ปรับตัวให้ทัน! “ปั๊มน้ำมัน” แห่งอนาคต: เดลิเวอรีเติมน้ำมัน-ส่งสินค้า ขายเชื้อเพลิงแบบB2B - Forbes Thailand

ปรับตัวให้ทัน! “ปั๊มน้ำมัน” แห่งอนาคต: เดลิเวอรีเติมน้ำมัน-ส่งสินค้า ขายเชื้อเพลิงแบบB2B

จินตนาการถึงวันหนึ่งที่คุณเข้าไปในปั๊มน้ำมันแล้วไม่จำเป็นต้องลุกออกจากรถมาเติมน้ำมันเอง (*ในต่างประเทศปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นแบบบริการตนเองต่างจากประเทศไทย) และไม่ได้เกิดจากการที่สถานีบริการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะปั๊มน้ำมันกับรถยนต์สามารถสื่อสารกันเองได้

ปั๊มน้ำมันกับรถยนต์จะทำงานร่วมกันในการเลือกประเภทเชื้อเพลิงที่ต้องการและเติมน้ำมันให้เองโดยอัตโนมัติ คุณจะจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเหมือนกับการขับรถผ่านไม้กั้นบนทางด่วนโดยติดเครื่องอีซีพาส ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นรถยนต์แทบทุกคันอาจจะติดตั้งแอพพลิเคชันนี้ไว้เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ยิ่งถ้ารถยนต์ของคุณมีระบบอัตโนมัติไร้คนขับจะยิ่งสะดวกสบายขึ้น เพราะรถยนต์ขับไปเติมน้ำมันได้เองโดยที่คุณสามารถพักผ่อนอยู่บนเตียงหรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ รถยนต์ไร้คนขับในขั้นทดลองของ Google (Photo Credit: KHWS.co.uk) ทั้งหมดนี้ คืออนาคตของปั๊มน้ำมันในฐานะสถานีบริการเพื่อผู้บริโภค อาจจะดูล้ำยุคเกินคาดคิดแต่ในอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้า สถานีบริการน้ำมันจะสามารถตอบรับการบริการทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริด รถยนต์อัตโนมัติ รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ บริการแบ่งปันการใช้รถยนต์ (car-sharing) รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายอันหลากหลายมากกว่าแค่เลือกเชื้อเพลิงธรรมดาหรือแบบพรีเมียม  

แปลงโฉมด้วยดิจิทัล

เหมือนกับทุกอุตสาหกรรมที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ปั๊มน้ำมันจะเผชิญกับการปฏิวัตินี้เช่นกัน นี่ไม่ใช่แค่แนวโน้มของเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นทั้งองคาพยพที่สร้างให้เกิดการปฏิวัติทำลายล้างสิ่งเดิม (disruption) และยกเครื่องความสัมพันธ์ระหว่างยานยนต์กับวิธีขายเชื้อเพลิงขึ้นใหม่ และด้วยการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ โมเดลธุรกิจของสถานีบริการน้ำมันต้องเริ่มต้นสะท้อนทิศทางธุรกิจอนาคตอย่างเร่งด่วน ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากตัวเลขสถิติของประชากรที่ไม่ต้องการครอบครองรถยนต์สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับคนรุ่นก่อน จากข้อมูลของ US Census สถิติครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์ในครอบครองค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากประชากรจำนวนมากขึ้นต้องการอาศัยในเมืองใหญ่ ทำให้ไม่มีความสนใจที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียม (คนที่เกิดช่วงค.ศ.1980-1996)
สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ (EV Charger) โมเดลต้นแบบแห่งแรกของปตท. ในปั๊มปตท.สาขาราชพฤกษ์ เปิดตัวเมื่อปี 2559 (ขอบคุณภาพจาก: Posttoday)
สถานีบริการน้ำมันในปี 2030 หรืออีก 13 ปีข้างหน้าจึงไม่เพียงแต่ต้องปรับปรุงธุรกิจเดิม แต่ต้องทำธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเพื่อให้เกิดกำไร ยกตัวอย่างเช่น วิสัยทัศน์ที่ก้าวล้ำยุคมากอย่างหนึ่งคือ ปั๊มน้ำมันจะมีระบบให้คนขับรถสามารถสั่งขนมและสินค้าต่างๆ ล่วงหน้าและมีโดรนที่บินในระยะใกล้นำไปส่งให้ถึงรถยนต์ สถานีบริการน้ำมันแห่งอนาคตจะสะท้อนการบริการลูกค้าที่ซับซ้อนหลากหลาย เนื่องจากรถยนต์ประเภทไฮบริดและรถอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Tesla กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำมันอาจต้องพิจารณาติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในทวีปยุโรป ในอนาคต รายได้ของสถานีบริการน้ำมันที่มาจากการขายน้ำมันดีเซล ก๊าซ NGV หรือก๊าซ LPG อาจจะมีสัดส่วนน้อยกว่า 30% ของรายได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงเพราะดีมานด์ที่ลดต่ำลงแต่เพราะสถานีเองจะขายสินค้าและการบริการอื่นๆ ร่วมด้วย
(ขอบคุณภาพจาก: Posttoday)
 

บริการจุดรับสินค้า-ส่งน้ำมันเดลิเวอรี

ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันและบริการเช่นนั้นจะยิ่งยกระดับมากขึ้น สถานีบริการน้ำมันจะกลายเป็นสถานที่ที่คุณสามารถรับสินค้าที่สั่งจากเว็บไซต์ Amazon, สินค้าอุปโภคบริโภค หรือเสื้อผ้าที่ส่งซักรีดเรียบร้อยแล้ว โดยสินค้าเหล่านั้นถูกขนส่งมาฝากไว้ที่ปั๊มน้ำมันด้วยโดรน สรุปว่า สถานีบริการน้ำมันจะกลายเป็นไปรษณีย์ขนาดยักษ์ จุดให้บริการส่วนบุคคล และเป็นสถานที่ที่ซื้อสินค้าได้ในจุดเดียว (one-stop shopping) “ช่วงเวลา” ที่ให้บริการก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ช่วงเวลาที่จะมีการใช้บริการมากที่สุดของปั๊มน้ำมันปี 2035 อาจเปลี่ยนเป็นเวลาตี 2 เมื่อรถยนต์อัตโนมัติทั้งหลายถูกตั้งโปรแกรมให้พาตัวเองมาเติมน้ำมันในเวลานั้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานยามเช้า หรือกระทั่งการเติมเชื้อเพลิงก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นที่ปั๊มน้ำมันอีกต่อไป หากบริการเติมน้ำมันแบบ on-demand กำเนิดขึ้น ลูกค้าจะสามารถสั่งซื้อบริการผ่านแอพพลิเคชันและเลือกให้จัดส่งเดลิเวอรีมาถึงหน้าบ้านหรือลานจอดรถของออฟฟิศ  

โมเดลธุรกิจใหม่: ขายน้ำมัน B2B

สถานีบริการน้ำมันยังสามารถทำการค้าลักษณะขายส่งได้ด้วย หลังจากบริการแบ่งปันกันใช้รถยนต์ (car-sharing) อย่าง Lyft และ Uber เติบโตขึ้น นอกจากจะขายให้ผู้ซื้อรายย่อยแล้วจึงสามารถทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทเหล่านี้ได้ หรืออุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับอาจตัดสินใจร่างสัญญาระยะยาวในการซื้อเชื้อเพลิงให้กับลูกค้าก็ได้
[Photo Credit: techxcite.com]
span style="font-size: 16px;">แม้การเปลี่ยนแปลงที่ทำลายรูปแบบธุรกิจเดิมเป็นสิ่งที่เจ็บปวดและอาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับกลุ่มเจ้าของปั๊มน้ำมันอิสระ แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนโอกาสสำหรับผู้ที่ปรับตัวตามเทคโนโลยีได้เร็ว ขณะนี้เราสามารถพบเห็นการทดลองบริการของปั๊มน้ำมันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การชำระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile-payment) โดยมีเชนสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มผลักดันเทคโนโลยีนี้แล้ว ด้วยการให้โปรโมชันลดราคาน้ำมัน 10 เซนต์ต่อแกลลอนเมื่อลูกค้าชำระเงินผ่านแอพพลิเคชัน การปฏิวัติดิจิทัลได้ย่อส่วนวงจรการผลิตสินค้าให้หดสั้นลงและทำให้นวัตกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่อุตสาหกรรมสถานีบริการน้ำมันแบบดั้งเดิมก็ดูจะเป็นเป้าหมายต่อไปของการปฏิวัติดิจิทัล สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนมีเพียงแค่บริษัทไหนที่จะเป็นผู้บุกเบิกและใครที่จะตามไม่ทันจนต้องปิดตัวลง   เรียบเรียงจาก In 2035, The Busiest Hour At The Digital Gas Station May Be 2 A.M., When The Self-Driving Cars Show Up โดย Irfan Bidiwala และ Eric Nelson พันธมิตรร่วมของบริษัท Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการโลจิสติกส์และคมนาคม