โตโยต้า คาดตลาดรถยนต์ฟื้น - Forbes Thailand

โตโยต้า คาดตลาดรถยนต์ฟื้น

โนริอากิ ยามาชิตะ นายใหญ่โตโยต้า มองอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยฟื้นตัว คาดปี 2564 มียอดขาย 9 แสนคัน ขยายตัว 7-14% เมื่อเทียบกับปีก่อน โตโยต้าตั้งเป้าเบอร์ 1 กวาดยอดขาย 3 แสนคัน เร่งเดินหน้ายานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาแบตเตอรี่ไฮบริด มุ่งยกระดับเทคโนโลยี การบริการ รองรับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคหลังโควิด-19

โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2564 และผลประกอบการของโตโยต้าในปี 2563 หลังเผชิญกับสถานการณ์ของโควิด-19 โดยระบุว่า ที่ผ่านมามาตรการจากทางภาครัฐประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์กำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และคาดว่าอนาคตอันสดใสกำลังจะเริ่มขึ้นนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะกลับมาอีกครั้งก็ตาม
โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
อุตสาหกรรมรถยนต์ปี 64 ฟื้นตัว ยามาชิตะ คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะยังคงเป็นปีที่ท้าทายอีกครั้งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย เนื่องจากยังคงต้องเผชิญกับหลายปัจจัย ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดจนแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ กิจกรรมทางการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ “ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 850,000 – 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 7-14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” ยามาชิตะระบุ สำหรับเป้าหมายของโตโยต้าในปี 2564 โตโยต้าตั้งเป้าหมายการขายอยู่ระหว่าง 280,000 - 300,000 คัน หรือคิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15 – 20 จากปีที่ผ่านมา และคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 33.3 ถือเป็นอันดับ 1 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 30.8 “ยอดขายรวมของโตโยต้าในปี 2563 ลดลง 26.5% หรือคิดเป็นจำนวน 244,316 คัน ซึ่งแม้ว่าเราจะเผชิญกับความยากลำบากมากมายในปีที่ผ่านมา แต่เราก็ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 30.8% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด เนื่องจากมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ส่งผลให้เราสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา” ยามาชิตะกล่าว ขณะที่ด้านการส่งออกในปี 2564 โตโยต้าคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจะอยู่ที่ 254,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18  จากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากภูมิภาคหลัก เช่น เอเชียและโอเชียเนีย โดยตั้งเป้าการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 527,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปี 2563 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายยอดขายของทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สำหรับปี 2563 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 215,277 คัน ลดลงร้อยละ 18.7 ปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 442,822 คัน ลดลงร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา   เร่งเดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ยามาชิตะ กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ก้าวสู่ยุคแห่งการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยโตโยต้ามุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรจากเดิมที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สู่การเป็น “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” (Mobility Company) โดยมีเป้าหมายเดินหน้ามอบความสุขให้กับสังคมไทย ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่โตโยต้าได้ดำเนินการเพื่อผลักดัน “ธุรกิจการขับเคลื่อน” จาก “พันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า 2050” บริษัทมีความมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็น “ศูนย์” ในทุกกิจการที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ที่ผ่านมา บริษัทได้แนะนำยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง บริษัทเชื่อมั่นว่ารถยนต์เหล่านี้นำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มการผลิตรถยนต์ไฮบริด ด้วยการแนะนำรถยนต์คัมรี ไฮบริด ตั้งแต่ปี 2552 และตามมาด้วยรถยนต์ไฮบริดอีกหลากหลายรุ่น อาทิ พรีอุส  ซีเอชอาร์ โคโรลลา อัลติส และโคโรลลา ครอส ซึ่งทุกรุ่นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าชาวไทย มียอดขายรวมทั้งสิ้นมากกว่า 100,000 คัน “เป้าหมายของเราคือส่งเสริมให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐและวางรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อนำไปสู่ยุคแห่งการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ การประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์และจุดยืนเดียวกันกับเราจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่ง” ยามาชิตะ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีพันธมิตรที่ร่วมกระบวนการบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดใช้แล้วแบบครบวงจร หรือ “3R Scheme” ประกอบด้วย การใช้ซ้ำ (Re-use) การผลิตแบตเตอรี่เกรดใช้งานแล้วลูกใหม่ (Re-build) และการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) นอกจากนี้ โตโยต้ายังสนับสนุนหลายโครงการเพื่อพัฒนาแผนกลยุทธ์ในการส่งเสริมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เริ่มจากการสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกับบรรดามหาวิทยาลัย โดยมุ่งศึกษาแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เช่น ความต้องการของลูกค้า ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และจะนำผลการศึกษาทั้งหมดไปหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทยังได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับเมืองพัทยา และโอซาก้า แก๊ซ เพื่อพัฒนา “โครงการการจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ” ซึ่งเป็นโครงการสาธิตเพื่อนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหลากหลายรุ่นมาใช้งาน โดยตอบโจทย์วัตถุประสงค์ในการสัญจรที่หลากหลายภายในเมืองพัทยา และจะยืนยันอีกครั้งว่าผลการศึกษาวิจัยสามารถนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่ และจะนำผลของโครงการจะเป็นต้นแบบสำหรับการต่อยอดในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป     ยกระดับเทคโนโลยี – การบริการ นอกจากนี้ ในฐานะ “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” โตโยต้าจะร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายเพื่อยกระดับการบริการ และเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการในรูปแบบใหม่ในการที่จะพัฒนาประสบการณ์การซื้อรูปแบบใหม่ (New Buying Experience) ผ่าน คินโตะ (KINTO) ซึ่งเป็นบริการเช่ารถ โดยจะเพิ่มตัวเลือกของรุ่นรถสำหรับให้เช่า และแพ็กเกจการให้บริการ พร้อมทั้ง “การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์รูปแบบใหม่” (Connected Auto Loan) หรือ CAL ที่ทำให้ลูกค้าสามารถ “เป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น” ผ่านระบบเทเลมาติกส์ รวมทั้ง ได้พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ “โตโยต้า วอลเล็ท” (Toyota Wallet) กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อเพิ่มอิสระในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และตอบสนองต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่ในยุคหลังโควิด-19 ในการยกระดับ “ประสบการณ์การใช้งานรูปแบบใหม่” (New Usage Experience) โดยนำเทคโนโลยี “T-Connect” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรถรุ่นใหม่ๆ หลากหลายรุ่น อาทิ ไฮลักซ์ รีโว่ ฟอร์จูนเนอร์ใหม่ โคโรลลา ครอส และอินโนว่า คริสต้า โดยมี “ระบบติดตามรถหาย” “รายงานการเดินทาง” “ค้นหาตำแหน่งรถ” และ “บริการผู้ช่วยส่วนตัว” เป็นต้น ยามาชิตะ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าโตโยต้าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทยังคงเดินหน้าสนับสนุนสังคมไทย ด้วยการดำเนินโครงการ "โตโยต้าเคียงคู่ไทย สู้ภัยโควิด-19” (Toyota Stay With You) ภายใต้ความร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายและผู้ผลิตชิ้นส่วนของเราทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “โตโยต้า ถนนสีขาว” “โตโยต้า เมืองสีเขียว” ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัท “โครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์” มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น “แม้เราจะอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาอันยากลำบาก ตามแนวทางของโตโยต้าในระดับโลกแล้ว ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางสำคัญในระดับภูมิภาคที่ทำหน้าที่ผลิตและส่งออกรถยนต์ของโตโยต้า และในฐานะที่เป็น “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” เรามุ่งมั่นที่จะทุ่มเทความพยายาม เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น” ยามาชิตะกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: “อสมท” ปรับโครงสร้างใหม่รับแผนธุรกิจในอนาคต

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine