กฎหมายภาษีการรับมรดกตอบโจทย์ประเทศจริงหรือ? - Forbes Thailand

กฎหมายภาษีการรับมรดกตอบโจทย์ประเทศจริงหรือ?

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Aug 2017 | 05:31 PM
READ 5658

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกและภาษีการให้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีประเด็นคำถามว่า “กฎหมายภาษีการรับมรดกนั้นเป็นการตอบโจทย์ประเทศไทยในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำาระหว่างคนรวยกับคนจนจริงได้ตามความตั้งใจของ คสช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่?”

บทความนี้คือคำตอบผมเองเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยในเบื้องต้นที่จะนำพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกมาบังคับใช้ตั้งแต่แรก เนื่องจากมีความเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่สามารถเป็นกลไกที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่ในทางตรงกันข้าม จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินหรือทรัพย์สินให้กับต่างประเทศ เพราะเงินทองทรัพย์สินได้ถูกเคลื่อนย้ายโอนไปลงทุนอยู่ในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะความกังวลใจของเจ้ามรดก และเมื่อเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวได้ถูกส่งออกไปหรือโอนไปอยู่ต่างประเทศแล้วโอกาสที่จะนำทรัพย์สินหรือเงินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศก็เป็นการยาก ผมยอมรับว่าอัตราภาษีมรดกที่อยู่ในอัตรา 5% และ 10% ไม่ได้เป็นอัตราที่สูงถึง 20-50% แบบในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นผู้มีเงินทองก็กลัวว่ารัฐบาลอาจเพิ่มอัตราภาษีมรดกขึ้นอีกในอนาคตส่วนภาษีการให้ ก็อาจเป็นภาษีเงินได้ที่รัฐบาลอาจจะเรียกเก็บได้บางส่วน แต่ในการจัดเก็บก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เงินสดหรือการโอนเงินทางบัญชีในระหว่างครอบครัวกันเอง จากข้อมูลของกรมสรรพากรชี้ให้เห็นว่าในปีภาษี 2559 นับตั้งแต่มีกฎหมายเรื่องภาษีการรับมรดก กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้แม้แต่บาทเดียวเลยถึงแม้จะมีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าในปี 2560 มีผู้ยื่นเสียภาษีมรดกบ้างจากกองมรดกของนักการเมืองบางท่าน ผมในฐานะเป็นผู้ที่ทำงานในวิชาชีพกฎหมายภาษีอากรเห็นว่า การวางแผนภาษีมรดกของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากนัก โดยการวางแผนภาษีสามารถกระทำได้หลากหลายวิธีแตกต่างกันออกไป เช่น 1. การไม่แบ่งทรัพย์มรดกและให้กองมรดกเสียภาษีในฐานะหน่วยภาษีต่อไปเรื่อยๆ 2. การทยอยโอนทรัพย์สินให้แก่ทายาทไม่เกินปีละ 20 ล้านบาทเพื่อไม่ต้องเสียภาษีการให้ 3. การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งในการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการตั้งบริษัทโฮลดิ้งในต่างประเทศเพื่อถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ และถือครองหุ้นบางส่วนในประเทศไทย 4. การสร้างภาระผูกพันหรือก่อหนี้ในทรัพย์สินที่จะตกเป็นทรัพย์มรดกเพื่อให้มูลค่าทรัพย์มรดกที่ได้รับมีมูลค่าต่ำกว่า 100 ล้านบาท 5. การแบ่งมรดกให้ผู้รับแต่ละคนไม่เกิน 100 ล้านบาท 6. การทำพินัยกรรมยกให้คู่สมรส 7. การจัดตั้งทรัสต์แบบชนิดเพิกถอนไม่ได้ (irrevocable trust) เพื่อถือครองหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งหรือบริษัทประกอบกิจการในต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ผมเองได้เคยเขียนบทความไว้ว่า เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติกฎหมายภาษีมรดก ประเทศไทยก็ควรจะออกกฎหมายให้สามารถตั้งทรัสต์ได้ขึ้นมาเพราะมีประโยชน์หลายอย่าง กล่าวคือ ทำให้เจ้าของทรัพย์สินไม่ต้องเป็นห่วงเมื่อตัวเองแก่ลง หรือเป็นห่วงว่าทายาทจะบริหารทรัพย์สินไม่ได้ เพราะกองทรัสต์จะเข้ามามีบทบาทในการดูแลการลงทุน หรือมีรายได้ให้แก่ทายาทที่เจ้ามรดกไม่มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้ (อ้างอิง บทความ: ภาษีการรับมรดกกับกฎหมายทรัสต์ของประเทศไทย: สิ่งที่ขาดไปหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557) ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายทรัสต์โดยกระทรวงการคลังเพื่อจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป นับว่าเป็นนโยบายที่ดีผมจึงเห็นว่าร่างกฎหมายทรัสต์นี้เป็นร่างกฎหมายที่จะตอบโจทย์ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมผู้สูงอายุ และจะสามารถลดข้อพิพาทคดีมรดก รวมถึงจะทำให้ทรัพย์สินของผู้สูงอายุและทายาทได้รับการบริหารจัดการที่ดีโดยสถาบันการเงิน ผมจึงเห็นว่ากฎหมายภาษีการรับมรดกไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศที่จะใช้เป็นกลไกที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยตามเจตนารมณ์ครั้งแรกได้ ซึ่งในอีกสี่ปีข้างหน้านั้นจะมีการประเมินประสิทธิผลของกฎหมายนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าควรจะยกเลิกหรือไม่ ซึ่งผมมีความเชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ที่กฎหมายนี้ควรจะถูกพิจารณายกเลิกไปในที่สุดการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะต้องปรับโครงสร้างประมวลรัษฎากรของไทยในปัจจุบันเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษี นอกจากนี้ การตราพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เป็นธรรม และการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จะเป็นทางออกที่ดีกว่ากฎหมายภาษีการรับมรดกอย่างแน่นอน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ บริษัท เบเคอร์แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
คลิกอ่านบทความที่น่าสนใจ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine