กรังด์ปรีซ์ หรือ GPI ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ลงทุนใหญ่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ พร้อมจ่ายไฟไตรมาส 3 กระจายความเสี่ยงธุรกิจลดพึ่งพารายได้จากการจัดงานแสดงสินค้า
พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาเข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 700,000 หุ้นหรือคิดเป็น 25.45% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของทรูเอ็นเนอร์จี โดยใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และจะส่งผลให้ทรูเอ็นเนอร์จี มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของ GPI “ปัจจัยที่บริษัทตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เพราะมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF เป็นธุรกิจที่มีรายได้แน่นอนและมีความสม่ำเสมอในระยะยาว เนื่องจากมีการทำสัญญาขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ชัดเจน ประกอบกับทรูเอ็นเนอร์จีเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังใช้เชื้อเพลิงที่มาจากการแปรรูปขยะชุมชน เป็นการช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” พีระพงศ์ กล่าวถึงการลงทุนครั้งใหญ่หลังจากพิจารณาโอกาสการลงทุนในธุรกิจต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับการเข้าลงทุนดังกล่าวนับเป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่ของ GPI ด้วยความเชื่อมั่นในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้มั่นคงจากสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้า โดยบริษัทจะได้รับสิทธิ์เป็นกรรมการในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ส่วน ทรูเอ็นเนอร์จี จะรับผิดชอบการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนั้น พีระพงศ์คาดว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ทั้งสิ้นปีละประมาณ 400 ล้านบาทและใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี โดยมีผลต่อโครงสร้างผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทฯ ที่จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น 25.45% ในธุรกิจโรงไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้หลักจากกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดซึ่งมีสัดส่วนรายได้กว่า 84.15% ในปีที่ผ่านมา “ประเมินว่าการลงทุนครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ประเมินอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่ 11% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันที่มีแหล่งรายได้จากธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าด้านยานยนต์ เช่น งาน Bangkok International Motor Show และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจงานพิมพ์ และธุรกิจสื่อ” พีระพงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มรายได้ที่มีโอกาสเติบโตจาก 733.89 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 102.72 ล้านบาทในปี 2562 ด้าน จำรัส เตชะนิธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูเอ็นเนอรจี จำกัด ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กล่าวว่า การเข้าถือหุ้นของ GPI จะช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ทรูเอ็นเนอร์จี ซึ่งบริษัทได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 และได้ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำขยะชุมชนมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีความคืบหน้าการก่อสร้างกว่า 95% และคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า หลังจากนั้นราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานและนโยบายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ทรูเอ็นเนอร์จี ยังได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ดังนั้น หากนำมารวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต บริษัทจึงมั่นใจว่า จะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัทยังวางแผนจัดหาแหล่งขยะอื่นๆ สำรองเพิ่มเติม ด้วยการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เทศบาลตำบลท่าตะโก เทศบาลเมืองตาคลี เป็นต้น รวมถึงได้เจรจากับภาคเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice (COP) เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง เช่น การออกแบบอาคารเป็นระบบปิด การติดตั้งปล่องระบายมลพิษทางอากาศที่มีความสูงตามหลักเกณฑ์ Good Engineering Practice มาตรการควบคุมการปล่อยสารมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐาน การติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายมลพิษแบบต่อเนื่องและตรวจวัดคุณภาพอากาศปีละ 2 ครั้ง การควบคุมคุณสมบัติเชื้อเพลิง RDF ได้ตามมาตรฐาน และการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เป็นต้นไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine