รายงานพิเศษ: งานเสวนา Forbes Thailand Forum 2022: THINK AHEAD, FUTURE NEXT - Forbes Thailand

รายงานพิเศษ: งานเสวนา Forbes Thailand Forum 2022: THINK AHEAD, FUTURE NEXT

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jun 2022 | 12:46 AM
READ 2955

6 มิถุนายน 2565 นิตยสาร Forbes Thailand จัดงาน Forbes Thailand Forum 2022: THINK AHEAD, FUTURE NEXT” งานเสวนาใหญ่ประจำปีขึ้นที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

โดยปีนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบการดำเนินธุรกิจ 9 ปี Forbes Thailand เป็นก้าวย่างแห่งการเติบโตที่ต้องเผชิญขวากหนามมากมาย ทั้งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสื่อสู่ยุคดิจิทัล และยังเผชิญวิกฤตผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจประสบภาวะขาดทุน หลายธุรกิจต้องปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลง นำสู่วิถีใหม่ของการทำธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นที่มาของเวทีระดมสมองเพื่อมองภาพอนาคตธุรกิจเศรษฐกิจและก้าวย่างที่จำเป็นในวันข้างหน้า “THINK AHEAD, FUTURE NEXT” ซึ่งทุกคนล้วนเห็นตรงกันว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง คนทำธุรกิจและผู้นำเศรษฐกิจจำเป็นต้องมองอนาคตด้วยบริบทใหม่ให้ชัดเจน เพื่อก้าวให้ทันปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อันจะนำไปสู่ความเจริญเติบโตและยั่งยืน ในโอกาสนี้ Forbes Thailand ได้ระดมสมองผู้นำธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Thailand Future Economic” ความท้าทายของไทยจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Thailand Future Health Challenge” อนาคตและความท้าทายด้านสุขภาพ ไทยต้องพร้อมรับมืออย่างไร วรชัย พิจารณ์จิตร รองประธานกรรมการ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Forbes Thailand ครบรอบดำเนินการ 9 ปีในไทย สร้างการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องและดำเนินการโดยมีผลกำไรมาตลอด เป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นสื่อมืออาชีพด้านธุรกิจเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับ งานในวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการระดมสมอง เพื่อร่วมกันมองโอกาสเศรษฐกิจและธุรกิจในวันข้างหน้า หลังจากทุกคนได้ผ่านวิฤตใหญ่การแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบมากมายกับหลายธุรกิจ วิทยากรในวันนี้มีทั้งผู้นำนโยบายเศรษฐกิจ ผู้นำนโยบายด้านสุขภาพ และผู้นำธุรกิจต่างๆ ให้เกียรติมาร่วมถ่ายทอดแนวคิด ประสบการณ์ และนโยบายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงอัพเดทสถานการณ์โรคระบาด เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกท่านนำไปพิจารณาปรับปรุงการบริหารกิจการตามความหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมประกาศให้ “โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในไทย” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้การดำเนินชีวิตและธุรกิจเดินหน้าเป็นปกติ แม้จะยังมีการแพร่ระบาด แต่ด้วยความพร้อมที่ประชากรในประเทศได้รับวัคซีนครบตามมาตรฐานสากล และความรุนแรงของโรคลดลงมาก จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงลดลง แต่ถึงกระนั้นทุกคนยังต้องใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Thailand Future Economic” กล่าวถึงสถานการณ์ทางด้านการบริหารการเงินและงบประมาณของภาครัฐ โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินเพื่อพยุงสถานการณ์ทางการเงินจากผลกระทบของการแพร่กระจายของโควิด-19 รัฐบาลได้กู้เงิน 3 พันล้านบาท ในปี 2563 และ 5 แสนล้านบาท ในปี 2564 เพื่อนำมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19, การนำเงินใช้เยียวยาประชาชนที่ตกงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ที่โอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเป็นจำนวน 6.6 แสนล้านบาท สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่เดินทางมาเกือบครึ่งปี อาคมกล่าวย้อนไปถึงไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของประเทศบวก 2.2 เปอร์เซ็นต์ โดยปีนี้ความท้าทายของประเทศคือปัญหาเรื่องน้ำมัน ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ตามที่หลายๆ สำนักทางเศรษฐกิจได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อปี 2564 อยู่ในระดับที่ 1.6 ซึ่งถือว่าไม่ได้เติบโตมากหากเทียบประเทศในอาเซียน แต่การเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องจะนำมาซึ่งความยั่งยืน โดยค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยของปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3-3.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไตรมาสที่เหลือต้องทำให้ GDP เติบโตอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ “ถ้าเรามองโลกในแง่ร้าย เราก็ต้องมองโลกในแง่ดีด้วย เรามองโลกในแง่ดีจากสถานการณ์โดยรอบ จากสถานกาณ์โควิดที่กำลังจะไปจากเรา” อาคม รมว.การคลังกล่าว โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต จากสถานการณ์การแพร่กระจายของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีการกู้เพื่อความบรรเทาสถานการณ์การแพร่กระจายของโควิด-19 ประเทศอื่นๆ ก็กู้เงินเพื่อเยียวยาในสถานการณ์ ทำให้สถานการณ์รัฐบาลในหลายๆ ประเทศต้องมีการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลใหม่อาทิการปรับฐานภาษีใหม่ สำหรับประเทศไทยเราได้เตรียมการจัดเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มด้านอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เป็นต้น แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือด้าน Wealth and Health เรื่องสุขภาพจะมีส่วนความสำคัญและเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุน เราจะเริ่มเห็นโอกาสการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สนับสนุนความเป็นอยู่ในเรื่องสุขอนามัย กับเทรนด์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย "ที่ผ่านมาเราจะเห็นการนำเรื่องการท่องเที่ยวบวกสุขภาพเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ตอนนี้เราจะได้เห็นในเรื่องของ  อสังหาฯ บวกสุขภาพจะเป็นโอกาสต่อไป" นอกจากนี้ในด้านการสนับสนุนการลงทุน รัฐบาลให้การสนับสนุนทางด้านภาษีที่เกี่ยวข้องภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง สำหรับเรื่องของสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เราได้ปรับกฎระเบียบด้านภาษีในการลงทุนของกลุ่ม Venture Capital จากต่างประเทศ ในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและกระตุ้นการระดมทุนให้เกิดภายในประเทศไทยและช่วยกลุ่มสตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตต่อไปเป็นต้น "วันนี้การบริหารเศรษฐกิจของประเทศมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือการเติบโต ความมีเสถียรภาพ และความต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโจทย์ทั้ง 3 ข้อเป็นโจทย์ยาก" อาคม กล่าวทิ้งท้าย ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Thailand Future Health Challenge” อนาคตและความท้าทายด้านสุขภาพ สรุปใจความสำคัญได้ว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายโควิด-19 หลังยอดติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้น ล่าสุดสถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอนทั่วโลกได้ลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของการระบาดการโควิด-19 ในทั่วโลก และลดระดับการแพร่กระจายเป็นโรคประจำถิ่น สำหรับความพร้อมของประเทศในการปรับสถานการณ์การแพร่กระจายโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ล่าสุดจำนวนเสียการชีวิตของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.09 ของประชากรไทยซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเป็นทิศทางที่ดีเพราะอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือการพัฒนาความสามารถในการผลิตวัคซีนได้เองภายในประเทศซึ่งเป็นไปเพื่อความมั่นคงของประเทศและยังเป็นโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ ยิ่งถ้าเรามองประเทศในกลุ่ม CLMV คิดว่านี้จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศอย่างแน่นอน

จับตาปัจจัยกระทบเศรษฐกิจ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวโดยเสริมว่าการแพร่กระจายของสถานการณ์โควิด-19 ในทั่วโลกทำให้สะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Globalization, Digitalization และ Climate Change ที่สามารถมองทั้งในแง่ลบและแง่บวกไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเดินทางของผู้คนที่ทำให้การแพร่กระจายของไวรัสจากคนสู่คนไปทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้เราสามารถแบ่งปันความรู้และวิทยาการให้กับคนในอีกมุมโลกด้วยเช่นกัน โดยเรี่องที่น่าเป็นกังวลและเป็นสัญญาณอันตรายคือเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานของสัตว์ที่มีเชื้อต่างๆ ติดตัว และนำไปสู่การแพร่ระบาดในอนาคต “เชื้อไวรัสปรับเปลี่ยนตัวเองเก่ง เราสู้กับเชื้อไวรัสเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นไวรัสโคโรน่าที่ระบาดในรอบแรกคือซาร์ส รอบสองคือเมอร์ส รอบสามคือโควิด-19 ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรน่านี้เราต้องจับตามองต่อไป”

เวทีสัมมนา “The Next Challenge”

สำหรับ การเสวนาทั้ง 2 เวที ดำเนินรายการโดย วิทย์ สิทธิเวคิน เวทีแรก “The Next Challenge” ความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เราพร้อมรับมืออย่างไร โดย ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกระดับโลก และ วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานทางเลือก The Next Challenge กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ โดยเรียนรู้จากความท้าทายที่เราได้เผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 จนไปถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสงครามที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น วันดี ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น “นักธุรกิจมือสมัครเล่นในส่วนของพลังงานหมุนเวียน” มั่นใจว่า ประเทศไทย สามารถเป็นผู้นำระดับโลกด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ ในปัจจุบันไทยก็ได้มีแผนพร้อมใช้พลังงานสะอาดนี้ถึงกว่าหมื่นเมกะวัตต์ โดยพลังงานที่จะนำมาใช้เป็นหลักคือ พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับแสงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ และพลังงานขยะ อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะครัวเรือนไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ นอกจากการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วยังมองว่าการสร้าง Circular Economy ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักธุรกิจจะสามารถแบ่งเบาภาระสังคม และทำ CSR ไปในตัวได้ผ่านการจับจ่ายใช้สอยสินค้าท้องถิ่น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจครัวเรือนนั่นเอง ในขณะเดียวกัน ภวัฒน์ ก็เห็นพ้องว่า แม้ว่าโลกจะผันผวนจนคาดเดาได้ยาก แต่สิ่งที่คาดเดาได้ง่ายที่สุดคือ การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้น นอกจากจะช่วยนักธุรกิจประหยัดต้นทุนได้แล้ว ยังเป็นทางออกของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ภวัฒน์ ยังยึดมั่นในหลัก “USE” โดยมุ่งใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ (Utilize), ประหยัดการใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็น (Save) และเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด (Efficiency) อีกทั้ง ภวัฒน์ ยังยึดมั่นในวลี “Be ready to take the next opportunity” โดยกล่าวว่านักธุรกิจควรมีความพร้อมอยู่เสมอ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายหากดำเนินการตามหลัก “4C” อันประกอบไปด้วย การท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลา (Challenge) และไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง อ้าแขนรับสิ่งใหม่ (Change) เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะนำไปสู่โอกาส (Chance) และพร้อมร่วมมือกับผู้อื่นอยู่เสมอ (Collaborate)

เวทีสัมมนา "World New Business"

ด้านการเสวนา Panel Discussion : World New Business เริ่มต้นที่ประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์    โควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนในหลากหลายมิติ จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทางบริษัทโชคดีที่ได้ร่วมงานกับพาร์ตเนอร์และ maintenance ที่ดี ทำให้ก้าวทันสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเชื่อมโยงศักยภาพที่มีเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน” สิ่งที่ เจ.อาร์. ปรับตัวมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ในส่วนของงานระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ด้าน สุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะต้องเข้ามารองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์รายใหญ่ สุมาลี ยึดมั่นในวลี “Think Global, Act Local” ที่ตระหนักถึงศักยภาพของคนท้องถิ่นในด้านการศึกษาและการทำงาน ด้วยการส่งไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดคลื่นแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดแผนงานภายใน ร่วมกับการผนึกกำลังพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่ ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด ผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging) เผยว่า “นวัตกรรม คือ สิ่งที่ทำให้อยู่รอด ไม่เฉพาะแต่สินค้าและบริการใหม่ๆ แต่หมายรวมถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นในการพลิกโฉมธุรกิจอาหาร” เมื่อโลกเปลี่ยนไปทุกคนจำเป็นต้องปรับตัว แต่จะปรับอย่างไรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนาม สร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจธุรกิจของตนเองและประเทศชาติ เวทีเสวนาวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้ทุกท่านได้ร่วมกันวิเคราะห์ ด้วยมุมมอง-ประสบการณ์-และองค์ประกอบความเป็นไปได้ต่างๆ เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งเทคโนโลยีวันนี้เชื่อมโลกเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ธุรกิจ-เศรษฐกิจจึงผูกโยงร้อยเรียงถึงกันในทุกพื้นที่ทั่วโลก - Forbes Thailand รายงาน  

- Forbes Thailand Forum 2022 VDO Interview -

ภาพรวมการจัดงาน Forbes Thailand Forum 2022: THINK AHEAD, FUTURE NEXT https://youtu.be/2OynZWsVk1U   ช่วงปาฐกถาพิเศษ “Thailand Future Economic & Health Challenge” https://youtu.be/-7zUEVlWs_w   Panel 1 "Future World Business" และ Panel 2 "The Next Challenge" https://youtu.be/aXuh-NT1oes  

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine