ไอเดียการรักษาแบบองค์รวมของหมอรุ่นใหม่ - Forbes Thailand

ไอเดียการรักษาแบบองค์รวมของหมอรุ่นใหม่

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Apr 2025 | 09:30 AM
READ 470

    ความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ เป็นอีกเทรนด์ที่น่าจับตา ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความกว้างไกลของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น คุณหมอรุ่นใหม่ก็เช่นกัน มีแนวคิดการรักษาที่เปิดการเข้าถึงทุกช่องทาง เพื่อความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

    ออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการที่พบได้ในคนทั่วไปและพนักงานออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นระดับบริหารหรือพนักงานทั่วไป โรคนี้ดูเหมือนไม่ร้ายแรงแต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความเจ็บปวดและเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆ เป็นเวลานาน จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งจากเทคโนโลยี และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อปรับการใช้งานของร่างกายและกล้ามเนื้อ

​อ.นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์

​    ความเจ็บปวดทางร่างกายเป็นผู้ป่วยทางตรงของ PYONG Rehabilitation Clinic คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ โดย อ.นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งก่อตั้งคลินิกแห่งนี้มาเกือบ 2 ปี แนวทางที่น่าสนใจคือคุณหมอรุ่นใหม่ท่านนี้ พยายามสร้างเครือข่ายแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยในการส่งต่อและดูแลเคสที่ต่อเนื่องจากเรื่องของการเจ็บปวดกล้ามเนื้อและความเหนื่อยล้า ไปสู่การวิเคราะห์โอกาสที่จะมีโรคอื่นแฝงอยู่ พร้อมแนะนำและส่งต่อแพทย์เฉพาะทางให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย


​อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์

รวมแพทย์สหวิชาชีพ

    "จะเรียกว่าเป็นแนวคิดการรักษาแบบองค์รวมก็ไม่ผิด เพียงแต่เราไม่ได้รักษาที่คลินิกที่เดียวหรือแพทย์ท่านเดียว แต่มีแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ที่เรายินดีส่งต่อให้ผู้ป่วยได้ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงโรคต่างๆ" นพ.กันตพงศ์ ย้ำก่อนจะแนะนำให้รู้จักแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือการรับเคสต่อเนื่องที่เชื่อมโยง เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ และปวดไมเกรน เชื่อมโยงกันหรือไม่แค่ไหน นั่นคือ อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์ ประสาทแพทย์และอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคสมอง

    "ทีมเราดูแลการปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดเรื้อรัง การรักษาคนไข้ให้หายได้ ต้องใช้หลากหลายสหวิชาชีพความเชี่ยวชาญในกลุ่มจึงมี หมอสมอง หมอจิตเวท หมอจักษุ หมอโรคปอดทางเดินหายใจ เรามองว่าการจะรักษาต้องทำรอบด้าน ต้องแก้ไขทุกอย่างถึงจะหายได้" นพ.กันตพงศ์ กล่าว

    ด้านนพ.วนกร เล่าว่าโรคไมเกรน ปวดหัวไมเกรน คอบ่าไหล่ ที่อาจไม่รู้สาเหตุแต่รู้ว่าเกี่ยวกับสมองแน่ๆ ทุกวันนี้มี เครื่องเอ็มอาร์ไอตรวจสมองแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรไปกระตุ้น และอาการปวดมาจากปัจจัยภายในหรือภายนอก "ไมเกรนเรื่องใหญ่มาก ย้อนกลับไปอาการปวดมันเกิดมาพร้อมมนุษย์ โดยมีปัจจัยบางอย่างมากระทบ เริ่มต้นอาจไม่ได้แป็นโรค แต่การตอบสนองร่างกายไม่ปกติภายใน ส่งสัญญาณว่าข้างในไม่ดี เป็นเรื่องการใช้ร่างกายด้วย เช่น ถ้าไม่นอน 7 วันทุกคนเป็นไมเกรนแน่นอน"

    บางคนปวดไมเกรนทุกเดือน ทั้งที่ไม่ได้นอนน้อย ไม่ได้อดน้ำ ทำตัวปกติทุกอย่างก็ยังเป็น ถ้าปวดไมเกรนเป็นเฟสชั่วคราวต้องไม่เกิน 14 วันต่อเดือน ถ้ามากว่า 15 วันต่อเดือนถือเป็นโรค และถ้าปวดรุนแรงติดต่อกันมากกว่า 2 วันก็ถือว่าเริ่มเป็นโรคต้องรักษาเช่นกัน

    เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง การปรึกษาและส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ด้วยความเป็นคุณหมอรุ่นใหม่ที่การสื่อสารและประสานงานต่างๆ จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม มีความรวดเร็ว และเข้าถึงง่ายกว่า พวกเขาอธิบายสิ่งที่ทำนี้ว่า เป็นความร่วมมือของกลุ่มหมอรุ่นใหม่ ที่อยากเห็นการแพทย์ของไทยเข้าถึงง่าย และมีการรักษาแบบต่อเนื่องจริงจัง


​    เครือข่ายคุณหมอจาก PYONG Rehabilitation Clinic ยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการรักษาโรคแบบองค์รวมในวิถีที่ต่างออกไป ด้วยการจัดงานซัมมิทรวมคุณหมอรุ่นใหม่ในหลากหลายสาขาวิชา มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ที่ใกล้ตัวผู้คน โดยจัดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ครอบคลุมเรื่อง ออฟฟิศซินโดรม ภัยเงียบของคนรักงาน บรรยายโดย คุณหมอจาก PYONG Rehabilitation Clinic ศาสตร์แห่งความปวดหัว บรรยายโดย อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์ ประสาทแพทย์และอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศัตรูที่มากับอากาศ บรรยายโดย นพ.ฒัชชณพงศ์ จงเจริญยานนท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

    ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับยาติดบ้าน บรรยายโดย อ.นพ.ธนกฤต พงพิทักษ์เมธา ประสาทแพทย์และอาจารย์แพทย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดวงตาและหน้าจอ บรรยายโดย นพ.กรชัย แท่งทอง จักษุแพทย์ หัวหน้าแผนกจักษุวิทยา รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และหลับสนิท หายเครียด ฉบับมือใหม่ บรรยายโดย อ.นพ.ณภัทร์ ศิรินิ่มนวลกุล จิตแพทย์และอาจารย์แพทย์ ฝ่ายจิตเวชศาสตร์และศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ร่วมพันธมิตรหลากหลาย

    นอกจากจัดซัมมิทให้ความรู้เรื่องโรคต่างๆ ที่ใกล้ตัว นพ.กันตพงศ์ ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สามารถสั่งเก้าอี้ที่เหมาะสม จากเฟอร์นิเจอร์ชนินทร์ให้ผู้ป่วย หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังกิจกรรมพิลาทิส ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นความแข็งแรง และยังมีความร่วมมือกับแอปโซลูท คิวบิท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มารักษา ทั้งหมดนี้เริ่มจากการตรวจโดยแพทย์ และหารือการรักษาต่อเนื่องกับผู้ป่วย

    ข้อดีของกลุ่มคุณหมอรุ่นใหม่เหล่านี้ คือ การส่งต่อคนไข้ และเข้าถึงการปรึกษาโรคได้ง่ายกว่า ทลายกำแพงระหว่างหมอด้วยกันเองคุยกันได้ง่าย ผ่านช่องทางสื่อสารใหม่ๆ เมื่อจะส่งผู้ป่วยจึงสบายใจที่จะส่ง และสบายใจที่จะรับ และทลายกำแพงกับคนไข้ด้วย "แต่ก่อนคนแก่ชอบหมอใหญ่ แต่เดี่ยวนี้เลือกหมอเด็กเหมือนลูกหลาน เราดูแลเหมือนคุณย่า คุณยาย คือความสุขและเป็นข้อดีของหมอรุ่นใหม่ ที่ยืนหยุ่นง่ายและมีความรู้เทคโนโลยีรองรับได้ การใช้เอไอ และเทคโนโลยีต่างๆ มีความหลากหลาย ที่สำคัญรวดเร็วและเข้าถึงง่าย"