“สทร.” เดินหน้าปั้นธุรกิจระบบราง สร้างคน-ดึงชิ้นส่วนรถยนต์ร่วมมือ - Forbes Thailand

“สทร.” เดินหน้าปั้นธุรกิจระบบราง สร้างคน-ดึงชิ้นส่วนรถยนต์ร่วมมือ

หลายประเทศใช้การเดินทางระบบราง เป็นการเดินทางที่ประหยัดและควบคุมเวลาที่แน่นอนได้ ประเทศไทยก็ใช้ระบบรางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ทว่าผ่านมากว่า 100 ปีระบบรางของไทยยังไปไม่ถึงไหน ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จึงริเริ่มด้วยการจัดประกวดไอเดีย “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชน เพื่อเตรียมสร้างคน รองรับอุตสาหกรรมใหม่ระบบราง มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันก็เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางแบบบูรณาการ


    สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมาด้เพียง 2 ปี เพื่อทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางโดยเฉพาะ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานเปิดตัวโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) ซึ่งเป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนในหัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมเปิดวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สทร. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ

    “โครงการนี้ เป็นกิจกรรมนำร่องของ สทร. ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งมีพันธกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ การพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราง โดยพุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 16-22 ปี ในจังหวัดที่มีรถไฟสายหลักวิ่งผ่าน ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดภายใต้หัวข้อ “รถไฟในฝัน”

    โดยมีรางวัลเป็นเงินทุนการศึกษารวม 420,000 บาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเยาวชน ในการคิดสร้างสรรค์และนำเสนอไอเดียที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.- 24 พ.ย. 2567 และปิดรับผลงานวันที่ 4 ธ.ค. 2567 หรือศึกษารายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ทางเว็บไซต์ www.คิดใหญ่ไปให้สุดราง.net

    ดร.จุลเทพ กล่าวว่าภารกิจหลักของสทร. คือการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของไทย เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมนี้ จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถยกระดับขีดความสามารถของไทย ให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระบบรางในภูมิภาคอาเซียน


    ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมระบบรางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต จึงริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์การพัฒนาระบบราง และหวังว่ากิจกรรมนำร่องนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบราง และมองเห็นโอกาสด้านอาชีพในอุตสาหกรรมใหม่ดังกล่าว


ความร่วมมือ 3 ภาคส่วน

    ทั้งนี้ สทร. เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงคมนาคม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ.2564 เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน ในการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี และสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมีภารกิจหลักที่สำคัญ คือ การสร้างยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับกระทรวง

    โดยบูรณาการทิศทางและความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ส่วนของผู้กำหนดนโยบาย ส่วนของผู้เดินรถและอุตสาหกรรม และส่วนของนักวิจัย/นักวิชาการ ให้ครอบคลุมทั้งบริบทด้านเทคโนโลยีระบบราง บริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจนและเป็นระบบ พร้อมกำหนด Roadmap ตัวชี้วัด มาตรการ กลไก และผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศการสร้างอุตสาหกรรมระบบราง


    ภารกิจหลักของสทร. ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างมาตรฐานระบบราง และระบบการทดสอบด้านระบบราง การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางด้วย

    ที่ผ่านมา สทร. ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบราง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรผ่านการฝึกอบรม และการส่งเสริมหลักสูตรด้านการศึกษาเกี่ยวกับระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยและใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังมีการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในเบื้องต้นว่า จะสามารถเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบรางตามมาตรฐานระดับโลกได้หรือไม่

    “ตอนนี้ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาป มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การสร้างอุตสาหกรรมระบบรางโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย จะสามารถช่วยแก้ปัญหาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อีกทางหนึ่ง และอุตสาหกรรมนี้จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.จุลเทพ ย้ำถึงโอกาสและความเป็นไปได้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บีโอไอ อนุมัติ ‘คอนติเนนทอล’ ลงทุนเพิ่ม 13,000 ล้านบาท ขยายโรงงานผลิตยางรถยนต์ใน ‘ระยอง’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine