การจัดโครงสร้างธุรกิจครอบครัว : แนวทางสู่ความยั่งยืน - Forbes Thailand

การจัดโครงสร้างธุรกิจครอบครัว : แนวทางสู่ความยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Oct 2015 | 06:42 PM
READ 9889
ผมเคยเขียนเรื่องธุรกิจครอบครัวเป็นหนังสือชื่อ "การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน” ที่จัดพิมพ์โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และได้มีการบรรยายในเรื่องการวางแผนทางกฎหมายและภาษีของธุรกิจครอบครัวให้กับธนาคารใหญ่ๆ 2 แห่ง ที่จัดให้มีหลักสูตรการพัฒนาการให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทยมากว่า 10 ปี ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยอ่านหนังสือหรือเคยเข้าร่วมอบรมสัมนาหลักสูตรดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะเพื่อลบล้างคำสาปที่พูดกันเสมอว่า "ธุรกิจครอบครัวจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น"

บทความนี้จะเป็นการนำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องทางกฎหมายและภาษีที่จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวไทยมาเรียงร้อยใหม่ให้น่าสนใจและน่าติดตาม โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เริ่มแรก ท่านผู้อ่านควรรู้ว่าธุรกิจครอบครัว คือ องค์กรธุรกิจ (ที่ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน) ไม่ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม โดยคนในตระกูล ครอบครัวเดียวกัน (อาจเป็น บิดา มารดา พี่ น้อง) เป็นเจ้าของโดยการถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ (ตั้งแต่ 51-100%) และเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการและควบคุมการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน

ความสำคัญของธุรกิจครอบครัวในโลกและประเทศไทย

จากข้อมูลจาก EY Family Business Year Book 2014, Ernst & Young, Global Ltd และ SME Agenda โจทย์ SME โจทย์ประเทศ, มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (2556) โดยมีการศึกษา 250 ธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือมี 90% เป็นธุรกิจครอบครัว และ 53% ของธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาจากกลุ่มประเทศนี้ ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 57% ในประเทศไทยนั้น 80% ของธุรกิจในประเทศเป็นธุรกิจครอบครัว โดยจำนวน 21 บริษัทในกลุ่ม SET 50 นั้นเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 33% โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทธนาคาร พาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์

ความเสี่ยง ความล้มเหลว และปัญหาของธุรกิจครอบครัวไทย

สำหรับการศึกษาของผมเองในตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น พบว่า ความเสี่ยงของธุรกิจเกิดจากการขาด “6C” คือ
1. Corporate Structure ขาดการจัดโครงสร้างของธุรกิจที่ดีและเหมาะสม
2. Compensation ขาดการกำหนดวิธีการจัดสรรความเป็นเจ้าของ การกำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน และผลประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัว โดยมีกฎกติกาให้เป็นธรรมเหมาะสม ซึ่งความเป็นธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องเท่ากัน กล่าวคือ “Fair does not mean equal.”
3. Communication ขาดการพูดคุยสื่อสารอย่างสร้างสรรและเหมาะสมในระหว่างสมาชิกในครอบครัวและผู้บริหารกิจการในการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายของการทำธุรกิจครอบครัว เช่น ควรมีการประชุมคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือ การประชุมสภาครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
4. Conflict Resolution ขาดกลไกการระงับข้อพิพาทของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าการปรึกษาหารือ หาคนกลางมาช่วยตัดสิน การไกล่เกลี่ยประนีประนอม หรือ การซื้อขายหุ้นระหว่างกัน
5. Care Compassion ขาดความเอื้ออาทร ความกรุณาต่อสมาชิกในครอบครัวกันเอง และผู้มีส่วนได้เสีย อันได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า และลูกจ้าง
6. Change ไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกและภายใน ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจและเปลี่ยนแนวการดำเนินการ

การจัดโครงสร้างธุรกิจ

เราจะเห็นตัวอย่างกิจการล่มสลายของธุรกิจครอบครัวไทยและการสืบทอดของธุรกิจครอบครัวไทยที่เกินกว่า 50 ปีมีน้อยลง ซึ่งก็หมายความว่า โดยเฉลี่ยอายุของกิจการคือ ประมาณ 20-30 ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทในประเทศไทยที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี (เกิน 3 รุ่น) มีจำนวนไม่ถึง 100 บริษัท ตรงข้ามกับประเทศญี่ปุ่นที่จำนวนบริษัทอายุเกินกว่า 200 ปี มีอยู่ถึง 3,000 กว่าบริษัท

ซึ่งมีข้อสำคัญส่วนหนึ่งคือการจัดโครงสร้างของบริษัทหรือองค์กรธุรกิจ และการจัดโครงสร้างการถือหุ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการล่มสลายของธุรกิจครอบครัว คือ โครงสร้างบริษัทและโครงสร้างการถือหุ้นที่ขาดความยืดหยุ่น และไม่ได้แยกธุรกิจกับการถือครองทรัพย์สิน และเรื่องการดูแลผลประโยชน์ของครอบครัวออกให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ธุรกิจครอบครัวไทยจะเริ่มจากการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบการและสมาชิกในครอบครัวก็เข้าถือหุ้น เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตก็อาจมีการแปลงบริษัทที่ประกอบการเดิม และให้ไปถือหุ้นในกิจการที่ขยายออกไป หรือจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาใหม่แล้วมีการแบ่งแยกธุรกิจออกตามประเภทของธุรกิจ แต่ยังอาจจะมีการถือหุ้น โดยสมาชิกในครอบครัวนั้นถือหุ้นในบริษัทที่ตนประกอบการอยู่

ทว่าจริงๆ แล้วโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดคือ การที่บริษัทโฮลดิ้งของครอบครัวเข้าไปถือหุ้นในบริษัทประกอบกัน โดยเป็นการถือหุ้นทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ และอาจมีการแบ่งหุ้นในบริษัทประกอบการให้สมาชิกในครอบครัวถือหุ้นโดยตรงจำนวนหนึ่งเพื่อให้เป็นแรงจูงใจให้สมาชิกในครอบครัวผู้ประกอบธุรกิจจะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ หรืออาจจะให้สมาชิกครอบครัวถือหุ้นเมื่อบริษัทประกอบการดังกล่าวอาจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อผลประโยชน์ทางภาษี

ทั้งนี้ รูปแบบของบริษัทโฮลดิ้งสำหรับธุรกิจครอบครัวที่ดีที่สุดคือ “บริษัทจำกัด” เท่านั้น และไม่ควรเป็นบริษัทมหาชนวิธีการบรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัวสามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากนัก โดยผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและภาษี ผมเชื่อว่าการจัดโครงสร้างในบริษัทโฮลดิ้งและการถือหุ้นที่ถูกต้องและเหมาะสมจะเป็นแนวทางไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวไทยได้อย่างแน่นอน
 

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ จำกัด
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

คลิ๊กอ่านเรื่องราวเติมไฟฝันทางธุรกิจได้จาก Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine