กับดักที่ MedTech ไทยต้องเผชิญ และโอกาสทองในงานเมดิคอล แฟร์ - Forbes Thailand

กับดักที่ MedTech ไทยต้องเผชิญ และโอกาสทองในงานเมดิคอล แฟร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้นคือเหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคในด้านต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ สตาร์ทอัพด้านการแพทย์ หรือที่เรียกว่า MedTech หรือ HealthTech นั่นเอง

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หนึ่งในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโตในครึ่งปีหลังของปี 2561 และปี 2562 ก็คือ MedTech ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์จัยธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า HealthTech มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนได้จากจำนวนสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่เริ่มให้ความสนใจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปี 2553-2559 มีเงินสนับสนุนลงทุน (funding) เติบโตต่อเนื่องถึงราว 42% ต่อปี โดยในปี 2016 เงินลงทุนแตะระดับ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ถึงกระนั้น ภาพที่หลายคนเห็นคือสตาร์ทอัพด้านการแพทย์ของไทยยังไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถพ้นระยะ seed ได้

ดร.คัคนานต์ สรุงบุญมี ศูนย์เหมืองข้อมูลและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการแพทย์ของประเทศไทยเจริญมาก แต่ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในฐานะผู้ซื้อนวัตกรรมมาตลอด จนถึงจุดหนึ่งที่ผู้ใช้รู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ออกมาส่วนใหญ่ใช้ในการรักษามากกว่าการป้องกัน แต่ปัจจุบันเทรนด์เรื่องสุขภาพเปลี่ยนไปเป็นการหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้เริ่มมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา แต่การพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ในไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย นวัตกรมีความท้าทายมากมายที่ต้องเผชิญ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่สร้างโปรดักต์ แต่ต้องพัฒนากระบวนการเพื่อให้สร้างโปรดักต์ได้ และยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ทำให้ใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างนาน

 

ควรมี co-working space สำหรับ MedTech

ดร.คัคนานต์ กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ยังไม่เติบโตคือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์นั้นมีทั้งแพทย์ พยาบาล คนไข้ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรผู้พัฒนาเทคโนโลยี กระทั่งบริษัทประกัน ซึ่งทุกคนต่างทำงานในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ได้มารวมกัน ทำให้ไม่เกิดการระดมความคิดหรือแชร์ไอเดียร่วมกันเท่าใดนัก จึงมองว่าสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพด้านการแพทย์ไทยคือการมี co-working space สำหรับธุรกิจนี้โดยเฉพาะ เพราะ co-working space ที่มีอยู่ในปัจจุบันเหมาะสำหรับธุรกิจดิจิทัลอื่นๆ มากกว่าธุรกิจการแพทย์

ดร.คัคนานต์ สรุงบุญมี

สตาร์ทอัพการแพทย์ก็เหมือนสตาร์ทอัพอื่นๆ ที่อยากมีการทดสอบไอเดีย ทดสอบผลิตภัณฑ์ พื้นที่สำหรับพบปะกับลูกค้า หรือแม้แต่สร้างบรรยากาศ อย่างที่ Chicago มี co-working space ที่มีห้องจำลองการผ่าตัดซึ่งช่วยให้นวัตกรเข้าใจสภาพแวดล้อมมากขึ้น

ดร.คัคนานต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพด้านการแพทย์อาศัยการช่วยกันเอง และออกไปพบลูกค้าอย่างโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ คลินิก แพทย์ เพื่อไปพูดคุยและนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปให้ทดลอง นั่นคือระบบนิเวศของสตาร์ทอัพการแพทย์ที่ยังไม่มีความเป็นระบบเท่าใดนัก ขณะที่นักลงทุนด้านการแพทย์ในไทยยังมีน้อยมาก โค้ชที่ปรึกษาทางธุรกิจก็หายาก สตาร์ทอัพที่มีอยู่ตอนนี้ต้องอาศัยการเรียนรู้จากธุรกิจอื่นแล้วนำมาปรับใช้ เรียกได้ว่าระบบนิเวศ ขณะนี้ยังไม่เอื้อเท่าที่ควร

 

เมดิคอล แฟร์ จัดพื้นที่เพื่อสตาร์ทอัพด้านการแพทย์

Daphine Yeo ผู้จัดการโครงการ งานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2562 หรืองานจัดแสดงสินค้าทางการแพทย์ กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปการอยู่บนฐานของนวัตกรรม และมุ่งมั่นส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ทำให้บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้จัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ ที่ในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 โดยนอกจากพื้นที่จัดแสดงตามปกติแล้ว ยังมีโซนสตาร์ทอัพ พาร์ค (Start-up Park) เพื่อจัดแสดงสินค้าเฉพาะทางแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพการแพทย์ของไทยด้วย

(คนกลาง) Daphine Yeo ผู้จัดการโครงการ งานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2562

สตาร์ทอัพพาร์คเคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่งในงานเมดิคอล แฟร์ เอเชีย ที่สิงคโปร์เมื่อปีก่อน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี เราจึงอยากขยายสตาร์ทอัพพาร์คมาที่ประเทศไทย โดยในสตาร์ทอัพพาร์คจะประกอบไปด้วยบริษัทต่างๆ 9 แห่งจากประเทศไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่นำสินค้าและนวัตกรรมมาแสดง รวมถึงมีเวทีเสวนาผู้ประกอบการ Start-Up Podium ที่ประกอบด้วยกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ เช่น การจัดเวทีเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ, เวทีนำเสนอผลงาน และเวทีอภิปรายของผู้นำอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

Yeo กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมงานแล้ว 30 ราย และยังอยู่ระหว่างรอการตอบรับอีกหลายราย ถือเป็นโอกาสอันดีของสตาร์ทอัพการแพทย์ไทยที่จะได้พบปะกับนักลงทุน

ด้าน ดร.คัคนานต์ กล่าวว่า การจัดงานเมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ครั้งนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ดีอย่างยิ่งที่มีโซนสตาร์ทอัพพาร์ค ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพการแพทย์ได้มาพบกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกับนวัตกรในวงการ รวมถึงยังได้พบกับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจการแพทย์โดยตรง ซึ่งต่างจากนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าธุรกิจการแพทย์มีความละเอียดอ่อนมาก และอาจได้ผลตอบแทนช้ากว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่น ถือเป็นการเริ่มสร้างระบบนิเวศให้สตาร์ทอัพการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

    รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine