ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนสมรภูมิสื่อใหม่ “ทีวีดิจิทัล” ที่มีผู้ลงสนามประลองมากมายหลายสิบสำนัก “ช่อง 8” คือสถานีที่คนชมโทรทัศน์ทั่วไปรู้จักมากที่สุดช่องหนึ่ง และกำลังไล่กวด “ฟรีทีวี” อย่างกระชั้นชิด ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังกังขาในอนาคตของธุรกิจใหม่แขนงนี้ แต่สำหรับ “ช่อง 8” แล้ว ภาระข้างหน้าหนักหนากว่านั้น
ตัวเลขผลประกอบการไตรสามปี 2557 ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) สูงถึง 1,373 ล้านบาท เติบโตกว่า 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นกอบเป็นกำจากความสำเร็จของช่อง 8 ที่เริ่มเดินหน้าสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลอย่างเป็นทางการในพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งออกอากาศผ่านช่อง 8 เป็นช่องหลักนั่นเอง
ณ เวลานี้รายได้หลักของอาร์เอสมาจากธุรกิจสื่อถึง 1,135 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 150% ขณะที่ธุรกิจเพลงเริ่มอ่อนระโหยโรยแรง หดตัวถึง 20% คิดเป็นเพียง 150 ล้านบาทเท่านั้น
นับว่าเป็นการเบิกโรงสถานีทีวีดิจิทัลในขวบปีแรก ให้กับบริษัทแม่อย่างน่าชื่นชม ก้าวย่างต่อไปของช่อง 8 หลังหมดคอนเทนต์แม่เหล็ก "ฟีฟ่าเวิร์ลคัพ" จึงน่าจับตามอง
นับว่าเป็นการเบิกโรงสถานีทีวีดิจิทัลในขวบปีแรก ให้กับบริษัทแม่อย่างน่าชื่นชม ก้าวย่างต่อไปของช่อง 8 หลังหมดคอนเทนต์แม่เหล็ก "ฟีฟ่าเวิร์ลคัพ" จึงน่าจับตามอง

องอาจ สิงห์ลำพอง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เปิดเผยกับ Forbes Thailand ว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกช่วยขยายฐานคนรับชมให้กับช่อง 8 ได้เป็นอย่างดี แม้ที่ผ่านมาสถานีจะเป็น mass แล้วก็ตาม แต่ยังถือว่าไม่กว้างพอ เช่นยังไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ชมเพศชาย แต่ในวันนี้ประชากร 90% รู้จักช่อง 8 แล้ว ส่วนจะดูหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้ชมกลุ่มใหม่ในช่วงฟุตบอลโลกประเมินว่าเพิ่มมากถึง 200% ในตลอดช่วงหนึ่งเดือน ส่วนเรตติ้งเติบโตประมาณ 300% ทำให้ช่องไต่ไปจนถึงอันดับที่สามของทีวีทั่วไปได้ จนสามารถปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นได้อีกเกือบ 100% ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
องอาจเปิดเผยว่าค่าโฆษณาในปีหน้า ถ้าคิดราคาตาม rated card แล้ว น่าจะแตะ 2 แสนบาท
“ในไตรมาสที่สาม เอเยนซี่ให้การตอบรับเป็นบวกมากขึ้น ตัวเลขไม่แดง เวลานี้จึงยืนยันได้ว่าเราจะเป็นทีวีดิจิตอล ที่จะไม่ขาดทุนตั้งแต่ปีแรก”
วังวนของ “ไก่กับไข่”
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ประเมินสถานการณ์ของผู้ผลิตขณะนี้ว่าหมือนกำลังรีรอ รอให้ทีวีดิจิทัลมีมูลค่ามากพอที่จะลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาเอเยนซี่ทั้งหลาย ถึงจะผลิตคอนเทนต์ตามที่ตัวเองคิดหรือตั้งใจจะทำ สถานการณ์คล้ายเข้าสู่วังวน “ไก่กับไข่”
“แต่สำหรับช่อง 8 แล้ว เราเดินหน้าทำเลย ให้ไก่เกิดก่อนไข่ เพราะเราถือว่าราคาเราสูงในตลาด ถือว่ามีแบรนด์มาแล้ว เลยจุดที่กังวลมาหมดแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ทำให้ดีกว่าเดิม" องอาจย้ำว่า ช่อง 8 มีฐานลูกค้าเดิมมาจากทีวีดาวเทียมที่เชื่อมั่นกันอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่มาใหม่ที่เพิ่งจะประมูลคลื่นความถี่ได้ก็ต้องกังวลเป็นธรรมดา
เมื่อถามว่าอีกนานแค่ไหน ถึงจะเห็นว่าใครรอดหรือใครล้ม ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ฟันธงว่า อีกสามปี หลังจากการเข้าถึงของประชาชนเพิ่มขึ้น กล่องรับสัญญาณกระจายครอบคลุม เมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องสู้กันเต็มฝีเท้าแล้ว ถ้าสู้ไม่ไหวก็ต้องล้มไป
“เวลานี้ยังสู้กันไม่เต็ม แม้ช่อง 8 เอง ผมก็ว่ายังสู้ไม่เต็มร้อย”
สำหรับปีหน้า ทางช่อง 8 เตรียมงบประมาณลงทุนเฉพาะคอนเทนต์ไว้แล้ว 700-800 ล้านบาท เฉพาะสร้างละคร 16 เรื่อง คาดกันว่าจะใช้เม็ดเงิน 400 ล้านบาท ซึ่งตัวเขาเองยังบอกแน่ชัดไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันยังไม่มั่นใจว่าการแข่งขันจริงจะรุนแรงแค่ไหน แต่จากการประเมินเวลานี้ยังไม่น่าจะหนักมาก จึงกำหนดวงเงินลงทุนไว้ประมาณนี้ หากแข่งกันหนักก็ต้องเพิ่มวงเงินขึ้นไปสู้
ทีวีสำหรับทุกคน
เนื้อหารายการในช่อง 8 จัดแบ่งหมวดรายการไว้ 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ รายการข่าว จากเดิมวันละ 2 ชั่วโมง ปัจจุบันเพิ่มเป็น 7 ชั่วโมงแล้ว รายการวาไรตี้ จะเพิ่มโปรแกรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น รายการละคร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของช่อง และสุดท้ายรายการกีฬา คอนเทนต์ส่วนนี้เป็นความพยายามรักษาฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้นในช่วงฟุตบอลโลก เดิมเรามีฟุตบอลลีกลาลีกาอยู่แล้ว ต่อไปก็จะมีถ่ายทอดสดมวยจากเวทีมวยลุมพินี
องอาจกล่าวถึงความสำเร็จที่เป็นต้นทุนในวันนี้ว่า ช่อง 8 เติบโตต่อยอดจากทีวีดาวเทียม เราโตมาจากละคร กลุ่มคนดูหลักเป็นผู้หญิง เป็นแม่บ้าน เป็นคนมีอายุ แล้วก็เป็นคนต่างจังหวัด เราจึงพยายามเพิ่มเติมคอนเทนต์ที่มีความเป็นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปีที่สองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ได้ โดยวัดจากช่องต่างๆ ที่ออกอากาศผ่านกล่องทีวีดาวเทียม TrueVision สามารถติดช่องท็อปเท็น ทั้งที่ไม่ได้เป็นคอนเทนต์พรีเมียมเลย
“ต้องบอกว่าเราเป็น mass แล้ว จากการสำรวจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ช่อง 8 เป็นช่องที่ได้กลุ่มคนดูในกรุงเทพฯ มากที่สุด มากกว่าทุกช่อง เพียงแต่จำนวนคนในต่างจังหวัดมากกว่าเท่านั้น”
แม้เราจะขยายฐานได้ทั้งต่างจังหวัดได้ทั้งเมืองแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้หญิงอยู่ดี เราจึงพยายามด้วยการเพิ่มเวลารายการข่าว แต่ก็ยังไม่มากพอ จนกระทั่งถึงช่วงบอลโลกก็สามารถดึงผู้ชายมาเป็นกลุ่มผู้ชมได้สำเร็จ สำหรับกลุ่มยังขาดในตอนนี้ก็คือกลุ่มเด็ก ที่มีอิทธิพลทางอ้อมผ่านทางผู้ปกครอง ซึ่งเป็นการบ้านที่พวกเราต้องทำกันต่อไป
เมื่อตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ชมเหมือนจะทับซ้อนกับช่อง 7 เขากล่าวว่า เราไม่ได้เล่นในตลาดล่าง แต่ก็ยอมรับว่ากลุ่มผู้ชมเราคือระดับ บี ที่เป็นฐานมาตั้งแต่ยังเป็นทีวีดาวเทียม ซึ่งตรงนี้ทำให้เราอาจจะเป็นสถานีทีวีดิจิทัลที่เหนื่อยน้อยที่สุดในตอนนี้ เรากำลังแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์เพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น
“เราเลือกที่จะแข่งกับช่องมากสี ดีกว่าช่องน้อยสี ปล่อยให้คนอื่นๆ เขาแข่งกับช่องน้อยสีไป สนามนั้นคู่แข่งเยอะมาก”
นายสถานีช่อง 8 ทิ้งท้ายว่า ภายในสามปีนี้เราคงไม่มีทางเป็นที่หนึ่งได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องใข้เวลาถึง 40 ปี กว่าจะก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่ง แต่รู้แน่แล้วว่า เวลานี้เรากำลังอยู่ลำดับประมาณ 3, 4 หรือ 5 แน่ๆ แต่ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงนัก จำเป็นต้องลงทุนมากกว่าคนอื่นๆ ไม่ได้รอให้แจกคูปองก่อน หรือรอให้ประชาชนเข้าถึงมากกว่านี้
“สักวันหนึ่งเราอยากให้คนจดจำเราในฐานะช่อง 8 ไม่ใช่อาร์เอสอีกต่อไป เพราะเรากำลังสร้างธุรกิจฟรีทีวี จะเห็นว่าที่มุมจอมีแต่โลโก้ช่องแปด ไม่มีโลโก้อาร์เอสอยู่เลย”