ETRAN ส่ง "มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า" ไทยรุ่น KRAF เจาะกลุ่มพรีเมียม เตรียมลงทุนวางจุดชาร์จ 100 แห่งทั่วกรุงเทพฯ - Forbes Thailand

ETRAN ส่ง "มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า" ไทยรุ่น KRAF เจาะกลุ่มพรีเมียม เตรียมลงทุนวางจุดชาร์จ 100 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ETRAN สตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนา "มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า" เปิดจองมอเตอร์ไซค์พรีเมียมรุ่น KRAF 300 คัน ร่วม ปตท. พัฒนาพลาสติกพิเศษประกอบตัวถังล็อตใหม่ปีหน้า วางแผนประสานห้างฯ-คอนโดฯ ระดมจุดชาร์จไฟฟ้ารอบกรุง 100 แห่ง

สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดตัวสินค้าใหม่ของบริษัท มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN KRAF มอเตอร์ไซค์ระดับพรีเมียมผลิตเพียง 300 คัน พร้อมเปิดจองแล้ววันนี้ จำหน่ายในราคา 150,000 บาทต่อคัน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งมอบคันแรกได้ช่วงไตรมาส 1/2563

ETRAN KRAF เป็นผลงานการออกแบบของบริษัทอีทรานที่เริ่มโปรโตไทป์แรกเมื่อ 2 ปีก่อน ตัวถังผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง E1 ทำความเร็วได้สูงสุด 130 กม./ชม. แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ LiMn2O4 ความจุ 40 แอมป์/ชม. ใช้งานได้นาน 180 กม. ( ความเร็ว 75 กม./ชม.)

มอเตอร์ไซค์รุ่นนี้มาพร้อมหน้าจอทัชสกรีนและระบบไฟฟ้าที่สามารถปรับแต่งการจ่ายไฟเองได้ เพื่อปรับประสิทธิภาพการใช้งานได้ตามต้องการ รวมถึงมีแอพพลิเคชั่นใช้สำหรับตรวจสอบจุดชาร์จไฟฟ้าใกล้เคียง เช็กพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ตรวจตำแหน่งของรถด้วย GPS และสั่งเปิด-ปิดระบบไฟฟ้าในรถได้จากระยะไกล

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ETRAN KRAF รุ่น Limited Edition มีให้เลือก 3 ซีรีส์ 7 สี และสามารถเลือกหมายเลขข้างรถได้

สรณัญช์กล่าวว่า ETRAN KRAF จะเจาะกลุ่มตลาดผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์พรีเมียมวัย 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ราว 1% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ทั้งหมด 22 ล้านคันในไทย โดยปัจจุบันหลังเปิดจองวันแรก มีลูกค้าจองแล้ว 60 คัน ทั้งนี้ รถรุ่นนี้เป็นล็อต Limited Edition สำหรับล็อตต่อไปจะมีการเปลี่ยนวัสดุจากคาร์บอนไฟเบอร์เป็นพลาสติก

ปัจจุบันอีทรานมีพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตโครงรถคือ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด โรงงานในอยุธยาที่มีไลน์พร้อมผลิตรถให้อีทรานสูงสุด 1,000 คันต่อเดือน

เราไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่ง คู่แข่งที่เราอยากเอาชนะคือชนะใจลูกค้า ให้เขาอยากลองใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ชนะความพร้อมของ infrastructure ด้วยการสร้างดีมานด์จนทำให้เมืองต้องตามเราให้ทัน และชนะกฎระเบียบของเมืองเพื่อให้รองรับรถไฟฟ้าสรณัญช์กล่าว

 

ปัญหาใหญ่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า: ไร้สถานีชาร์จ

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของอีทราน ต้องการจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ได้ 200,000 คันภายใน 10 ปี รวมทั้งตลาดไทยและต่างประเทศที่มองว่ามีศักยภาพในการส่งออกไปได้ เช่น สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคือเรื่องสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะ ซึ่งสรณัญช์กล่าวว่า ยังไม่มีเลยในประเทศไทย

ทำให้อีทรานต้องการจะลงทุนเองอย่างน้อย 100 จุดชาร์จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลภายใน 6 เดือนข้างหน้า ใช้เงินลงทุนจุดละไม่เกิน 100,000 บาท โดยมองว่าจะติดตั้งบนพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม และพื้นที่ริมถนน ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อกับห้างฯ และคอนโดฯ ต่างๆ

ETRAN-KRAF-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า-2
มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN KRAF คันตัวอย่าง และ ETUBE เครื่องแปลงไฟบ้านเพื่อชาร์จมอเตอร์ไซค์

ระหว่างนี้ ลูกค้าที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอาจต้องพึ่งพิงการชาร์จไฟฟ้าจากบ้านก่อน ซึ่งปกติไฟฟ้าบ้านสามารถประจุไฟฟ้าได้ 8 แอมป์/ชม. ดังนั้น อีทรานจึงผลิตเครื่องแปลงและชาร์จไฟฟ้า ETUBE สำหรับติดตั้งใช้ในบ้านในราคา 50,000 บาท ทำให้สามารถชาร์จไฟฟ้าที่ 20 แอมป์/ชม.ได้ หากใช้กับรถรุ่น KRAF จะชาร์จไฟฟ้าเต็มแบตเตอรี่จาก 0% ถึง 100% ได้ภายใน 2 ชั่วโมง

 

เปิดกว้างรับพันธมิตร

อีทรานเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ด้วยแรงบันดาลใจของสรณัญช์ที่ต้องการสร้างเมืองที่สะอาดและลดมลพิษจากยานพาหนะ

เริ่มแรกเขาพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่น PROM (พร้อม) ออกแบบโมเดลธุรกิจเป็นรถให้เช่าสำหรับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ มีการปรับแบบรถให้เหมาะกับคนโดยสารโดยมีที่วางเท้าตรงกลางระหว่างเบาะคนขับกับคนนั่ง พร้อมออกแบบให้ถอดแบตเตอรี่ได้เพื่อนำลูกที่ไฟหมดไปชาร์จ แต่ดูเหมือนว่า PROM ที่ออกตลาดเมื่อปี 2560 จะยังไม่ถูกใจตลาดนัก ทำให้เร็วๆ นี้บริษัทจะออกรุ่น PROM 2 ที่ปรับโฉมครั้งใหญ่

ETRAN-PROM-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ETRAN PROM รุ่นแรกที่บริษัทวางจำหน่าย

การก่อตั้งสตาร์ทอัพอีทราน สรณัญช์ใช้เงินทุนส่วนตัวและของครอบครัวทั้งหมดโดยไม่เปิดเผยเงินลงทุนรวมจนถึงปัจจุบัน และเคยเข้าโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพกับ Digital Ventures ของธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้รับเงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลนี้ เนื่องจากต้องการพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจของเขาได้นอกจากเรื่องการเงิน

ปัจจุบันอีทรานมีพันธมิตรหลักที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมด้วยกันคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งสนับสนุนเทคโนโลยีวัสดุพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติที่จะนำมาใช้กับการผลิตมอเตอร์ไซค์เป็นครั้งแรกในรุ่น KRAF ล็อตต่อไปที่จะออกจำหน่ายปีหน้า ในแง่ของการระดมทุนและพันธมิตร ซีอีโอและผู้ก่อตั้งอีทรานกล่าวว่าเขาเปิดกว้างกับทุกบริษัท

เราสังเกตได้จากเทรนด์ของแฟนเพจที่ติดตามเรา เทียบกับเมื่อ 4 ปีก่อน คนไทยมีความรู้และความสนใจเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากแล้วสรณัญช์กล่าวปิดท้าย

 
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine