คนรุ่นใหม่ - สื่อโซเชียลชี้ชะตาเลือกตั้ง 66 - Forbes Thailand

คนรุ่นใหม่ - สื่อโซเชียลชี้ชะตาเลือกตั้ง 66

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66 คนรุ่นใหม่ สื่อโซเชียล จุดชี้ขาด ฐานเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่เพิ่ม 11 ล้านคน 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ชี้กลยุทธ์สร้างกระแสผ่านโซเชียล มีเดีย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คาดเงินสะพัด 30,000 ล้านบาท SCB EIC ประเมินโอกาสจัดตั้งรัฐบาลใกล้เคียงกัน


    การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ถือเป็นพลวัตทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา 

    การก้าวขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในครั้งนี้ มีจำนวน 11 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศกว่า 50 ล้านคน และถูกขับเคลื่อนด้วยสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียเป็นหลัก   

    ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI นักกลยุทธ์การตลาด และโฆษณาที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี มองเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการใช้สื่อโซเชียล มีเดียในการขับเคลื่อนประเด็นที่แต่ละพรรคการเมืองต้องการสื่อสารไปสู่ประชาชน 

    รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ชาดผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

    “นโยบายหลักๆ ที่แต่ละพรรคต้องการสื่อสาร เช่น ค่าแรง สวัสดิการ พลังงาน มีการใช้สื่อหลัก อย่างสื่อโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา หรือการไปดีเบตทางสถานีโทรทัศน์ จะถูกนำมาสร้างกระแสต่อทางสื่อโซเชียล รวมถึงประเด็นเฉพาะกลุ่ม เช่น สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า จะใช้สื่อโซเชียลเป็นหลัก เพื่อสร้างอิมแพคสำหรับคนเฉพาะที่สนใจเรื่องนั้น ๆ โดยตรง” ภวัตกล่าว


    และสาเหตุที่มองว่าคนรุ่นใหม่และสื่อโซเชียลจะเป็นปัจจัยชี้ขาด เห็นได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา ที่มีการใช้สื่อโซเชียล มีเดียในการสร้างคอมมูนิตี้ของผู้สมัคร และนโยบายหาเสียง ทำให้เกิดการพลิกโผ และเห็นความแปลกใหม่ของการเมืองไทย ที่เกิดจากอิทธิพลของคนรุ่นใหม่และสื่อโซเชียล มีเดีย 

    ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อปี 62 มีผู้ใช้โซเชียล มีเดีย 60% แต่ปัจจุบันสื่อโซเชียล มีเดียเข้าถึงคนประมาณ 85% มองว่าทั้งสองส่วนจะเป็นปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้


คาดเงินสะพัด 30,000 ล้านบาท

    ภวัต กล่าวว่า สำหรับเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ในทุกมิติอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินที่สะพัดในสื่อทั่วไปอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท มีสื่อโทรทัศน์ และป้ายโฆษณาหาเสียง 

    ส่วนสื่ออื่นๆ มีการใช้น้อย ทั้งนี้แต่ละพรรคการเมืองจะใช้การไปออกรายการดีเบตทางสถานีโทรทัศน์ และมาผลิตเป็นคอนเทนต์เพื่อสื่อสารผ่านโซเชี่ยล มีเดียอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างกระแสความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองและตัวผู้สมัคร

    ทั้งนี้ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานตัวเลขการใช้งบโฆษณาในเดือนมีนาคม 2566 กลับมาเป็นบวก 3% มูลค่า 10,174 ล้านบาท หลังจากช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว 


    โดยสื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อหลักที่มีใช้งบโฆษณาสูงสุด 5,663 ล้านบาท ตามด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต 2,290 ล้านบาท และสื่อนอกบ้าน 1,080 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวสูงสุดที่ 26% เนื่องจากการเปิดเมืองกลับสู่ภาวะปกติ

    ภวัต กล่าวว่า แนวโน้มการใช้งบโฆษณาในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะกลับมาคึกคักขึ้น ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง ทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภคมีการใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นฤดูกาลขายสินค้า เช่น สินค้าหน้าร้อน สินค้าเปิดเทอม และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

    สอดคล้องกับข้อมูลของนีลเส็น ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดอันดับ 1 ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม 1,673 ล้านบาท 2. สินค้ากลุ่มของใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง 1,445 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นร้านค้าปลีกและร้านอาหาร 995 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131%


EIC ประเมินโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

    Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากเม็ดเงินหาเสียงของพรรคการเมืองอย่างน้อยคิดเป็นสัดส่วน 0.07% ของจีดีพี 

    ขณะที่โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะมี 3 แบบที่มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน ในระดับปานกลาง คือ 1. ฝ่ายเสรีนิยมตั้งรัฐบาล กรณีนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย 2. รัฐบาลผสมสองฝ่าย กรณีนี้ผลกระทบทาทงเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และ 3. รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย กรณีจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยสูงสุด

    ส่วนกรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีนี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย หรือกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ กรณีนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งทั้งสองกรณีมีโอกาสเกิดได้น้อย

    “เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณปี 2024 โดย SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% แตกต่างจากบริบทการเลือกตั้งในปี 2019 ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนสูง อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างท่วมท้น” วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์ SCB EIC ระบุ


อ่านเพิ่มเติม: ทริพเพิล ไอ ยื่นไฟลิ่ง ANI เล็งขายหุ้น IPO คาดมาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine