40 ปี ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ธีรพงศ์ จันศิริ ตั้งเป้าทำรายได้ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน 3 ปี ชูนวัตกรรมแปรรูปจากอาหารทะเล - Forbes Thailand

40 ปี ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ธีรพงศ์ จันศิริ ตั้งเป้าทำรายได้ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน 3 ปี ชูนวัตกรรมแปรรูปจากอาหารทะเล

ธีรพงศ์ จันศิริ นำทีมผู้บริหาร เผยก้าวต่อไป ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบท้องทะเล เดินหน้าสานต่อนโยบายความยั่งยืน

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยถึงความสำเร็จของบริษัทตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ว่า “บริษัทของได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1977 จากผู้ผลิตปลาทูน่าเล็กๆ ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีพนักงานเพียง 140 คน เรามีความภูมิใจที่บริษัทคนไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานราว 49,000 คน และมีรายได้รวมกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ” สิ่งที่ทำให้บริษัทเราแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล คือการกระจายผลิตภัณฑ์ 6 กลุ่มธุรกิจหลักคือ ปลาทูน่า กุ้ง อาหารสัตว์โดยเฉพาะอาหารหมาและแมว แซลมอน ซาดีน และอาหารพร้อมรับประทาน นอกจากนั้นเรายังเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เราเป็นเจ้าของแบรนด์ Chicken of the Sea ซึ่งเป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐฯ และยังเป็นเจ้าของบริษัท Chicken of The Sea Frozen Foods นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ด้านทวีปยุโรปเรามีแบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่าง John West ซึ่งแบรนด์อันดับหนึ่งในประเทศอังกฤษ ผลิตภัณฑ์จากปลาซาดีนกับแบรนด์อันดับหนึ่งจาก Parmentier ของประเทศฝรั่งเศส สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีแบรนด์ Selected Tuna ในการทำการตลาด ซึ่งรายได้จากการขายกว่า 70% ของบริษัทมาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้จัดหน่วยงานเพื่อศึกษาและรองรับการทำงานในตลาดเกิดใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยเฉพาะในตลาดประเทศจีน มาเลเซีย กลุ่มประเทศ CLMV  และกลุ่มประเทศจากตะวันออกกลาง หน่วยงานที่สองคือ Global Food Service Channel ที่ความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่สาขากระจายในทั่วโลก หน่วยงาน Marine Ingredients ที่ทำงานกับส่วนต่างๆ ของวัตถุดิบต่างๆ ของปลาทูน่า โดยนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากปลาทูน่า อาทิ ปลาทูน่าสไลด์ ไส้กรอกปลาทูน่า และนวัตกรรมเด่นคือ น้ำมันสกัดจากปลาทูน่า ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากหน่วยงานวิจัยที่ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมันนีคาดว่าจะเห็นน้ำมันสกัดจากปลาทูน่าหยดแรกราวกลางปี 2561 “หน่วยงาน Marine Ingredients เป็นหน่วยงานที่ผลิตสินค้าซึ่งเป็นส่วนผสมในการนำไปใช้ในสินค้าประเภทอื่นๆ อาทิ ส่วนผสมในนมทารก” ธีรพงศ์ จันศิริ กล่าว สำหรับหน่วยงานสำคัญ 2 หน่วยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตของบริษัทคือ ศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator ที่ก่อตั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาโดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในตลาดปัจุจบันอย่างสิ้นเชิงและช่วยลดต้นทุนการผลิต โดย TUF ได้ลงทุนในการจัดตั้งโรงงงานเพื่อผลิตน้ำมันสกัดจากทูน่าในประเทศเยอรมันนีและประเทศไทย เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตทางด้านนวัตกรรมในช่วงปีแรกมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จากปลาทูน่าเป็นหลัก โดยปี 2561 เตรียมพัฒนานวัตกรรมใหม่จากกุ้งและอาหารสัตว์เลี้ยง
ทูน่าชิ้นสเต๊ก
ไส้กรอกจากเนื่้อปลาทูน่า
อีกหน่วยงานสำคัญ Sustainability Development หน่วยงานเพื่อพัฒนางานความยั่งยืน "การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่การทำงาน CSR แต่การทำอย่างจริงจังในเรื่องทรัพยากรและการประมงที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย การปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความแตกต่างให้กับบริษัทในการค้าขายบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเหล่านี้คือแนวทางของเราในอนาคต เรามองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาตนเองรวมถึงการพัฒนาบุคลากรของบริษัท” ธีรพงศ์ กล่าว สำหรับตัวเลขการลงทุนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีงบลงทุนในการปรับปรุงและการจัดการสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัทราว 3.5-4.5 พันล้านบาท ด้านการลงทุนด้านนวัตกรรมนั้น 2 ปีแรกเราลงทุนในการสร้างศูนย์นวัตกรรมราว 600 ล้านบาท และจากปี 2561 เราคาดการณ์จากมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี สำหรับการลงทุนทางด้าน M&A นั้น บริษัทยังคงมองหาบริษัทเพื่อลงทุนขนาดใหญ่แต่การสร้างดีลใหญ่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของ TUF เราเน้นการบริหารจัดการบริษัทต่างๆ ที่เราควบรวบมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีมากยิ่งขึ้น “ในช่วงที่ผ่านมาเรายังมีความสามารถในการ M&A ระดับพันล้านเหรียญฯ ถ้าเราเจอเป้าหมายที่น่าสนใจ” ธีรพงศ์ จันศิริ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาบริษัทเราผ่านวิกฤตมาค่อนข้างมากและผู้ประกอบการที่ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่เป็นบริษัทที่เข้มแข็งและเราเชื่อว่าในบริษัทในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนของเราความเชื่อมั่นในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน เชื่อมั่นในโอกาสทางการค้าและทิศทางที่เราได้ตั้งเป้าเอาไว้”