นักการเมืองหัวปฏิรูปขวัญใจมหาชนพลาดตำแหน่งนายกฯ - Forbes Thailand

นักการเมืองหัวปฏิรูปขวัญใจมหาชนพลาดตำแหน่งนายกฯ

รัฐสภาแห่งประเทศไทยปฏิเสธความพยายามของนักการเมืองหัวก้าวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องหลงอยู่ในวังวนทางการเมือง ทั้งยังเพิ่มความกดดันทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


    การลงคะแนนเสียงเมื่อวันพฤหัสบดีสร้างความขุ่นเคืองใจแก่ผู้สนับสนุนพิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยพิธาเคยมอบความหวังการปฏิรูปเพื่อความก้าวหน้าในด้านต่างๆ

    พิธา วัย 42 ปี ได้รับการเสนอชื่อจากแปดพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเขาชิงตำแหน่งเพียงหนึ่งเดียวในวันพฤหัสบดี แต่เขาได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 324 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 750 คนอันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยพิธายังขาดอีก 52 เสียงเพื่อให้ได้ 376 เสียงในการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560

    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน มาจากการเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากการแต่งตั้งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองจากการทำรัฐประหารปี 2557

    ก่อนการลงคะแนนเสียงในวันพฤหัสบดี โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าจะมีการลงคะแนนเสียงรอบสองถ้าจำเป็นในวันที่ 19 กรฎาคม ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ว่าเป็นวันที่แน่นอนหรือไม่ หรือพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อใครนอกจากพิธาหรือเปล่า

    ความล้มเหลวของพิธาในการรวบรวมคะแนนเสียงแม้พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจจากประชาชน และอาจนำไปสู่การลงถนนของบรรดาผู้สนับสนุน พรรคก้าวไกลเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่เยาวชนรุ่นใหญ่ผู้ปรารถนาความเปลี่ยนแปลงหลังเก้าปีภายใต้ระบอบประยุทธ์

ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลรวมตัวให้กำลังใจด้านนอกรัฐสภาขณะมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566


    มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านจากช่วงเวลาอันยาวนานโดยปราศจากนายกรัฐมนตรีที่จะมาสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกชาวไทยปฏิเสธจากผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ออกมาว่าพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะไปเหนือความคาดหมาย โดยเมื่อวันพุธ ประยุทธ์ประกาศวางมือทางการเมือง แต่จะยังทำงานรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อจนกว่าทางรัฐสภาจะอนุมัติผู้นำคนใหม่

    ในโค้งสุดท้าย อุปสรรคมากมายถูกนำมาวางขัดขวางการลงคะแนนเสียงของพิธา ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับจากฝั่งอนุรักษ์นิยม ก่อนหน้านั้นเมื่อวันพุธ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภาของพิธาจากเหตุถือหุ้นบริษัทสื่อซึ่งผิดกฎระเบียบการเลือกตั้ง

    อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องที่กล่าวหาว่าการกระทำของพิธาและพรรคก้าวไกลในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยนั้นเทียบเท่ากับการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    เนื้อหาหลักของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ห้ามไม่ให้ว่าร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ใดฝ่าฝืนอาจต้องระวางโทษจำคุกถึง 15 ปี กว่าหลายทศวรรษที่ข้อกฎหมายอันเป็นที่กังขาและคลุมเครือนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือในการบดขยี้ขั้วตรงข้ามทางการเมือง และเหล่าบุคคลที่ต่อต้านสถาบัน

    พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุด 151 ที่นั่ง รองลงมาคือ 141 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทยซึ่งมีความเชื่องโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ตอนนี้พักอาศัยอยู่นอกประเทศ ทั้งสองพรรคร่วมด้วยพันธมิตรอีกหกพรรครวมกันเป็น 312 คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน

    ตามรัฐธรรมนูญของไทย การเลือกนายกรัฐมนตรียังต้องนับรวมคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งของพลเอกประยุทธ์

ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าวปราศรัยต่อหน้าประชาชนวันที่ 12 พฤษภาคม 2566


    แม้ความพยายามของพิธาในการคว้าตำแหน่งสำคัญจะไร้ผล พรรคที่ตามมาเป็นอันดับสองอย่างพรรคเพื่อไทยก็อาจร่วมมือกับพรรคอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ในการเสนอชื่อผู้เข้าชิงคนถัดไป ยังคงไม่แน่นอนว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อคนใหม่จะเป็นใคร น้ำหนักอยู่ตรงที่พรรคเพื่อไทยจะเลือกทำงานร่วมกับพรรคไหน

    ผู้ได้รับการเสนอชื่อของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ, นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทรงอิทธิพล เศรษฐา ทวีสิน และชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด

    แม้มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส

    ตลาดหุ้นไทยในวันพฤหัสบดีปิดก่อนการนับคะแนนเสียง ดัชนี SET เพิ่มขึ้น 0.2% ในวันนั้น แต่ยังคงตกลง 11% ในปีนี้จากการที่เงินลงทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงความกังวลเรื่องการเมืองที่ไม่แน่นอน

    “ความคลุมเครือเรื่องการเมืองที่ยืดเยื้อแน่นอนว่าส่งผลเสียต่ออารมณ์ตลาดในระยะสั้น แต่ก็อยู่ภายใต้การคาดการณ์และสะท้อนออกมาแล้ว” รักพงศ์ ไชยศุภรากุล นักกลยุทธ์จากบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวหลังชัดเจนแล้วว่าพิธาไม่ประสบความสำเร็จ “เมื่อการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความชัดเจนขึ้น เราอาจได้เห็นตลาดฟื้นตัว แต่ราคาที่หุ้นอาจขึ้นไปถึงในตอนนี้ยังคงจำกัด”

    ครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนหลังมีการเปิดประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

    ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าการเติบโตของจีดีพีของประเทศจะค่อยๆ โต อยู่ที่ 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567 จากเดิมในปี2565 การเติบโตของจีดีพีประเทศอยู่ 2.2%



แปลและเรียบเรียงจาก Popular Pro-Reform Thai Politician Fails In Bid To Be Elected Prime Minister ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com



อ่านเพิ่มเติม : พริษฐ์ เที่ยงธรรม : แพลตฟอร์มออนไลน์ Edsy เสริมทักษะภาษาด้วยเรื่องราวสนุกสนานให้เด็กไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine