"เซ็น" ลุยโมเดลใหม่ พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส - Forbes Thailand

"เซ็น" ลุยโมเดลใหม่ พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส

ธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้านกระทบหนัก กลุ่ม "เซ็น" ปรับแผนธุรกิจร้านอาหารใหม่ หลังเจอวิกฤต COVID-19 ทุบยอดร่วง ลุยโมเดล Virtual Store รองรับบริการเดลิเวอรี่โตแรง คาดตลาดรวมพุ่งแสนล้านบาทปีนี้ พร้อมลดงบลงทุน ปรับทิศขยายธุรกิจแฟรนไชส์ หั่นเป้าเติบโตเหลือ 5%

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างมากในปีนี้ โดยคาดว่าธุรกิจทั้งระบบมูลค่าราว 4.4 แสนล้านบาท จะหดตัวลง 5-10% เหลือประมาณ 4.1 แสนล้านบาท ถือเป็นอัตราการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ขณะที่ธุรกิจของ ZEN ซึ่งมีร้านอาหารรวม 15 แบรนด์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาสาขาในแหล่งท่องเที่ยวยอดขายลดลงประมาณ 50% ส่วนสาขาในศูนย์การค้าลดลง 15-30% ขณะเดียวกันบริการเดลิเวอรี่เติบโตสูงมาก 2-3 เท่าตัว ทำให้ยอดขายโดยรวมเฉลี่ยลดลง 20% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตมีโอกาส เนื่องจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจบริการเดลิเวอรี่เติบโตสูงมาก 2-3 เท่าตัว โดยคาดว่าตลาดธุรกิจเดลิเวอรี่จะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท

 

หั่นเป้าเหลือเติบโต 5%

บุญยง กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2563 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตที่ 15-20% จากการวางแผนขยายธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบใหม่ รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ แต่จากสถานการณ์ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องปรับเป้าหมายใหม่ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็วภายใน 6 เดือน เชื่อว่าบริษัทยังเติบโตได้ประมาณ 5% ทั้งรายได้และกำไร แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 1 ปี ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้งก่อนปรับตัวเลขคาดการณ์

อย่างไรก็ตาม บุญยงเชื่อว่า ผลประกอบการของบริษัทน่าจะยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการทดลองปรับโมเดลธุรกิจร้านอาหารใหม่ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงนี้ โดยเฉพาะการให้บริการเดลิเวอรี่ที่เติบโตสูงมาก ซึ่งบริษัทได้ขยายบริการทั้งในส่วนเบอร์โทร 4 หลัก (1376) และบริการสั่งผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มต่าง ซึ่งบางพื้นที่ยอดสั่งผ่านเดลิเวอรี่สูงถึง 80%

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับหน้าร้านของ ZEN ในสาขาที่มีพื้นที่บริการอยู่ในศูนย์การค้าให้เป็น Virtual Store หรือ Cloud Kitchen หรือครัวกลางเพื่อรองรับบริการเดลิเวอรี่ของแบรนด์อื่นๆ ในเครือ ZEN โดยเฟสแรกจะดำเนินการ 5 สาขา ได้แก่ สาขาดองกิ มอลล์ ทองหล่อ, สยามสแควร์ วัน, เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะแจ วังหิน และอาคารออล ซีซั่น เริ่มให้บริการ 18 มีนาคมนี้ และจะขยายบริการให้ครบ 20 สาขาใน 3 เดือน

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ทดลองปรับพื้นที่ของร้านตำมั่ว เพื่อรองรับบริการเดลิเวอรี่ของแบรนด์อาหารจานด่วน เช่น เขียง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี เข้ามาชดเชยยอดขายของร้านตำมั่วในพื้นที่เสี่ยงได้ประมาณ 15-20% ซึ่งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ หากไปได้ดีจะขยายต่อเนื่องบุญยงกล่าว

 

ลดงบลงทุน มุ่งขยายแฟรนไชส์

ด้านแผนการลงทุนในปีนี้ บุญยงได้ปรับเป้าหมายการขยายสาขาจากเดิมที่วางงลงทุนไว้ 200 ล้านบาท สำหรับขยายสาขาร้านอาหารรวม 100 สาขา โดยส่วนใหญ่จะเน้นแบรนด์เขียง ซึ่งเป็นแบรนด์น้องใหม่สไตล์อาหารแบบสตรีทฟู้ด แต่ในปัจจุบันบริษัทได้ปรับแผนลงทุนใหม่ ลดงบลงทุนเหลือ 80 ล้านบาท และขยายสาขาใหม่ 40 สาขา เป็นแบรนด์เขียง 30 สาขา ที่เหลือเป็นแบรนด์ AKA ตำมั่ว หรือดินส์ ซึ่งจะทำให้ปีนี้ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นจะเปิดให้บริการรวม 390 สาขา เป็นสาขาของแฟรนไชส์ 100 สาขา

ขณะเดียวกันบริษัทจะมุ่งขยายแบรนด์เขียงในรูปแบบแฟรนไชส์ 100 สาขา โดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ภายใต้แบรนด์โคคา-โคลาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด โดย บมจ.หาดทิพย์ ถือหุ้น 75% และ บมจ.เซ็นฯ ถือหุ้น 25% เพื่อขยายธุรกิจดังกล่าว

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะขยายร้านเขียงในภูมิภาค โดยเฉพาะพันธมิตร บมจ.หาดทิพย์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเลือกทำเล และรู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายสาขาในภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่บุญยงกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ที่ได้เจรจากับศูนย์การค้าเพื่อผ่อนผันลดค่าเช่า และเจรจากับซัพพลายเออร์ในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ และแรงงาน ซึ่งมีการใช้พนักงานของแต่ละสาขามาให้บริการเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้อัตรากำไรของบริษัทยังสามารถเติบโตได้จากปีก่อนที่มีกำไร 107 ล้านบาท และมีรายได้ 3.1 พันล้านบาท

 
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine