กับดักเศรษฐกิจไทยภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ - Forbes Thailand

กับดักเศรษฐกิจไทยภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์

หลังจากรัฐบาล Donald Trump ประกาศขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ตามด้วยการกีดกันสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ความตึงเครียดทางการค้าและข้อพิพาททางการค้าเกิดขึ้นทันที จะพัฒนาต่อไปเป็น “สงครามการค้า” หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

องค์การการค้าโลก ออกมาเตือนแล้วว่าการตอบโต้ทางการค้าต่อกันจะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก และแน่นอนที่สุด สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกขั้นกลางที่ส่งออกไปจีนและเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ของอุตสาหกรรมส่งออกของจีน อย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกบางประเภท หากข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาพัฒนาไปสู่ “สงครามการค้า” ย่อมส่งผลให้ “เศรษฐกิจไทย” ชะลอตัวลงอย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศสูง ขณะที่กำลังซื้อภายในยังคงอ่อนแอ ประเทศไทยภายใต้ระบบทุนนิยมได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพัฒนาดีขึ้นพอสมควร แต่หากเทียบกับบางประเทศในเอเชียถือว่าเราพัฒนาไปได้ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ จีน หลายประเทศเคยมีระบบเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าไทยแต่ตอนนี้ได้ก้าวแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว ความล้มเหลวที่สำคัญที่สุด ประการแรก เกิดจากระบบการเมืองที่ล้มเหลว ทำให้เราไม่สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาประเทศที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ สอง ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และงานวิจัยไม่มากพอ เราจึงอาศัยการนำเข้าเงินทุนและซื้อเทคโนโลยีเพื่อการเติบโต สาม กลุ่มทุนธุรกิจไทยถูกบอนไซด้วยระบบแบบไทยๆ ไม่สามารถเติบโตเป็นบริษัทระดับโลกและระดับภูมิภาคได้มากนัก สี่ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในทุกระดับ ห้า ตลอด 80 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้มีเสถียรภาพทางการเมืองนัก และเราอาจมีนักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถอยู่บ้าง แต่อยู่ในตำแหน่งช่วงสั้นๆ ขณะที่โดยส่วนใหญ่เราไม่ได้ผู้บริหารประเทศตามที่เราคาดหวัง อาจพูดได้ว่าคุณภาพและคุณธรรมของนักการเมืองไทยไม่ได้สูงกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพสำคัญ มีอำนาจตัดสินใจกำหนดทิศทางประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีอำนาจผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ภายในและทุนข้ามชาติ หากไม่จัดระเบียบหรือปฏิรูปเศรษฐกิจให้มี “ความเป็นประชาธิปไตย” และทำให้เกิดการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมแล้วก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะก้าวข้ามกับดัก “รวยกระจุก จนกระจาย” หรือตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมดูดีขึ้น แต่ฟื้นตัวเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน คนจำนวนไม่น้อยกังวลเรื่องการรวมศูนย์อำนาจและปัญหาธรรมาภิบาลในสังคมไทย และหวั่นไหวกับความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” และไม่มั่นใจต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ หลายคดีเดินทางสู่ศาลและผลการตัดสินออกมาทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเคลือบแคลงสงสัย ภายใต้อารยธรรมตะวันออก ความยุติธรรมมักเน้นไปที่ความเป็นธรรมของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ระบบนิติรัฐอันสั่นคลอนกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกระดับ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าของประเทศภายใต้โอกาสอันรุ่งโรจน์ของเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ปัญหาฐานะทางการคลังที่เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายแบบประชานิยมมาอย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาลอาจปะทุขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในอนาคต ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐไทยได้แทรกแซงระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและลงลึกถึงระดับรายอุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนเป็นพิเศษแก่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อแสวงหาความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและให้ถือธงนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ขณะที่โลกในศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการแข่งขัน อนาคตของไทยก็ตกอยู่ภายใต้กระแสครอบงำของโลกาภิวัฒน์ทุนนิยมไร้พรมแดน ซึ่งเราจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อให้สามารถตอบสนองความท้าทายของโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยโอกาสและความเสี่ยงจักรวรรดิการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นยูโรโซน สหภาพยุโรป หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ดี กระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) อาจพลิกกลับเป็นการแตกสลายของการรวมกลุ่ม (Economic Disintegration) ก็ได้ หากไม่มีระบบกลไกในการดูแลให้ผลประโยชน์ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบ่งปันกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมกระแสการเมืองแบบขวาจัด ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ลัทธิกีดกันทางการค้า จึงเกิดขึ้นมาได้ภายใต้ระบบการค้าเสรีทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน   ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine