ไทยครองแชมป์ตลาดรถ EV ในอาเซียน นักวิชาการแนะโอกาสรองรับการเติบโต - Forbes Thailand

ไทยครองแชมป์ตลาดรถ EV ในอาเซียน นักวิชาการแนะโอกาสรองรับการเติบโต

จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคของไทยหันมานิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) เพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยมีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ จากรถ BEV ทั้งหมดที่มีอยู่ใน 10 ประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน และคาดว่าปี 2566 นี้จะมีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40,000 คัน

 

    ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า รถ BEV ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมาจากการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมาก และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น 

    แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัด เนื่องจากสถานีชาร์จแบตเตอรี่ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดย ณ ต้นปี 2566 มีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าประมาณ 1,000 กว่าแห่ง คิดเป็นตัวเลขราว 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล 



    อีกทั้งตามสถานีแต่ละแห่งจะมีหัวชาร์จไฟฟ้าแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น และหลายแห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว แต่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่า DC มาก จึงทำให้ต้องใช้เวลานานในการชาร์จแต่ละครั้ง

    “ถ้าไม่ได้เดินทางไกลหรือใช้งานในเมืองเป็นหลักก็ไม่ค่อยมีปัญหา กลับมาชาร์จที่บ้านด้วย Home Charger ได้ แต่ถ้าออกไปต่างจังหวัดหรือต้องเดินทางไกล ก็ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะทางสั้นลงได้ เช่น การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิด”



    ดร.ชัยพร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ใช้งานรถ EV ยังมีปัญหาเรื่องแอปพลิเคชันไม่แจ้งเตือนกรณีหัวชาร์จที่ใช้ไม่ตรงกับหัวชาร์จของรถ หรือบางครั้งเจอรถที่ชาร์จเต็มแล้วแต่เจ้าของรถไม่อยู่ ก็ต้องเสียเวลารอ นอกจากนี้ เรื่องของแบตเตอรี่ที่เมื่อเกิดปัญหาอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากหลายแสนบาท ดังนั้นค่าเบี้ยประกันภัยรถ BEV จึงแพงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในค่อนข้างมาก เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยจะยังโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV 

    รวมทั้งภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องออกมารองรับความต้องการของตลาดได้มากขึ้นในอนาคต



อ่านเพิ่มเติม: บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้า “พลังงานหมุนเวียน” จากรัฐ


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine