เอ็มไอ ส่ง ‘Survival Hacks’ ทางรอดธุรกิจ - Forbes Thailand

เอ็มไอ ส่ง ‘Survival Hacks’ ทางรอดธุรกิจ

เอ็มไอกรุ๊ปดอทเอเจนซี่ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำคู่มือรวมเทคนิคพาธุรกิจรอด 2022 ‘The Survival Hacks’ รวมปัจจัย พา-รา-นอยด์ ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย แนะเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตา และ 5 แนวทางในการปรับตัว

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า เอ็มไอกรุ๊ปดอทเอเจนซี่ ร่วมกับ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ ‘The Survival Hacks’ เทคนิคพาธุรกิจรอดในปี 2022 รวบรวมปัจจัย ‘พา-รา-นอยด์’ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปี 2022 การคาดการณ์เศรษฐกิจ และเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตา พร้อมแนะ 5 แนวทางที่ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ได้แก่ อัตราการว่างงานสูง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นในการจับจ่าย การอนุมัตสินเชื่อยากขึ้นทั้งบุคคล และ SMEs สถาบันการเงินยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ SMEs ขาดเงินทุนหมุนเวียน/ฟื้นฟูธุรกิจ บุคคลหันกู้หนี้นอกระบบ ภาระดอกเบี้ยสูง คาดนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่ถึง 30% หรือต่ำกว่า 10 ล้านคน เศรษฐกิจแย่สินค้าจีนทะลักเข้าไทย และ ความขัดแย้งทางสังคม ทั้งความเหลื่อมล้ำและปัญหาการเมือง สำหรับประเทศไทย แม้ดูเหมือนว่าวิกฤตินี้กำลังค่อยๆ คลี่คลายและฟื้นตัว แต่กลับมีข่าวโควิดสายพันธ์ใหม่ โอมิครอน ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะกระทบต่อประเทศไทยระดับไหน ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจและกิจการ ที่ต้องปิดตัวลงถาวร อัตราคนว่างงาน ตกงาน ยังสูงอยู่และมีแนวโน้มจะลากยาว ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย” ภวัตกล่าว เทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมาย แต่มีกลุ่มสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มคึกคักเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. รถยนต์ โดยเฉพาะ EV หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ 2. ธุรกิจที่สอดคล้องกับวิถีใหม่ อาทิ E –Maket Place เดลิเวอรี่ บริการสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์ม 3. สินเชื่อส่วนบุคคล 4. สินค้าในหมวดสุขภาพ ความงาม และสุขอนามัย 5. ท่องเที่ยวและการพักผ่อนในประเทศ 6. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ขณะที่เทรนด์การบริโภคสื่อและรูปแบบการสื่อสารที่จะโดดเด่นในปี 2022 เกิดจากคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแตะร้อยละ 80 แพลตฟอร์ม TikTok ยังแรงต่อเนื่อง สามารถขายของได้ดีขึ้น รวมถึง Video Ad และไลฟ์สด กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสเปเชี่ยลลิสต์ ไมโคร และนาโน อินฟลูเอนเซอร์ สมาธิและความอดทนที่ต่ำลงต้องดึงความสนใจของผู้บริโภคใน 2 วินาทีแรก เลือกใช้สื่อที่นำไปสู่ยอดขายโดยตรงแบบวัดผลได้ ความคิดสร้างสรรค์และแตกต่างคือปัจจัยสู่ความสำเร็จ รศ.ดร.วิเลิศ แนะแนวทางสำหรับภาคธุรกิจต้องปรับตัวด้วย 5’Res หรือ 5 เปลี่ยน ได้แก่ Retool เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน เปลี่ยนเครื่องมือและวิธีการทำงานผ่านเทคโนโลยี การสื่อสารผ่านออนไลน์หรือการใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจ Re-Target เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย เช่น ธุรกิจโรงแรมต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหันมาดูสิ่งที่มีในมือ เช่น คนไทยในละแวกนั้น จังหวัดนั้น หรือคนที่ต้องการเซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ หรือการให้เช่าแบบรายชั่วโมง Re-Business เปลี่ยนวิธีหารายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่ ปรับไปหารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ แทน เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีรายได้จากการเข้าพัก เปลี่ยนไปให้บริการซัก อบ รีดแทน เป็นต้น Re-Process เปลี่ยนกระบวนการเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้า หลายธุรกิจที่ลูกค้าไม่กล้ามา แทนที่จะนั่งรอก็ไปรับลูกค้าถึงที่ ทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงความปลอดภัยและการบริการ Reunite เปลี่ยนใจให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทุกหน่วยงานควรช่วยกันประคับประคองธุรกิจซึ่งกันและกัน สายการบินยอมให้คืนตั๋ว โรงแรมยอมเลื่อนการเข้าพัก ลูกค้ายอมจ่ายบางส่วน เป็นต้น ด้านเอ็มไอกรุ๊ป มีข้อแนะนำ Key Takeaway 2022 ดังนี้ 1. 3As ได้แก่ Aware Adapt Agility ตระหนัก พร้อมเปลี่ยนแปลง อย่างปราดเปรียว คือกุญแจสำคัญ 2. 5 ถูก ถูกคน ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา และถูกโอกาส การตลาดแบบรู้ใจปัจเจก (Personalized Marketing) เพิ่มโอกาสปิดการขาย 3. Diversification กระจายความเสี่ยง หาน่านน้ำใหม่ ๆ เพื่อความยั่งยืน และ 4. Data & Creative Integrated ด้วย “CREATIVE DATA” ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี มาช่วยสร้างสรรค์เพื่อความแตกต่างและโดนใจ คาดอุตสาหกรรมโฆษณาฟื้นตัว ภวัต กล่าวว่า สำหรับปีนี้คาดว่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาจะอยู่ที่ 7.45 หมื่นล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน โดยสื่อทีวีและอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นสื่อที่เติบโต 1% และ 12% ตามลำดับ ขณะที่สื่ออื่น ๆ หดตัวลง สำหรับปี 2565 คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะกลับมาเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ซึ่งเอ็มไอคาดการณ์ไว้ที่ 13% หรือมีการใช้จ่ายเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าสื่อทีวีจะมีสัดสวนต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรก “แม้ว่ากำลังซื้อคนส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบ แต่นักการตลาดต้องพยายามแย่งชิงโอกาสตลาดอันน้อยนิดตรงนั้น ทำให้เกิดการแข่งขันในการสื่อสารการตลาด โปรโมชั่น ปีหน้ามีคนสองกลุ่ม กลุ่มบน ยังมีกำลังซื้อ ทำให้สินค้าไฮเอนด์ยังขายได้อยู่ อีกกลุ่ม ซื้อน้อยลง บริโภคน้อยลง พยายามใช้กลยุทธ์แย่งชิงกำลังซื้อมาให้ได้” ภวัตกล่าวตอนท้าย อ่านเพิ่มเติม: เปิดตัวเรียลสมาร์ท ดิจิทัลเอเยนซี่ยุค METAVERSE
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine