เปิดยอดสิ่งประดิษฐ์สู้โควิด-19 ผลงาน "นวัตกรรม" ฝีมือสถานศึกษา-ภาคเอกชนไทย - Forbes Thailand

เปิดยอดสิ่งประดิษฐ์สู้โควิด-19 ผลงาน "นวัตกรรม" ฝีมือสถานศึกษา-ภาคเอกชนไทย

การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับศึกหนัก เพราะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่อุปกรณ์มีจำกัด เราจึงได้เห็นสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนร่วมกันพัฒนา นวัตกรรม ใหม่ๆ เพื่อการนี้

หน่วยงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คิด นวัตกรรม 4 ชนิดและผลิตออกมาใช้งานแล้ว ประกอบด้วย 1.เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ปรับมาจากห้องปลอดเชื้อที่ใช้กับคนไข้วัณโรค ปัจจุบันผลิตออกมาแล้ว 11 ตัว ราคาประมาณ 1 แสนกว่าบาท

เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ

2.หมวกปรับแรงดันบวกสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด (Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรงที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาราว 5 หมื่นบาท แต่คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถผลิตได้ด้วยงบประมาณเพียง 2,000 บาท

3.หน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีระดับความสามารถในการกรองอนุภาคได้ถึง N99 (มาตรฐานสูงกว่า N95) และผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการของวชิรพยาบาลในเรื่องศักยภาพในการกรองอนุภาค และบุคลากรของวชิรพยาบาลที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยได้เริ่มใช้หน้ากาก N99 แล้ว

4.ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE เป็นชุดป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ในลักษณะ Medical suit ที่มีมาตรฐานสูง ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและห้อง ICU สำหรับคนไข้ Covid-19 ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อสูง เพื่อป้องกันบุคลากรที่ทำหัตถการหรืออยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น โดยได้รับความร่วมมือจาก บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ บมจ.ไออาร์พีซี สนับสนุนวัสดุพลาสติกในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล

ทีมวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.ภญ.จิตติมา ลัคนากุล ได้ทำงานร่วมกับ ภญ.พุทธิมน ศรีบนฟ้า คิดค้น ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง สเปรย์ (Shield+Protecting Spray) ใช้สำหรับพ่นบนหน้ากากผ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำ กรองเชื้อโรค เป็นทางเลือกให้แก่บุคคลทั่วไปที่ใช้หน้ากากผ้า โดยสเปรย์ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง ทำให้เส้นใยผ้าเชื่อมต่อกันมากขึ้น จึงมีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนเพิ่มขึ้น 83% และกรองเชื้อโรคในน้ำลายและในอากาศได้มากขึ้น 93% และ 142% ตามลำดับ

ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง สเปรย์

เป้าหมายคือผลิตและแจกสเปรย์จำนวน 1 หมื่นขวด (ใช้พ่นหน้ากากผ้าได้ 2.4 แสนชิ้น) ให้กับทีมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ พนักงานขับรถส่งของให้กับโรงพยาบาล ตำรวจและทหารประจำด่านสกัด COVID-19 และพนักงานเก็บขยะที่ช่วยดูแลจัดการของเสียจากครัวเรือน

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมกันวิจัยและพัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR และได้ส่งมอบชุดแรกให้รัฐบาล 2 หมื่นชุด เพื่อแจกจ่ายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องตรวจกว่า 100 แห่ง พร้อมตั้งเป้าผลิตทยอยส่งมอบให้ครบ 1 แสนชุดภายในเดือนเมษายน และ 1 ล้านชุดภายใน 6 เดือน

ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR

คณะวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ประดิษฐ์ รถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังโรงพยาบาลสนาม และ หน้ากากผ้ากันนํ้า THAMMASK ใช้ทางการแพทย์ เป็นฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ หรือ Cotton-Silk ผสานเทคโนโลยีสะท้อนนํ้า ช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ

รถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์

สถาบันวิทยสิริเมธี รพ.ศิริราช โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก บมจ.ปตท. และร่วมกันพัฒนา ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ที่สามารถทราบผลตรวจภายใน 30-45 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการฯ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก หากได้รับการยืนยันการทดสอบจะสามารถผลิตชุดตรวจได้วันละ 4,000 ชุด ต้นทุนชุดละ 475 บาท

ต้นเดือนเมษายน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ส่งมอบนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 ชนิด ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และเตรียมต่อยอดการผลิต เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล รวมทั้งพร้อมส่งต่อต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย

1.เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในปอดในภาวะฉุกเฉิน เช่น อยู่ในระหว่างการส่งตัว หรือรอเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล (ต้นทุนการผลิต 5,000–10,000 บาทต่อเครื่อง)

เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก

2.ตู้ Swab Test ปลอดเชื้อ ใช้ระบบควบคุมความดันลบภายในห้อง พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ทำให้สามารถควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วย มีระบบฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ โดยแพทย์ไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง 3.ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure Room) รวมทั้งยังเตรียมดัดแปลงห้องแยกโรคความดันลบเป็นแบบเคลื่อนที่ 

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดตั้งศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID -19 เพื่อช่วยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบด้วย 1.ห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบ ใช้สำหรับนั่งคอย หรือใส่เตียงคนไข้ ใช้ทั้งในและนอกอาคาร รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย น้ำหนักเบา โดยห้องดังกล่าวจะเป็นเสมือนมุ้ง ราคาประมาณ 8,000 บาท

เตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ

2.ถุงครอบศีรษะของบุคลากรทางการแพทย์แบบความดันบวก เพื่อป้องกันบุคลากรที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย 3.เตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ พร้อมอุปกรณ์บำบัดอากาศเพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 

บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บมจ.แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนา ระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” เพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ในโรงพยาบาล

หุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO”

นอกจากนี้ FIBO ยังได้รับทุนจากเอกชนสร้างระบบหุ่นยนต์อีก 2 ระบบ เพื่อบริจาคให้แก่โรงพยาบาลภายในเดือนเมษายน 2563 หลังจากนั้นจะมอบ Engineering Drawings ให้แก่ บริษัทผู้ผลิตภายใต้สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย เพื่อผลิตออกมาจำนวนมากในราคาเท่าทุน

บริษัทใหญ่อย่าง เอสซีจี ได้ใช้นวัตกรรม SCG HEIM และ Living Solution ของบริษัทพัฒนาอุปกรณ์ ประกอบด้วย 1.ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) ซึ่งมีระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม

ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่

2.ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring) ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Internet of things (IoT) ช่วยติดตามข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเก็บตัว ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ทั้งหมดนี้เพื่อเสริมความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย

คนไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน!

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine