การกำกับดูแลที่ดี: โปร่งใสหรือโปรงแสง - Forbes Thailand

การกำกับดูแลที่ดี: โปร่งใสหรือโปรงแสง

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jul 2015 | 06:26 PM
READ 8516
จากภาพ: หลักการพื้นฐานของความโปร่งใส (Foundation of Transparency) เรื่อง: ปิยะพันธ์ ทยานิธิ (คลิ๊กอ่าน Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2015 ในรูปแบบ E-Magazine)

แวดวงการส่งเสริมผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการป้องกัน ต่อต้านและปราบปรามการทุจริต ต่างอ้างถึงความโปร่งใส อย่างแพร่หลาย  ว่าเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญ ในแนวทางเชิงคุณภาพของการแก้ไขปัญหาได้หลากหลาย ทั้งของสังคมและองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม จึงมีคำถามว่า ความโปร่งใส เป็นอย่างไร เพื่ออะไรและใคร

โปร่งใส เป็นคุณสมบัติที่แสงผ่านได้เต็มที่จนมองเห็นได้ตลอด ส่วน โปร่งแสง  เป็นคุณสมบัติที่แสงผ่านได้บ้าง ส่วน ทึบแสง ตรงข้ามกับโปร่งใส กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากวัดระดับค่า แถบคุณสมบัติ ต่ำสุดขั้วคือทึบแสง โปร่งแสงคือค่าระหว่างกลาง เพิ่มขึ้นไปจนสูงสุดขั้วคือโปร่งใส ซึ่งล้วนมีประโยชน์ในกรณีที่แตกต่างกันไป

ถ้าการมองเห็นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความต้องการหรือสงสัย ให้ได้รู้สภาพที่แท้จริงของธรรมชาติ บนรากฐานของความจริงแล้ว ภารกิจหลักจึงเป็นการแสดงความจริงให้รู้ เห็น ปรากฎ ประจักษ์ และเข้าใจได้อย่างถูกต้องครบถ้วนชัดเจน ในขณะที่ภารกิจหลักอีกด้านเป็นการเข้าถึง ศึกษา เรียนรู้ วิเคราะห์และตรึกตรอง ซึ่งดำเนินไปพร้อมกันแบบทวิภาคคือ กระบวนการเข้าถึงเข้าใจควบคู่กัน

เมื่อนำมาใช้ในการกำกับดูแลกิจการ คำว่าโปร่งใส จึงหมายถึงคุณสมบัติที่ทำให้เห็นสภาพที่แท้จริงของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนเต็มที่โดยตลอด นอกจากนี้ หากนำคำว่าโปร่งแสงมาปรับใช้ด้วย ก็ควรหมายถึงคุณสมบัติที่ทำให้พอเห็นสภาพที่แท้จริงของการดำเนินงานได้บ้าง แตกต่างกันไปหลายระดับชั้น อาจแค่เพียงบางระดับบางส่วนบางตอนหรือบางครั้งเท่านั้น ส่วนคำว่าทึบแสงเป็นกรณีที่ไม่อาจเห็นสภาพที่แท้จริงได้เลย ความโปร่งใสจึงสัมพันธ์ควบคู่กับความจริงอย่างแนบแน่น

ดังนั้น ความชัดเจนจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขปัญหาหนึ่งของการกำกับดูแลที่ดีได้ ด้วยหลักการพื้นฐานว่า ความชัดเจน กระจ่างแจ่มแจ้งของการเปิดเผยความจริง ย่อมนำไปสู่ความชัดเจนของการศึกษาเข้าใจ ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนในที่สุด โดยเลือกโปร่งใสและโปร่งแสงมาใช้แยกระดับความชัดเจนดังกล่าว เพราะว่าความรู้ความเข้าใจเป็นรากฐานที่ดีของการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าการปฏิบัติ การบริหาร การตัดสินใจ การควบคุม การบริหารความเสี่ยง ตลอดถึงการตรวจสอบ โดยพิจารณาองค์ประกอบตามเงื่อนไขความจำเป็น คือ รูปแบบ สาระ และเจตนารมณ์ พร้อมกับเงื่อนไขความเพียงพอ ได้แก่ ปริมาณ คุณภาพ และสถานภาพ

ความชัดเจนมีสองมิติใหญ่ มิติแรก ความชัดเจนตามลำดับกระบวนการหรือกิจกรรม มีสามตอน คือ 1. ก่อนการกระทำ ได้แก่ ความคิด แนวทาง นโยบายและแผนงาน 2. ระหว่างการกระทำ ได้แก่ แต่ละขั้นตอนตลอดกระบวนการ 3. หลังการกระทำ ได้แก่ ผลงาน ผลลัพธ์และผลกระทบ มิติที่สอง ความชัดเจนตามลักษณะการกระทำหรือกรรมมีสามแบบ คือ คิด พูด และทำ สรุปคือ ความชัดเจนที่ดีต้องรอบด้านและตลอดทาง

การเปิดเผยความจริงจึงเป็นกลไกหลักที่จะทำให้บรรลุคุณสมบัติความชัดเจนได้  ซึ่งมักเรียกกันทั่วไปว่าการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ หมายถึงข้อเท็จจริง โดยไม่จำกัดรูปแบบ จึงอาจเป็นลายลักษณ์อักษร เสียงหรือภาพ ทั้งที่สัมผัสได้และไม่ได้ หรือสื่ออื่นใดก็ตาม กล่าวคือ วิธีการแสดงหรือเปิดเผยความคิด คำพูด การทำงาน ตลอดจนผลงานได้ชัดเจน เพียงพอที่จะเข้าใจการดำเนินงานในสาระสำคัญได้อย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะจุดสำคัญ เช่น จุดยุทธศาสตร์ จุดแข็ง จุดอ่อน จุดเสี่ยง จุดควบคุม จุดตรวจ  เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยเปรียบเหมือนดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษต่างกันไปตามเวลา สถานที่ บุคคล และสถานการณ์ ทั้งเมื่อมองจากภายนอกและภายใน จึงต้องใช้ให้เหมาะสม นอกจากนั้น การเปิดเผยมาพร้อมกับการปกปิดการปิดบัง ซึ่งเป็นคู่เงามืดชนิดหนึ่ง เพราะมีเพียงเจตนาเท่านั้นที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกันได้ การเปิดเผยย่อมจะปลอดภัยหากอยู่ในหมู่คนที่คิดดีคิดชอบ ในทางตรงข้าม อาจเกิดภัยอันตรายได้หากอยู่ในหมู่คนที่คิดผิดคิดชั่ว การปกปิดจึงจำเป็นในบางกรณี ความเหมาะสมจึงต้องอาศัยหลักความสมดุล ดูจากต่างแง่ต่างมุมให้ทั่วถึงหลากหลาย สมมติฐานเชิงลบสุดโต่งที่ว่าคนอื่นคิดไม่ดีมีเจตนาร้ายคอยทุจริตอยู่เสมอ ในทุกเรื่องทุกโอกาสทุกที่ทุกเวลานั้น คงเป็นการมองโลกเฉพาะในแง่ร้ายเพียงด้านเดียว

แม้จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมาเกี่ยวข้องเลย เช่น กรณีกลุ่มคนวงใน วงจำกัด หรือแม้แต่ตัวเองโดยลำพัง หลักการเรื่องความชัดเจนก็ยังคงใช้ได้เหมือนเดิม คือ  ความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกิดก่อน เกิดอยู่ และเกิดทีหลังต้องชัดเจน ความสัมพันธ์ระหว่างคิด พูด และทำต้องชัดเจน เรียกว่า โปร่งใสหรือจริงใจกับตัวเอง

เบื้องหลังความสำเร็จของการเปิดเผยอยู่ที่ความเชื่อใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เจตนาที่กระทำไปนั้นจริงใจเพียงใด เพราะเจตนาเป็นนามธรรมอยู่ภายในจิตใจ ไม่อาจล่วงรู้จิตใจคนอื่นได้ ถึงแม้ว่าเจตนาส่อการกระทำ แต่วาจาอาจบ่งบอกเจตนาได้ก็ต่อเมื่อคนพูดตรงกับใจเท่านั้น เนื่องจากเจตนาเป็นตัวกำหนด จึงทำให้คำพูดออกมาตรงหรือต่างกับความคิดของตนอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ การแสดงความจริงจึงมักผสมปนเปกับการเสแสร้งแกล้งทำ ซึ่งเป็นคู่เงามืดอีกชนิดหนึ่ง สอดคล้องกับคำพังเพยว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ซึ่งสอนให้สังเกตวิเคราะห์อนุมาน ในขณะที่คำว่า มือถือสาก ปากถือศีล ย้ำเตือนให้ระวังพฤติกรรมที่บิดเบือนได้เสมอ

ความโปร่งใสและการเปิดเผยโดยลำพังไม่อาจช่วยป้องกันความผิดพลาดและเสียหายได้ เพราะข้อจำกัดการรับรู้ในหลายลักษณะ เช่นภาพลวงตา เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ จนถึงขั้นปฏิเสธต่อต้านคัดค้าน ตัวอย่างเด่นคือ บกพร่องหรือทุจริตแบบโปร่งใส เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สภาพความเป็นจริงแล้ว แต่ก็มิได้สนใจใส่ใจ ไม่คัดค้านยับยั้ง  กลับปล่อยปละละเลยให้ดำเนินการต่อไป ซ้ำร้ายบางครั้งยังเห็นชอบ สนับสนุนหรือร่วมมืออีกด้วย ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กลไกที่ดีที่จำเป็นและเพียงพอจึงต้องประกอบด้วยกลไกการเปิดเผยสัมพันธ์ควบคู่ไปกับกลไกการควบคุมอย่างแนบแน่น ซึ่งควรทำหน้าที่ได้ต่อเนื่อง ครอบคลุมเชื่อมโยงขอบเขต ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

การกำกับดูแลที่ดีต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์อย่างจริงใจ พร้อมกับปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอกด้วยสติปัญญาอย่างรอบคอบระมัดระวัง การเปิดเผยที่ดีร่วมกับการควบคุมที่ดีจะบรรลุเป้าหมายความชัดเจนได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าโปร่งใสหรือโปร่งแสงระดับใดก็ตาม ด้วยหลักความพร้อมสมดุลพอดี คือทางสายกลาง เพราะโปร่งใสก่อคุณและโทษต่อผู้สุจริตและผู้ไม่สุจริตได้เช่นกัน ทั้งนี้ องค์กรจำเป็นต้องมีบุคลากรและพื้นฐานการดำเนินงานที่ดีมีคุณภาพ จึงจะสัมฤทธิ์ผลอย่างบริบูรณ์ได้ ทั้งในการสร้างคุณประโยชน์และการหลบหลีกภัยอันตราย
 
ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
คลิ๊กอ่าน Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2015 ในรูปแบบ E-Magazine