บมจ.เซนต์เมด (SMD) ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจและช่วยชีวิต
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยจะเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและผลักดันการดำเนินงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากวิสัยทัศน์ ‘มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจและช่วยชีวิต’
นอกจากนี้ การได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกกว่า 30 ราย ยังช่วยให้ SMD มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีเหนือคู่แข่งและสนับสนุนแผนงานการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับฐานลูกค้าในอนาคต
รวมถึงการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากทีมบริการหลังการขายที่มีความชำนาญและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ต่อยอดสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่
การให้บริการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ และ การร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่ง ดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยได้ตระหนักถึงอันตรายจากการนอนกรนและหยุดหายใจในขณะนอนหลับมากขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวว่า ปัจจุบัน SMD ดำเนินธุรกิจใน 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย
1.)
ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ที่แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยหนักและห้องฉุกเฉิน เช่น เครื่องช่วยปั๊มหัวใจระบบอัตโนมัติ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบเออีดีและแบบใช้ในโรงพยาบาล เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพพร้อมระบบศูนย์กลางและระบบเทเลเมดิซีน
กล้องส่องหลอดลมเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจระบบวีดีทัศน์เครื่องวัดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดใช้ข้างเตียงผู้ป่วย และชุดแขวนอุปกรณ์ทางการแพทย์
2.กลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและการนอนหลับเช่น เครื่องตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติขณะนอนหลับ เครื่องเฝ้าติดตามความดันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
ขณะนอนหลับเครื่องช่วยหายใจซีแพพสำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันสำหรับผู้ป่วยหนัก เครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง เครื่องสั่นสะเทือนผนังทรวงอกเพื่อไล่เสมหะออกจากถุงลม กล้องส่องทางเดินหายใจระบบวีดีทัศน์ และเครื่องฟอกอากาศบริสุทธิ์ ระดับ ISO 1

3.กลุ่มสินค้าด้านหทัยวิทยา เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติการทำงานของหัวใจ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีด เครื่องทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพาติดตัว 24 ชั่วโมง
เครื่องวิเคราะห์การใช้พลังงานขณะออกกำลังกายเครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกายแบบไร้สายพร้อมชุดออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูหัวใจ และเครื่องวัดอัตราการไหลของเลือดในเส้นเลือดขณะทำการผ่าตัดหัวใจ
4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับการใช้งานทั่วไป เช่นโคมไฟผ่าตัด เตียงผ่าตัด โคมไฟทำหัตถการเล็ก เครื่องส่องตรวจตา หู คอ จมูก ชุดใส่ท่อช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย รถเข็นทางการแพทย์ รถเข็นกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน และเครื่องวัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผาก
5.กลุ่มสินค้าสมาร์ทฮอสพิทอล เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ทำให้โรงพยาบาลดูทันสมัย และอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในการปฏิบัติงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดการรายงานผลและจดบันทึกด้วยกระดาษ อีกทั้งยังเชื่อมต่อข้อมูลเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวเข้ากับระบบ Hospital Information System หรือระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องวิเคราะห์ดัชนีมวลกาย เครื่องวัดความดันโลหิตที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดดัชนีมวลกาย
และ 6.กลุ่มอุปกรณ์ประกอบการใช้งาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบการใช้งานเครื่องมือแพทย์ใน 5 กลุ่มสินค้าดังกล่าวข้างต้น
และ 2.)
กลุ่มธุรกิจให้บริการ โดยให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์หลังการขาย และให้บริการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบริการตรวจการนอนหลับ เพื่อสร้างความมั่นคงของรายได้ในระยะยาว
กำพล ชัยสุภัคสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าฝ่ายบัญชีและการเงิน SMD กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561 – 2563) บริษัทฯ มีรายได้มีจากการขายและบริการรวม 506.03 ล้านบาท 618.63 ล้านบาท และ 660.94 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละร้อยละ 14.29 โดยมีสัดส่วนรายได้หลักจากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.2
ซึ่งมีฐานลูกค้าหลัก คือ กลุ่มโรงพยาบาลรัฐคิดเป็นร้อยละ 71.07 จากความต้องอุปกรณ์การแพทย์ของภาครัฐที่เพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำไรสุทธิปี 2561-2563 ทำได้ 30.52 ล้านบาท 60.44 ล้านบาท และ 77.75 ล้านบาท ตามลำดับ หลังประสบความสำเร็จในการขายสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงได้มากขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น
เอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SMD มีศักยภาพเติบโตสูงจากข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขัน จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนาน ได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก
รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นโอกาสรุกขยายธุรกิจอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับแผนลงทุนกลุ่มโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถการให้บริการทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
ในช่วงปี 2564-2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐด้าน สาธารณุสขที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ รองรับนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อีกด้วย

ปัจจุบัน SMD มีทุนจดทะเบียนจำนวน 107 ล้านบาท แบ่งเป็น 214 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 80 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 54 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 25.23 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ
โดยภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับและลงทุนในเครื่องมือแพทย์ให้เช่า ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการและชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะนำ SMD จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในปี 2564 นี้
อ่านเพิ่มเติม:
“Think like a CEO” ไอบีเอ็ม เผยโอกาสผ่านเลนส์ผู้บริหาร 3,000 คนทั่วโลก
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine