8 คำถามกับ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” วิสัยทัศน์แบรนด์ใหม่ ทิศทางดิจิทัล และการส่งไม้ต่อของซีอีโอ MK สุกี้ - Forbes Thailand

8 คำถามกับ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” วิสัยทัศน์แบรนด์ใหม่ ทิศทางดิจิทัล และการส่งไม้ต่อของซีอีโอ MK สุกี้

นานทีปีหนที่ ฤทธิ์ ธีระโกเมน แห่ง บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จะออกงานแถลงข่าวพบปะสื่อมวลชน แม้ว่าจะยังคงนั่งตำแหน่งซีอีโอและเป็นผู้กุมการตัดสินใจลงทุนในภาพกว้างของเครือร้านสุกี้ MK อยู่ก็ตาม

ฤทธิ์ ในวัย 68 ปียังคงแข็งแรงและตอบคำถามอย่างฉะฉาน ในโอกาสการเปิดคลังสินค้าของบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ เราจึงมีโอกาสถาม-ตอบวิสัยทัศน์การขยายตัวของเอ็มเคฯ กรุ๊ป ตั้งแต่เรื่องดีลลงทุนกับแหลมเจริญซีฟู้ด แบรนด์อื่นๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ จนถึงการเตรียมตัวลงจากตำแหน่งซีอีโอของฤทธิ์   Q: ทำไมจึงเลือกซื้อหุ้นในแหลมเจริญซีฟู้ด ฤทธิ์: ดีลนี้แนวคิดก็ไม่ซับซ้อน คือเครือเอ็มเคฯ ก็มีแบรนด์หลายแบรนด์ที่กำลังเติบโตอยู่ ทั้งเอ็มเค ยาโยอิ มิยาซากิ ฮากาตะ ฯลฯ ทีนี้ถ้าจะมีแบรนด์อื่นมาร่วมกันเราก็ยินดี พอดีเราได้เจอแหลมเจริญซีฟู้ด ซึ่งวัฒนธรรมเราเข้ากันได้ และเขาก็เหมาะกับเรามากเพราะเรายังไม่มีอาหารทะเล และเขาก็เป็นแบรนด์ไทยที่มีอยู่แล้ว 26 สาขา เรามองว่าเอ็มเคฯ แข็งแรงพอที่จะเข้าไปช่วยเขา โดยเข้าไปถือหุ้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เข้าไป 65% ทีมงานเดิมของเขาก็ยังบริหารอยู่ แต่เราจะช่วยเร่งการเติบโตให้เขาด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่เรามี เช่น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ส่วนจะไปถึงกี่สาขานั้นก็มีเป้าในใจตั้งแต่ก่อนเข้าซื้อหุ้นแต่ยังบอกไม่ได้ Q: เอ็มเคฯ จะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ๆ อีกหรือไม่ ฤทธิ์: เดี๋ยวก็มีอีก เป็นไปได้ทั้งการซื้อกิจการ ซื้อแฟรนไชส์ และการสร้างขึ้นมาใหม่ ถ้าเรื่องซื้อกิจการก็มีคนคุยเรื่อยๆ แต่ก็ด้องดูดีๆ อย่างแหลมเจริญฯ คุยกันถึง 1 ปีกว่าจะปิดดีล บางเจ้าที่เราคุยแล้วปรากฏว่าเข้าไม่ได้เราก็ต้องถอยออกมา ที่จริงจะเป็นการซื้อกิจการหรือซื้อแฟรนไชส์ หรือจะปั้นแบรนด์ขึ้นมาเองนั้นควรทำทั้ง 2 แบบ เพราะการซื้อก็ทำให้โตเร็ว แต่ข้อเสียก็มี เช่น ต้องเสียค่าแฟรนไชส์ และอาจจะไม่แข็งแรงเท่าการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง Q: มีแนวทางการคัดเลือกแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ อย่างไร ฤทธิ์: เรายังโฟกัสกลุ่มรายได้ปานกลาง (middle income) เราคงไม่ลงไประดับ street food เพราะทำยากมาก หากจะให้มี food safety ที่ดีจะได้มาร์จิ้นต่ำ ตอนนี้ที่กำลังสนใจคืออาหารต่างประเทศ แต่ไม่ใช่กลุ่มฟาสต์ฟู้ด ยกตัวอย่างแบบสมมติ เช่น อาหารอิตาเลียนที่ราคาไม่แพงมากนัก เพราะอาหารอิตาเลียนเป็นอาหารที่คนทั่วโลกรู้จัก
ร้านแหลมเจริญซีฟู้ด สาขาสยามพารากอน : เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ใช้งบลงทุน 2,060 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 65% ในเครือร้านอาหารนี้ (PHOTO CREDIT: PITSINEE JITPLEECHEEP / Bangkok Post)
Q: ภาพใหญ่ของเอ็มเคฯ กรุ๊ป มุ่งเป้าในเรื่องใด ฤทธิ์: เอ็มเคฯ เราเหมือนงูลอกคราบ ทุกๆ 7 ปีเราจะเปลี่ยน อย่างในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเรามีความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลสูงมาก ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแทบเล็ต สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นได้ เร็วๆ นี้ร้านเอ็มเคสุกี้กับยาโยอิทุกสาขาจะเปลี่ยนไม่ใช้เมนูกระดาษทุกสาขา หรือบางสาขาจะเห็นเครื่องทอนเงินอัตโนมัติ ใส่เงินเข้าไปแล้วเครื่องจะทอนเงินออกมาเลย ป้องกันความผิดพลาดที่บางครั้งพนักงานหยิบผิดหยิบถูก เครื่องนี้ลงในร้านเอ็มเคไปแล้วประมาณ 20 สาขา สิ่งที่เราตระหนักเสมอคือเรื่องดิจิทัล เราจะคอยดูว่ามีอะไรใหม่ในยุคดิจิทัลที่จะกระทบอุตสาหกรรมของเราคือเรื่องอาหารได้บ้างไหม อย่างตอนนี้เราเห็นเครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นไปได้ไหมที่เครื่องนี้จะใช้พิมพ์อาหารออกมาได้เลย พิมพ์แป้งแล้วออกมาเป็นเส้นหมี่ได้ทันที หรือเรื่อง Big Data / AI เราก็คิดว่าวันหนึ่งจะเป็นไปได้ไหมถ้าข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ว่าลูกค้าอยากจะรับประทานอะไรแบบเฉพาะเจาะจง Awareness เรื่องดิจิทัลนี้ทำให้ถ้าเราเจออะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจเราจะได้นำมาทดลองดูว่าเวิร์กไหม ถ้าเวิร์กเราจะลงทุกสาขา ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้นำเสมอในธุรกิจ
ร้านเอ็มเค ไลฟ์ เปิดตัวเมื่อปี 2560 เป็นหนึ่งในแบรนด์คอนเซปท์ใหม่ในระยะหลังของเอ็มเค (PHOTO CREDIT: วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี / Post Today)
Q: อนาคตเอ็มเคฯ กรุ๊ปในอีก 5 ปีจะเป็นอย่างไร ฤทธิ์: เดี๋ยวนี้อนาคต 5 ปีไม่มีแล้วนะครับ เมื่อก่อนทุกบริษัททำแผน short term กับ long term ปัจจุบันนี้เหลือแต่ short term เพราะบางทีเราคิดแผนไปปีหน้าก็ใช้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตัดสินใจว่าเราจะตัดสินใจฉวยโอกาสที่เข้ามาหรือไม่มากกว่า สิ่งที่เราจะเตรียมได้ในยุคนี้คือ หนึ่ง เตรียมเงิน พร้อมสำหรับโอกาส เช่น สมมติมีที่ดินดีๆ เข้ามาเราจะซื้อหรือไม่ก็ต้องพร้อม สอง เตรียมตัวเอง เราต้องทำตัวเองให้พร้อมรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้นได้เสมอ ก็คือต้องทำ finance ของเราให้แข็งแรง ไม่อย่างนั้นมีวิกฤตสักทีหนึ่งเราเจ๊งเลย อย่างเอ็มเคฯ เรามีกองทุนเงินสำรองไว้และเราไม่มีหนี้สิน สุดท้ายคือ การทำดีกับสังคม เพราะถ้าวันหนึ่งเราล้มเขาจะช่วยสนับสนุนเราได้ Q: การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นความท้าทายของเอ็มเคฯ กรุ๊ปหรือไม่ ฤทธิ์: ผมคิดว่า ‘ยิ่งโตยิ่งช่วยกันโต’ มากกว่า ยกตัวอย่าง สมมติว่ามีตลาดโต้รุ่งที่ในนั้นมีร้านอาหารแค่ 2 ร้าน คุณเป็นลูกค้าคุณคงไม่ไปที่ตลาดนั้น แต่ถ้ามีสัก 20 ร้านให้เลือกคุณก็คงอยากไป ดังนั้นยิ่งมีร้านเยอะยิ่งเกิดวัฒนธรรมการทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นอีก อีกอย่างคือการมีคู่แข่งนั้นเราไม่กลัว เพราะเขาอาจจะทดลองอะไรใหม่ๆ ก่อนเรา แต่เขาไม่สามารถมีร้านอาหาร 700 สาขาเท่าเราตั้งแต่แรก ดังนั้นถ้าเขาทดลองอะไรในร้านเขาแล้วมันเวิร์ก เราทำตามได้เลยทั้งเครือ อย่าคิดว่าเอ็มเคฯ ไม่ copy ใครนะครับ! (หัวเราะ) Q: สภาวะตลาดธุรกิจร้านอาหารปี 2562 เป็นอย่างไรบ้าง ฤทธิ์: ปกติเอ็มเคฯ โตปีละ 5-8% ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ยังปกติอยู่ แต่ตั้งแต่เข้าเดือนกรกฎาคมจนถึงตอนนี้ กำลังซื้อดูจะแผ่วลงไป นโยบายรัฐ ชิม ช้อป ใช้ นั้นยังเห็นไม่ชัดเพราะเพิ่งใช้ระยะสั้น ยังพูดไม่ได้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ Q: เป้าหมายส่วนตัวของฤทธิ์ ธีระโกเมน ฤทธิ์: ส่วนตัวคือผมอยากจะถอยไปเป็น consult แล้วนะ ผมกำลังดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นซีอีโอแทนได้ ทุกวันนี้ผมไม่ได้ดู day-to-day operation แล้ว มีผู้บริหารเกือบสองโหลที่เข้ามาดูแล แต่พอดีทุกคนก็มาดูแลคนละส่วนงานกัน การที่จะเป็นซีอีโอจะต้องรู้ทุกส่วน ดังนั้นเราต้องฝึกคนขึ้นมา  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine