บริษัททั่วโลกพร้อมลงทุนสุขภาพให้พนักงาน เพื่อคุมงบประมาณ - Forbes Thailand

บริษัททั่วโลกพร้อมลงทุนสุขภาพให้พนักงาน เพื่อคุมงบประมาณ

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jul 2014 | 07:16 AM
READ 2927

บริษัทวิจัยระดับโลกสำรวจพบนายจ้างเริ่มตื่นตัวดูแลสวัสดิการสุขภาพให้พนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย พร้อมจ่ายเงินซื้อโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพเพื่อคุมต้นทุนไม่ให้บานปลาย ส่วนไทยยังทรงตัวในสองปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็นอันดับสองของเอเชียแปซิฟิก

 

 

Towers Watson บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลธุรกิจระดับโลกระบุว่า แม้ตอนนี้ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพของพนักงานทั่วโลกยังคงที่ แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปี 2013 นายจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 8.8% มีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ และคาดว่าในปี 2014 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 9.3%  ทั้งนี้ยังพบอีกว่าโปรแกรมส่งเสริมด้านสุขภาพกำลังเป็นที่แพร่หลายในทุกภูมิภาค สอดรับกับความต้องการของนายจ้าง ที่แสวงหาวิธีการจัดการด้านงบประมาณเพื่อไม่ให้เพิ่มสูงจนเกินไป

 

ในรายงานการสำรวจแนวโน้มด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลกประจำปี 2014 หรือ The 2014 Towers Watson Global Medical Trends Survey ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากบริษัทประกันสุขภาพชั้นนำ 173 บริษัท ใน 58 ประเทศ พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพของพนักงานทั่วโลกในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 8.3% หากเทียบกับสองปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 7.9% และ 7.7% ตามลำดับ ถือว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะพบว่ามีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก

 

นายแฟรนซิส โคลแมน ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาระหว่างประเทศ Towers Watson ชี้แจงว่า แม้ค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานดูเหมือนจะคงที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะนายจ้างทั่วโลกยังคงเน้นควบคุมค่าใช้จ่ายขององค์กรไม่ให้สูงขึ้นมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกภูมิภาคมีอัตราค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อ ความกังวลจึงตกหนักกับนายจ้าง เนื่องจากบริษัทประกันส่วนใหญ่มีแผนปรับราคาเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี

 

นายคริส เม ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลด้านสวัสดิการ Towers Watson ประจำประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในไทยว่า สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานในปี 2012 และ 2013 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% ต่อปีเท่านั้น นับว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2014 นี้ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.7% หรือ 6.5% จากฐานอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

จากรายงานการสำรวจพบว่า บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งในทุกภูมิภาค (55%) คาดหมายแนวโน้มของสวัสดิการด้านสุขภาพว่าจะเพิ่มขึ้น หรืออาจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอีกสามปีข้างหน้านี้ เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ โดยบริษัทประกันที่เข้าร่วมการสำรวจมากกว่า 2 ใน 3 (69%) คาดว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือการดูแลทางการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญในอีกสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมของพนักงาน ยังมาจากพฤติกรรมของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่มากเกินความจำเป็น รวมไปถึงแรงจูงใจด้านผลตอบแทน ปัจจัยต่อมาก็คือเชื่อว่า ผู้ทำประกันมองหาโปรแกรมประกันไม่เหมาะสมกับตัวเอง

 

รายงานการสำรวจของปีนี้ยังพบสององค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ได้แก่พฤติกรรมของพนักงานหรือพฤติกรรมของผู้ให้บริการด้านสุขภาพโดยเทียบกับปัจจัยภายนอก เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆทางการแพทย์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และแรงจูงใจทางด้านผลตอบแทนที่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะได้รับ  ในส่วนพฤติกรรมของพนักงานหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพนั้น 3 ใน 4 (78%) ของบริษัทประกันชีวิตทั่วโลกกังวลว่าผู้ให้บริการด้านสุขภาพมักจะแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่มากเกินความจำเป็น ในส่วนปัจจัยที่สอง (45%) เชื่อว่าผู้ประกันตนจำนวนมากมองหาแผนประกันที่ไม่เหมาะกับตน ปัจจัยลำดับที่สามคือจำนวนบริษัทประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจโยงไปถึงการมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีพอนั่นเอง

 

การใช้บริการเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพแบบมีพันธะสัญญา (63%) และการบริการอนุมัติล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยใน (68%) ยังคงอยู่ในโปรแกรมการจัดการค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพสามอันดับแรก แต่อย่างไรก็ตามบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่ (71%) มักจะวางข้อจำกัดในบริการบางประเภท เพื่อใช้เป็นข้ออ้างอิงในการรักษาพยาบาลบางรายการโดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

 

ด้าน ดร.ราเจชรี พาเรค ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพองค์กร Towers Watson เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากรายงานพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของนายจ้างภายในภูมิภาคเอเชีย ได้ผนวกโปรแกรมการดูแลสุขภาพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าไว้กับโปรแกรมสุขภาพขององค์กร เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์

 

“สิ่งนี้ช่วยทำให้นายจ้างเห็นว่าพวกเขาสามารถจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ในภาพรวม โดยพนักงานสามารถมีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองได้ในระยะยาว และช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน วิธีการจัดการค่าใช้จ่ายแบบใหม่นี้ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนายจ้างจะเห็นผลตอบแทนที่จับต้องได้จากการลงทุนด้านนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสุขภาพกายที่ดีขึ้นของพนักงาน หรือ ความสุขที่เพิ่มขึ้นในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางธุรกิจอีกด้วย” ดร.พาเรคกล่าว

 

ด้าน มร.คริส กล่าวเสริมว่า แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของโปรแกรมด้านการดูแลสุขภาพส่งผลรวมถึงประเทศไทยด้วย บริษัทต่างๆ เริ่มหันมาใช้มาตรการการป้องกันเพื่อพัฒนาสุขภาพของพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแผนการช่วยเหลือ (Employee Assistance Plans) ในช่วงเวลาที่พนักงานมีความเครียด หรือการจัดให้มีการตรวจสุขภาพ หรือประเมินผลด้านความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรับทราบและเข้าใจถึงสถานะทางด้านสุขภาพของตนเอง


ทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ในปัจจุบันหลายองค์กรในประเทศไทยต่างเริ่มยอมรับแนวคิด “Happy Workplace” มากขึ้น เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต และสุขภาพของพนักงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของพนักงานลงได้ในอนาคต

 

TAGGED ON