ศาลปกครองสั่ง "เปิดทางเข้า-ออก" เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต - Forbes Thailand

ศาลปกครองสั่ง "เปิดทางเข้า-ออก" เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต

รายงานข่าวจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ให้ ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวาง ซีพีเอ็นเตรียมเปิดห้างฯ เวลา 10.39น. พรุ่งนี้

(UPDATE 30 สิงหาคม 2562 เวลา 16.30 น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิด กรณี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราวจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 แต่ ทอท. ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการและไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางดังกล่าว เป็นเหตุให้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งนี้ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ดําเนินการก่อสร้างโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 154871 และโฉนดที่ดินเลขที่ 154873 ตําบลบางโฉลง อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 (บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) ได้รับอนุญาตให้ทําทางเชื่อม ในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราว เพื่อทําทางเข้าออกและใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อประกอบกิจการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต แล้ว ตามหนังสือที่ กค 06074/ ส.3/1621 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ผู้ถูกฟ้องคดี (บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)) ได้ดําเนินการตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ และไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางดังกล่าวผ่านเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ฯ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีตามข้อ 2 ของระเบียบกระทรวงการคลังและ กรมการบินพาณิชย์ ว่าด้วยการให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ใช้ประโยชน์ ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ พ.ศ. 2545 และข้อ 5 ประกอบกับข้อ 10 ของข้อตกลงระหว่าง ผู้ถูกฟ้องคดีกับกรมการบินพาณิชย์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2545 ก็ตาม แต่เรื่องสถานะความเป็นที่ราชพัสดุของที่ดินบริเวณพิพาทยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะยื่นสําเนา หนังสือกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 030515039 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ราชพัสดุบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้นแล้วปรากฏว่า กรมท่าอากาศยาน (กรมการบินพลเรือน เดิม) ได้จัดซื้อจากราษฎรด้วยเงินงบประมาณ ในช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2513 เพื่อใช้ในราชการของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกรมท่าอากาศยาน และได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้จํานวน 26 ทะเบียน รวมเนื้อที่ประมาณ 184 - 13 - 26 ไร่ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นทางเข้า – ออก ของสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศใต้เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี ดังนั้น กรมท่าอากาศยานในฐานะผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ และ ทอท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์แทน ทั้งสองหน่วยงานจึงมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบํารุงรักษาแนวเขต ที่ราชพัสดุร่วมกัน และกรณีที่มีการรุกล้ำที่ราชพัสดุหรือมีการกระทําที่ผิดกฎหมายจะต้องพิจารณาดําเนินการกับผู้กระทําความผิดให้เป็นไปตามกรอบอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดไว้ก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ บริเวณดังกล่าวเป็นเขตทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง และผู้ถูกฟ้องคดีเองก็เคยมีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ขออนุญาตกรมทางหลวงเพื่อก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก และเมื่อพิจารณาข้อกําหนดและข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเพียงหน่วยงานที่ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองและควบคุมดูแลของกรมการบินพาณิชย์ และมีหน้าที่ดูแลและระวังรักษาแนวเขตที่ราชพัสดุที่ได้รับมอบมิให้บุคคลใดมารบกวนการครอบครองหรือใช้สิทธิครอบครองโดยปรปักษ์เท่านั้น มิได้มีอํานาจอื่นเกี่ยวกับที่ราชพัสดุดังกล่าว อีกทั้งการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับอนุญาตให้ทําทางเชื่อมและใช้ทางเชื่อมดังกล่าวเป็นทางเข้าออกและการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็มิได้มีลักษณะเป็นการรบกวนการครอบครองหรือใช้สิทธิครอบครองโดยปรปักษ์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ดังนั้น จึงถือว่าคําฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีมูล และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้ถ้อยคํายืนยันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอํานาจที่จะกระทําการตามฟ้อง แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะกระทําซ้ำหรือกระทําการดังกล่าวต่อไป และปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวมีผลทําให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีด้วย และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้ทางเชื่อมดังกล่าวจะทําให้ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มีความเสียหายทั้งด้านการเงิน ด้านเศรษฐกิจของประเทศ และความเสียหาย ด้านการให้บริการสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ศาลเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น และเห็นได้ว่า ในขณะนี้การให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อประกอบกิจการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลจะมีคําสั่งกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามคําขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่เป็นการเสียหาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดี “จึงมีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากเขตทางหลวง แผ่นดินหมายเลข ๓๗๐ บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดําเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ ประโยชน์ใด ๆ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และการดําเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง กับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น”  

เซ็นทรัลถือฤกษ์ เปิดเวลา 10.39 น. พรุ่งนี้

ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอ็น พันธมิตรร้านค้า กว่า 150 ร้าน และพนักงานกว่า 1,000 คน ขอขอบคุณภาครัฐ ศาลปกครอง ประชาชน สื่อมวลชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่มีความจริงใจ ช่วยสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรม และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ให้โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ตระดับโลกแห่งแรกของไทย สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดวันพรุ่งนี้ (31 สิงหาคม) ตั้งแต่เวลา 10:39 – 22:00 น. ตามที่ได้ตั้งใจไว้ โดยเรามุ่งหวังประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของชาติเป็นสำคัญ โดยมีที่จอดรถ 1,500 คัน และบริการรถ Shuttle Bus รับ-ส่งฟรี 2 จุดจากในเมือง เซ็นทรัลเวิลด์ และ BTS อุดมสุข

โครงการยังยืนยันได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง มีความปลอดภัยต่อการบิน ทั้งความสูง และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะกระทบ หรือรบกวนการบิน เป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทุกประการ โดยลูกค้าสามารถเดินทางมาได้สะดวกด้วยเส้นทางต่างๆ ดังนี้

1. บริการฟรีรถรับส่ง (Free Shuttle Bus) จากเซ็นทรัลเวิลด์ ออกวันละ 3 รอบ คือ 11.00, 15.00 และ 19.00 น. และ จากป้ายรถประจำทาง สถานีบีทีเอสอุดมสุข หมุนเวียน วันละ 5 รอบ คือ 10.00, 12.30,15.00, 18.00 และ 20.30
2. ขนส่งสาธารณะ (รถไฟฟ้าบีทีเอส-แอร์พอร์ต เรล ลิงก์-รถประจำทาง) เดินทางได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีอุดมสุข ใช้ทางออก 1,3 หรือ 5 แล้วต่อ Shuttle Bus มายังโครงการ หรือ เดินทางด้วย แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลงที่สถานีสุวรรณภูมิ แล้วเรียก Taxi หรือ หากเดินทางด้วยรถประจำทาง สาย 558 (สนามบินสุวรรณภูมิ-เซ็นทรัล พระราม 2) ลงป้าย วิทยาลัยเกริกแล้วเดินต่อ 450 เมตร 3. รถยนต์ส่วนตัว เดินทางมุ่งหน้ายังสนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 4. บริการ GRAB ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ ตั้งแต่ 31 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2562 ใช้ GrabCar Premium and SUV เดินทางไป-กลับ เซ็นทรัลเวิลด์ หรือ เซ็นทรัล วิลเลจ ราคาเดียว 450 บาท ใส่โค้ด “SVB450” หรือใช้ GrabCar Luxe เดินทางไป-กลับ เซ็นทรัลเวิลด์ หรือ เซ็นทรัลวิลเลจ ลดทันที 300 บาท ใส่โค้ด “SVB300” *ส่วนลดต่อวันมีจำนวนจำกัด   อ่านเพิ่มเติมการชี้แจงประเด็นข้อพิพาทจากซีพีเอ็นได้ที่นี่