ่านแนวคิดของผู้นำผ่าน Forbes Thailand Magazine ได้ที่แผงหนังสือชั้นนำและรูปแบบ E-Magazine