EVAT ชง 8 ข้อเสนอหนุน “ยานยนต์ไฟฟ้า” ดันไทยสู่สังคม EV เต็มรูปแบบ - Forbes Thailand

EVAT ชง 8 ข้อเสนอหนุน “ยานยนต์ไฟฟ้า” ดันไทยสู่สังคม EV เต็มรูปแบบ

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Aug 2019 | 04:20 PM
READ 11930

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) ชู 8 ข้อเสนอแนวทางการส่งเสริม ยานยนต์ไฟฟ้า แนะรัฐทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม-ปรับปรุงกฎหมาย-ออกมาตรการกระตุ้นดีมานด์ผู้บริโภค

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างชัดเจน โดยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) จดทะเบียนในครึ่งปีแรกมากถึง 15,366 คัน ซึ่งคิดเป็นกว่า 75% ของยอดจดทะเบียนทั้งปี 2561 ที่มีอยู่ 20,344 คัน

ขณะที่ยานยนต์แบบแบตเตอรี่ (BEV) ครึ่งปีแรก 2562 มียอดจดทะเบียนใหม่ 420 คัน ซึ่งสูงกว่ายอดจดทะเบียนใหม่ของปี 2561 ที่ทั้งปีมีอยู่ 325 คันเท่านั้น นอกจากนี้ จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะยังเพิ่มขึ้นเป็นราว 340 แห่งทั่วประเทศ

แนวโน้มดังกล่าวทำให้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยที่มีเป้าหมายคือต้องการเห็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษ, การขนส่ง และส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศโดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา ทำงานร่วมกันพร้อมร่างข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบไปด้วย 8 ข้อหลักที่มุ่งหวังให้ภาครัฐนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ

รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) จดทะเบียนในครึ่งปีแรกมากถึง 15,366 คัน ซึ่งคิดเป็นกว่า 75% ของยอดจดทะเบียนทั้งปี 2561

โดยข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 8 ข้อ มีดังต่อไปนี้

1.การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีพันธกิจที่แตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน หากมีการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมให้กับ ยานยนต์ไฟฟ้า ยิ่งขึ้น โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาจมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) โดยส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่แพร่หลายและมีการกำหนดเป้าหมายของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน

2.การปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง สมาคมแนะให้รัฐพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ การจดทะเบียนตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าได้อย่างเสรี เนื่องจากปัจจุบันไทยไม่อนุญาตให้จดทะเบียนตุ๊กตุ๊กประเภทรับจ้างเพิ่ม (มีที่ .เชียงใหม่ ที่เดียวเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนเพิ่มได้)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าตุ๊กตุ๊กอันตราย แต่จริงๆ ก็เป็นยานพาหนะที่ไทยใช้มานานกว่า 40-50 ปีแล้ว แม้แต่ต่างประเทศอย่างฝรั่งเศสยังสั่งประกอบไปใช้เมือง Paris ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 9 พ.ศ.2535 ข้อ 2 วรรค 1 ให้งดรับจดทะเบียนรถรับจ้างสามล้อและรถสามล้อส่วนบุคคลในเขต กทม. และจังหวัดอื่นทุกจังหวัด และควรส่งเสริมการใช้รถสามล้อไฟฟ้านำร่องซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยให้มีการใช้นำเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ เขตเมืองเก่าพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

ขณะเดียวกันสมาคมยังเสนอให้มีการแยกการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างประเภทปลั๊กอินไฮบริด (HPEV) และไฮบริด (HEV) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลจำนวนจดทะเบียนในการประเมินความต้องการไฟฟ้าได้

3.การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐควรออกมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มดีมานด์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม เช่น การลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, เพิ่มแรงสูงใจสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ออกมาตรการเพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะ และเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ

นอกจากนี้ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 กำหนดให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ได้ โดยมีเป้าหมายให้มีสัดส่วนการใช้งานประมาณร้อยละ 20 ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่หน่วยงานซื้อ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ควรนำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้าก่อน เพื่อติดตามข้อดีและข้อเสียในการใช้งาน เพื่อขยายผลไปหน่วยงานอื่นๆ

ขณะเดียวกัน รัฐควรขยายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ ขสมก. รถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ ควรเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด, ควรสนับสนุนให้มีการแยกประเภทป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและการมีส่วนร่วมของผู้ขับขี่ในการช่วยลดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อม

4.ควรมีการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถสามล้อไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าเท่านั้น

5.ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังขาดความพร้อมในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น รัฐควรจัดให้มีการสนับสนุนการสร้างงานวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ และการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Open Platform) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำแพลตฟอร์มมาต่อยอดได้

6.การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีการออกมาตรฐานที่ครอบคลุม เท่าทันเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการจัดให้มีหน่วยงานทดสอบและรับรองมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพแล้ว โดยใช้แนวทางตามมาตรฐานสากล

7.ควรมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงในช่วงแรกควรกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในอัตราพิเศษ เช่น ควรมีราคาถูกกว่าไฟบ้านได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น

8.การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สนับสนุนการจัดทำหลักสูตรในรูปแบบของการฝึกอบรมและหลักสูตรการเรียนการสอนมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ในสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดการแข่งขัน การสร้างนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงออกถึงความสามารถด้านยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาคมได้เข้าพบกระทรวงพลังงานเพื่อนำเสนอแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้านี้แล้ว และหลังจากนี้จะเข้าไปพูดคุยกับอีกหลายหน่วยงาน โดยหวังว่าภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ข้อเสนอดังกล่าวสามารถทำได้จริงทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรมมากขึ้นดร.ยศพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

  อ่านเพิ่มเติม   รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine