"กรังด์ปรีซ์" ทุ่มงบแตกไลน์โรงไฟฟ้าขยะ - Forbes Thailand

"กรังด์ปรีซ์" ทุ่มงบแตกไลน์โรงไฟฟ้าขยะ

กรังด์ปรีซ์ หรือ GPI ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ลงทุนใหญ่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ พร้อมจ่ายไฟไตรมาส 3 กระจายความเสี่ยงธุรกิจลดพึ่งพารายได้จากการจัดงานแสดงสินค้า

พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาเข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 700,000 หุ้นหรือคิดเป็น 25.45% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของทรูเอ็นเนอร์จี โดยใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และจะส่งผลให้ทรูเอ็นเนอร์จี มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของ GPI “ปัจจัยที่บริษัทตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เพราะมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF เป็นธุรกิจที่มีรายได้แน่นอนและมีความสม่ำเสมอในระยะยาว เนื่องจากมีการทำสัญญาขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ชัดเจน ประกอบกับทรูเอ็นเนอร์จีเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังใช้เชื้อเพลิงที่มาจากการแปรรูปขยะชุมชน เป็นการช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” พีระพงศ์ กล่าวถึงการลงทุนครั้งใหญ่หลังจากพิจารณาโอกาสการลงทุนในธุรกิจต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับการเข้าลงทุนดังกล่าวนับเป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่ของ GPI ด้วยความเชื่อมั่นในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคงจากสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้า โดยบริษัทจะได้รับสิทธิ์เป็นกรรมการในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ส่วน ทรูเอ็นเนอร์จี จะรับผิดชอบการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนั้น พีระพงศ์คาดว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ทั้งสิ้นปีละประมาณ 400 ล้านบาทและใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี โดยมีผลต่อโครงสร้างผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทฯ ที่จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น 25.45% ในธุรกิจโรงไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้หลักจากกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดซึ่งมีสัดส่วนรายได้กว่า 84.15% ในปีที่ผ่านมา “ประเมินว่าการลงทุนครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ประเมินอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่ 11% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันที่มีแหล่งรายได้จากธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าด้านยานยนต์ เช่น งาน Bangkok International Motor Show และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจงานพิมพ์ และธุรกิจสื่อ” พีระพงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มรายได้ที่มีโอกาสเติบโตจาก 733.89 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 102.72 ล้านบาทในปี 2562 พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา พา กรังด์ปรีซ์ ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ กระจายความเสี่ยงลุยธุรกิจพลังงาน ด้าน จำรัส เตชะนิธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูเอ็นเนอรจี จำกัด ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กล่าวว่า การเข้าถือหุ้นของ GPI จะช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ทรูเอ็นเนอร์จี ซึ่งบริษัทได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 และได้ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำขยะชุมชนมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีความคืบหน้าการก่อสร้างกว่า 95% และคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า หลังจากนั้นราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานและนโยบายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ทรูเอ็นเนอร์จี ยังได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ดังนั้น หากนำมารวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต บริษัทจึงมั่นใจว่า จะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัทยังวางแผนจัดหาแหล่งขยะอื่นๆ สำรองเพิ่มเติม ด้วยการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี เป็นต้น รวมถึงได้เจรจากับภาคเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice (COP) เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง เช่น การออกแบบอาคารเป็นระบบปิด การติดตั้งปล่องระบายมลพิษทางอากาศที่มีความสูงตามหลักเกณฑ์ Good Engineering Practice มาตรการควบคุมการปล่อยสารมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐาน การติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายมลพิษแบบต่อเนื่องและตรวจวัดคุณภาพอากาศปีละ 2 ครั้ง การควบคุมคุณสมบัติเชื้อเพลิง RDF ได้ตามมาตรฐาน และการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เป็นต้น
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine