วงจรความยั่งยืน (Sustainability Cycle) - Forbes Thailand

วงจรความยั่งยืน (Sustainability Cycle)

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jun 2016 | 01:33 PM
READ 19133

การตัดสินใจมักเผชิญความขัดแย้งอันสลับซับซ้อน เช่น ปัจจุบันกับอนาคต ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ คุณกับโทษ เป็นต้น จึงยากที่จะหาทางเลือกดีที่สุดสำหรับทุกด้านได้พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาสูงสุดประการหนึ่งคือ ความยั่งยืน

ความยั่งยืนไม่ใช่คงที่ตลอดไป เป้าหมายแห่งความยั่งยืนแบ่งออกได้หลายประเภท ตั้งแต่เจตนารมณ์ การกระทำ กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ จนถึงระบบ เช่น องค์กร สังคม เป็นต้น สิ่งที่สนใจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงทิศทางแนวโน้ม อัตราและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เรียกว่า กระแส ไม่ว่ากระแสความคิด กระแสนิยม กระแสสังคม ก็ล้วนเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

ความยั่งยืน หมายถึง ความสามารถในการดำรงสภาพอยู่ได้ต่อไปยังอนาคต ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ตามวงจรการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก โดยมีสามองค์ประกอบเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งต่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เกี่ยวโยง และวนเวียนกันเป็นกลไกควบผสมเรียกว่า วงจรความยั่งยืน เรื่อยไปเป็นเวลายาวนาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร วิริยะอุตสาหะ อดทนอดกลั้น

เงื่อนไขแรก ความอยู่รอด ได้แก่ เผชิญรอดพ้นผ่านการดำเนินงาน การดำเนินชีวิต ผ่านการแข่งขันต่อสู้เอาเปรียบ ผ่านการทดสอบยอมรับของสังคม ตลาด คู่ค้า เจ้าหนี้ เจ้าของ พนักงานและคู่กรณีทั้งหลาย รวมถึงภัยอันตรายและวิกฤตการณ์ เรียกรวมว่า ผ่านกระบวนการประเมิน คือรับกับเหตุการณ์หรือปัจจัยภายนอก ในวิถีทางที่ถูกที่ชอบจะช่วยนำทางต่อไปสู่ความเจริญ

ถัดมา ความเจริญ ได้แก่ พัฒนาก้าวหน้าผ่านการบำรุงรักษาซ่อมแซม ผ่านการทบทวนฝึกฝนเรียนรู้ ผ่านการสร้างเสริมแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเหมาะสมขึ้น เรียกรวมว่า ผ่านกระบวนการวิวัฒน์ คือปรับปัจจัยภายในให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น continuous improvement และ sustainable development

บางครั้งความอยู่รอดอาจพามาถึงความเจริญได้ เพราะลอยตามกระแส หากเป็นวิถีทางที่ไม่ถูกไม่ควรแล้ว คงจะลอยต่อไปอีกไม่นาน ไม่สำคัญว่าจะริเริ่มกระแสด้วยตัวเอง นำกระแสหรือตามกระแสคนอื่น วิถีทางที่ถูกที่ควรถือว่าสำคัญที่สุด

สุดท้าย ความสำเร็จ มีสามองค์ประกอบ โดยแต่ละประเภทต้องเพียงพอต่อเงื่อนไขในรอบต่อไป ได้แก่ สัมฤทธิ์ผ่านการแสดงนัย ผลงานและผลที่ตามมา จากการดำเนินงานตามกระแสความคิด เมื่อเทียบกับเป้าหมาย ความคาดหวัง ผ่านการสร้างภูมิแบบแผนผสมผสานเป็นความรู้ ความชำนาญ วัฒนธรรม กลไก กระบวนการและโครงสร้าง ซึ่งเป็นสมรรถภาพกำลัง พร้อมกับผ่านการส่องทิศ แนวทางชีวิต ทัศนคติ แนวคิด สติปัญญาและภาวิตญาณ ซึ่งเป็นคุณภาพที่กำหนดทิศทางดำเนินชีวิต เรียกรวมว่า ผ่านกระบวนการประยุกต์ คือปรับใช้ปัจจัยภายในและภายนอกที่ต่างไปให้สัมฤทธิ์ผล ทั้งรูปธรรมและนามธรรมในการปฏิบัติ ปฏิรูป และปฏิวัติชีวิต

ส่วนข้อจำกัดนั้นเป็นลักษณะปกติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะมิติเวลา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเวลาและมีอายุ การสืบสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกความยั่งยืน โดยการถ่ายทอดส่งผ่านทักษะ สัญชาตญาณ ความสามารถ และประสบการณ์ข้ามข้อจำกัดทางเวลาไปสู่รุ่นถัดไป

วิธีการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด อาจช่วยนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น ควบรวมกิจการ แยกขายกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ออกสินค้ามาแย่งตลาดตัวเอง เป็นต้น ความยั่งยืนไม่จำเป็นจะต้องเติบโตขยายตัวในปัจจัยเชิงปริมาณเสมอไป ในขณะที่ปัจจัยเชิงคุณภาพจะสำคัญมากยิ่งกว่า

หลักคิดเชิงคุณภาพที่สำคัญ ตามหลักของโอวาทปาติโมกข์ ได้แก่ ห้ามทำ ละลดเลิก ไม่ทำเองและยับยั้งต่อต้านผู้อื่นในสิ่งไม่ดี สิ่งไม่ควร ให้ทำ กระทำเองและสนับสนุนส่งเสริมผู้อื่นในสิ่งดี สิ่งอันควร และหาธรรม แสวงหาและรักษาดุลยภาพในทุกกิจกรรมทุกปัจจัย ทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ในระดับบุคคลและกลุ่มสังคม ซึ่งต่างสัมพันธ์กันและต้องพึ่งพาอาศัยกัน

การให้ ช่วยเหลือ สนับสนุนส่งเสริม และยกย่องในสิ่งที่ดีงาม ล้วนเป็นการกระทำในเชิงเพิ่ม แต่สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย คือการกระทำในเชิงลด ได้แก่ การห้ามปราม ต่อต้าน กำจัดขัดขวางและประนามในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นรากฐานทางพฤติกรรมที่สำคัญมาก ทั้งสำหรับองค์กรและประเทศ เพราะต้องอาศัยความเก่งกล้ามุ่งมั่นแน่วแน่ของบุคคล ตลอดจนค่านิยมและวัฒนธรรมในแต่ละระดับอีกด้วย

ความยั่งยืนเปรียบเสมือนการเดินทางที่ไม่จบสิ้น บนเส้นทางร่วมที่แปรผันตามเวลา จากจุดตั้งต้นในปัจจุบัน ไปยังจุดหมายในอนาคตเช่นนี้ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ปัจจัยเริ่มต้นคือความรู้ความเข้าใจ เห็นตรงเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ ตามด้วยความคิดความเชื่อความตั้งใจ ดำริถูกดำริชอบ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งต้องมีปัญญาเป็นเครื่องนำทางให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามชอบใจ ในทางปฏิบัติจึงต้องพัฒนากรอบความคิดขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวช่วย เช่น หลักการ แนวคิด ทฤษฎี มาตรฐาน นโยบาย เป็นต้น

การเดินทางหรืออยู่ร่วมกันในองค์กรและสังคม ต้องอาศัยกลไกการเกี่ยวโยงผูกพันเชื่อมต่อผสมผสานหลอมรวมกัน ให้สอดคล้องตามหลักพรหมวิหาร ได้แก่ ผูกสัมพันธ์มีปฏิสัมพันธ์กัน ติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกัน ตกลงเห็นพ้องประสานกัน ร่วมมือร่วมงานกัน ร่วมคิดร่วมทำร่วมด้วยช่วยกัน และที่จะขาดไม่ได้ก็คือ กำกับประคับประคองกันเข้มงวดกวนขัน และสามัคคีร่วมใจกัน

รากของปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ล้วนอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพราะสังคมเป็นระบบการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ส่วนเศรษฐกิจเป็นแบบแผนการบริหารจัดสรรและจัดการทรัพยากรทางสังคม อันเป็นที่มาของความขัดแย้ง

ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การรักษาปัจจัยเชิงคุณภาพ ไม่ว่าด้านเสถียรภาพ (stability) ดุลยภาพ (suitability) พลวภาพ (adaptability) และสมรรถภาพ (capability) จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว บนพื้นฐานของความไม่แน่นอนหลายมิติ อันนำไปสู่การแจกแจงโอกาสกับภัยคุมคาม มากกว่าการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับระบบและความต้องการ

ความยั่งยืนยังเป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของการบริหารความเสี่ยง การบริหารการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการกำกับดูแลกิจการ จึงต้องมีอยู่ในทุกส่วนทุกกิจกรรมขององค์กร ทั้งคิดพูดทำ ทั้งในวิสัยทัศน์ แผน เป้าหมาย กระบวนการ และผลงานผลิตภัณฑ์บริการ ต้องอยู่ในจิตสำนึก ถึงจะรับและปรับตัวได้เร็วพอหรือทันเหตุการณ์

เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้ว ต้องนำมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ถ้าตัวเองหรือองค์กรยังปฏิบัติจริงด้วยตัวเองไม่ได้ คงยากที่จะกระทำต่อผู้อื่นได้ เข้ากับภาษิตว่า หากจะช่วยคนอื่น ต้องช่วยตัวเองให้ได้ก่อน ใกล้ตัวสู่ไกลตัว ภายในสู่ภายนอก มาจากจิตใจมีจิตสำนึกตระหนักรู้ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นกิริยามารยาทนิสัยความเคยชิน อันเป็นที่มาของระเบียบข้อบังคับกฎหมายเพื่อกำกับดูแลปกครอง ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบภายนอก แต่อาจช่วยหล่อหลอมจิตใจภายในของคนให้ดีขึ้น โดยหวังให้เป็นกลไกการขัดเกลาตัวเอง

ความยั่งยืนเป็นคุณสมบัติในการดำรงรักษาสภาพของตนเอง ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติสภาพแวดล้อม หมุนไปกับวงจรการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเพียงพอเหมาะสม ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งส่วนบุคคล ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ตั้งแต่ความคิด คำพูด การปฏิบัติถึงผลลัพธ์ เวลาเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยนได้ วงจรความยั่งยืนจึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสู่ความยั่งยืนในการดำรงชีวิตบนทางสายกลางอย่างพากเพียร ด้วยสติปัญญารู้จักพอประมาณ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง


ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)


คลิ๊กอ่านบทความเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine