ลาซาด้า เจาะลึก "อีคอมเมิร์ซ เซาท์อีสเอเชีย" มูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท - Forbes Thailand

ลาซาด้า เจาะลึก "อีคอมเมิร์ซ เซาท์อีสเอเชีย" มูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท

ตลาดค้าปลีกออนไลน์ หนี่งในช่องทางการค้ายุคอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดูเหมือนเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนี้โตเร็วยิ่งขึ้นอีก ลาซาด้า แพลตฟอร์มค้าปลีกภายใต้อาณาจักรอาลีบาบามั่นใจ ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเซาท์อีสเอเชียพุ่งแตะ 5.5 ล้านบาทในปี 2568

ตั้งแต่ 9.00 น. (1 ก.ย.) ตามเวลาประเทศไทย ลาซาด้า จัดงานเว็บบินาร์ LazMall Brands Future Forum (BFF) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งงานนี้เป็นการสรุปมุมมองต่อภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมอบรางวัล Brand Future ของ LazMall หลังจากที่ลาซาต้าได้เปิดตัว Laz Mall เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์และได้รับการตอบสนองที่ดีจากตลาด สินค้าแบรนด์ดังต่างๆ เข้าร่วมจำหน่ายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของลาซาด้า และมียอดขายที่ดีต่อเนื่อง ไม่เพียง Laz Mall เท่านั้นแต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของลาซาด้า ถือว่าเติบโตค่อนข้างมาก James Chang หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ลูกค้าและการค้าปลีก ลาซาด้า กรุ๊ป และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า สิงคโปร์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกันเร็วขึ้นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีคอมเมิร์ซถือว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และเห็นได้ชัดว่าผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ได้เร่งให้เกิดการพัฒนาเร็วขึ้นซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เติบโตมาก และเมื่ออ้างอิงจากรายงานของ google, Temasek และ Bain e-conomy SEA 2020 อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และขึ้นมามีมูลค่าราว 62 ล้านเหรียญฯ ในปี 2563 นั่นหมายถึงเติบโตขึ้น 12 เท่า “นับเป็นตัวเลขที่คาดไม่ถึงจริงๆ หากย้อนกลับไปตอนที่ลาซาด้าก่อตั้งขึ้นในปี 2555 ในตอนนั้นผมอยู่ที่กรุงมะนิลาและกำลังเตรียมเปิดตัวเว็บไซต์ลาซาด้า ด้วยการขายผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาจากร้านค้าออฟไลน์ เนื่องจากในตอนนนั้นหลายแบรนด์ยังไม่ค่อยมั่นใจกับการขายของออนไลน์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” Chang กล่าวและว่า ถึงกระนั้นทีมงานก็มีความมั่นใจกับการเปิดตัวเว็บไซต์ลาซาด้าในประเทศหลักๆ ของภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก จากนั้นลาซาด้าก็ประสบความสำเร็จเรื่อยมา กระทั่งได้เปิด LazMall มาเป็นอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ “ผมและทีมจะทุ่มเทให้กับแบรนด์ของท่าน เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทุกท่านได้ใช้กลไกที่ดีที่สุด และปรับใช้โซลูชันต่างๆ ให้เข้ากับกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมให้แบรนด์ได้ค้นพบเส้นทางที่จะก้าวต่อไปในอุตสาหกรรมที่เติโตอย่างรวดเร็ซเช่นนี้ได้” Chang ยืนยันกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่นำสินค้าเข้าร่วมจำหน่ายใน LazMall

สินค้าอิเล็คทรอนิกส์-แฟชั่นนำทัพ

Chang ยังกล่าวถึงการขายออนไลน์ในปี 2562-2563 ว่า หมวดหมู่สิรค้าปลีกออนไลน์มีการเติบโตอย่างน่าสนใจโดยมีมูลค่าธุรกรรมออนไลน์ทั้งหมด เทียบกับยอดขายตามประเภทโดยรวมมีการเติบโตที่ชัดเจนโดยสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เติบโตขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 21 บนช่องทางออนไลน์ สินค้าประเภทแฟชั่นก็เติบโตขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 13 ในขณะที่สินค้าทั่วไป เช่น บ้านและไลฟ์สไตล์ และกลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการทำครัวและอาหารเติบโตขึ้นจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 9 สินค้าประเภทสุขภาพ และความงามเติบโตขึ้น โดยมีส่วนแบ่งจากการขายออนไลน์มากที่สุดจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 9 หรือเกือบสองเท่าจากการเข้ามาเจาะตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ หากสัดส่วนการขายออนไลน์ของแบรนด์สูงกว่าการทำตลาดโดยทั่วไป หลายแบรนด์อาจประสบปัญหาบางอย่างในระยะสั้น เพราะหมายถึงการแข่งขันทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และความได้เปรียบจากการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซเร็วกว่าจะถูกท้าทาย แต่นั่นก็หมายความว่าหากแบรนด์ผ่านช่วงการเติบโตนี้ไปได้ ก็จะมีโอกาสในการได้ส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมของแบรนด์ที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน หากสัดส่วนการขายออนไลน์ต่ำกว่าส่วนแบ่งตลาดโดยรวม มันสำคัญมากที่ต้องหันกลับไปพิจารณาการลงทุนในด้านทรัพยากรและบุคลากรอีกครั้ง เพื่อแน่ใจว่าจะไม่สูญเสียสัดส่วนสำคัญในอนาคต เพราะการขายออนไลน์ “ไม่มี โซลูชันสำเร็จรูปที่แก้ไขได้ทุกปัญหา” ผู้นำต้องติดสินใจทามกลางความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงงานด้านอื่นๆ เช่น การบริหารวบประมาณ การใช้ทรัพยากรและการสรรหาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนห่วงโซ่อุปทานและการจัดสรรสินค้าคงคลัง รวมถึงการมองหาช่องทางลงทุนด้านการตลาด ซีอีโอลาซาด้า สิงคโปร์ ยังกล่าวด้วยว่าในปี 2565 ลาซาด้าจะฉลองครบ 10 ปีเขามั่นใจว่าลาซาด้าจะเติบโตไปพร้อมกับแบรนด์ต่างๆ ที่เข้าร่วมในอีโคซิสเต็ม ก้าวสู่การเติบโตไปด้วยกันในอนาคต เพราะเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตขึ้น แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเห็นการชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรอายุน้อยจำนวนมาก และมีการเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางได้อย่างรวดเร็ว จึงส่งผลต่อการเติบโตของการค้าปลีกโดยรวม และเชื่อว่าการค้าปลีกจะเติบโตทะลุเป้าอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 5 ต่อปีไปจนถึงปี 2568 “มีการคาดการณ์ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าสูงถึง 172 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าจากปี 2563 โดยมีสัดส่วนการเข้าไปทำตลาดอยู่ที่ 14% ซึ่งนี่เป็นเพียงการเติบโตช่วงเริ่มต้นของอีคอมเมิร์ซเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่น จีน” Chang ยืนยันและว่า ปัจจุบันสัดส่วนการค้าปลีกออไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงร้อยละ 7  เท่านั้น ต่างกับในประเทศจีนซึ่งสัดส่วนค้าปลีกออนไลน์อยู่ที่ร้อยละ 26 นั่นหมายความว่าสินค้าอุปโภคบริโภคหลักในจีนมากกว่าร้อยละ 50 ขายอยู่บนช่องทางออนไลน์ โดยร้อยละ 61 ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขายอยู่บนออนไลน์ ส่วนสินค้าแฟชั่นสัดส่วนร้อยละ 48 สินค้าทั่วไปร้อยละ 49 และสินค้าสุขภาพและความงามร้อยละ 54

โควิด-19 เร่งการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ

Chang กล่าวว่า ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ในระยะสั้น และทำให้เกิดการพัฒนาเร็วขึ้น 2-3 ปี อีคอมเมิร์ซจะยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะทำให้ได้เห็นเรือทุกลำไหลไปตามกระแสน้ำ แต่ไม่ใช่ทุกลำที่จะไปได้ไกลเท่ากัน” เขากล่าวและว่า เมื่อออกเลยออกไปจากเป้าหมายระยะสั้น คาดได้ว่าธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมล่าสุด แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอะไร ทุกวันนี้แบรนด์ที่ออกสู่ตลาด มีช่องทางการขายที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายช่องทาง โดยผ่านทั้งผู้จัดจำหน่าย ร้านค้าออฟไลน์ ห้างสรรพสินค้าและผู้ค้าปลีก ตัวแทนจำหน่าย เว็บไซต์ของแบรนด์ แพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ช่องทางที่ซับซ้อนเหล่านี้ยังทำงานอยู่ในไซโล และต้องการทำหน้าที่แบบครบวงจร ทั้งเป็นพื้นที่ให้แบรนด์มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าตลอดทางไปจนถึงการทำธุรกรรมในขั้นสุดท้าย “ปรัชญาของลาซาด้า คือ การสร้างประสบการณ์แบบองค์รวมและเป็นหนึ่งเดียวกันให้กับลูกค้าในทุกช่องทางของแบรนด์ผ่านข้อมูลและเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ” Chang กล่าว เขายังบอกด้วยว่า ตัวอย่างที่พบจากหลายประเทศ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ GDP ต่อหัวจะเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคจะมีความรู้ด้านดิจิทัลและให้ความสำคัญต่อแบรนด์มากขึ้น เช่นเดียวกับสัดส่วนของธุรกิจค้าปลีก ก็จะมีแบรนด์ชั้นนำเพิ่มขึ้นเช่นกัน วันนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีร้านค้าปลีกที่เป็นแบรนด์ดังเพียงครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคหลัก แต่ตัวเลขนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้ามามีส่วนร่วมของแบรนด์ต่างๆ การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และไปรับของแบบออฟไลน์เป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซ และในขณะเดียวกัน การสั่งซื้อจากออฟไลน์แล้วถูกจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซเช่นกัน แต่มันมีอะไรที่ยิ่งกว่านั้น เพราะมันคือความสามารถในการกำหนดเป้าหมายการสื่อสารไปถึงลูกค้าในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด และการรวบรวมช่องทางการเข้าสู่หน้าร้านทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้แบรนด์สามารถเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การเข้าถึงแบรนด์ได้มากที่สุด “ที่ลาซาด้า เรากำลังทดสอบฟังก์ชันการทำงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมและเข้ากับเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์” ฟังก์ชันตัวอย่างเช่น การผนวกรวมโปรแกรมสมาชิกของแบรนด์ เข้ากับระบบ Loyalty program ของลาซาด้า ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า อย่างไรก็ดี มุมมองที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้เน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นและผสมผสานการซื้อสินค้าจากร้านค้าแบรนด์ชั้นนำบน LazMall เข้ากับโปรแกรมสมาชิกของแบรนด์ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ยังมีแบรนด์อีกมากมายที่ต้องการสร้างความภักดีต่อแบรนด์บนช่องทางออนไลน์ แม้จะไม่มีร้านค้าที่ขายอยู่ในช่องทางออฟไลน์ก็ตาม ดังนั้น ลาซาด้าจะสร้างโซลูชันง่ายๆ บน LazMall เพื่อให้แบรนด์สามารถมอบสิ่งจูงใจแก่ลูกค้าได้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ และในก้าวต่อไป ด้วยโปรแกรมสมาชิกของแบรนด์ทั้งสองโปรแกรม ลาซาด้าต้องการสร้างอีโคซิสเต็มของความภักดีต่อแบรนด์ที่เหนียวแน่นซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกแบรนด์ โดยที่แบรนด์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโปรแกรมหรือไม่ก็ได้ Chun Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า อินโดนีเซีย กล่าวว่า “เป็นโอกาสอันดีที่ลาซาด้าได้จัดงาน Brands Future Forum ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งวันนี้ยังตรงกับวันครบรอบ 3 ปีของ LazMall” Li กล่าวว่า 3 ปีแห่งการแจ้งเกิด วันนี้ LazMall มีทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศเข้ามาจำหน่วยมากกว่า 32,000 แบรนด์ บนลาซาด้าทั่วทั้งภูมิภาค และลูกค้าใหม่หลายล้านรายที่ช้อปบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้เข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ถึง 40 ล้านคนได้เข้าสู่โลกออนไลน์ในปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงเฉพาะผู้ใช้งานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น นั่นหมายความว่าร้อยละ 70 ของประชากรในภูมิภาคนี้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว และลาซาด้ามีผู้ใช้งานมากกว่า 110 ล้านคนต่อปี พบว่ามีจำนวนผู้เข้ามาใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยมากกว่า 150 ล้านคนต่อเดือน และยังมีการทำธุรกรรมออนไลน์บนแพลตฟอร์มของเราเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ครั้งใหญ่

ฐานลูกค้า-ยอดซื้อเพิ่มสองเท่า

“เรายังพบว่าฐานลูกค้าที่ใช้งาน LazMall และความถี่ในการซื้อยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ซื้อรายใหม่บน LazMall เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และยังพบว่ามูลค่าการซื้อของลูกค้าบน LazMall เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของผู้ซื้อทั่วไปบนแพลตฟอร์มของเรา” Li อธิบายก่อนจะบอกว่าไม่เพียงลูกค้าเท่านั้น แต่แบรนด์ ผู้ค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น โดยหลายแบรนด์ได้ย้ายช่องทางการขายไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสิงคโปร์ ห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Marks and Spencer ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มลาซาด้า นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าชื่อดังอื่นๆ อย่าง สยามเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ก็ได้มีการช่วยร้านที่มาเช่าพื้นที่ในการ "เปิดหน้าร้าน" บน LazMall ด้วยเช่นกัน Li กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ลาซาด้าได้เปิดตัว Digital Commerce Confidence Index ซึ่งเป็นผลการศึกษาครั้งแรกของลาซาด้าในเรื่องทัศนคติของแบรนด์และผู้ขาย ซึ่งพบว่าผู้ขายของออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อยละ 70 มีความมั่นใจในโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในช่วงสามเดือนข้างหน้า ซึ่งร้านค้าในหมวดแฟชั่นของลาซาด้ามีความเชื่อมั่นมากที่สุด โดยร้อยละ 75 คาดว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นกว่าร้อยละ 10 ในไตรมาสหน้า รายงานดังกล่าวนับเป็นข่าวใหญ่ เพราะเป็นการเน้นย้ำถึงการปรับตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและด้วยการปรับตัวนี้ ลาซาด้ายังคงเติบโตอย่างมั่นคงในทุกก้าว ด้วยฐานลูกค้าที่มีคุณภาพสูงซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อแบรนด์ และขณะเดียวกัน LazMall ยังคงเป็นแบรนด์ที่เชื่อถือได้สำหรับลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จากการสำรวจพบว่าลูกค้า LazMall ใช้จ่ายบนลาซาด้ามากกว่า เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วยความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ประกอบกับเทรนด์ล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่าบรรดาแบรนด์หรู ได้เข้าสู่อีคอมเมิร์ซเช่นกัน โดยล่าสุดลาซาด้าเพิ่งเปิดตัว LazMall Prestige ที่ได้รวบรวมแบรนด์ดังอย่าง Bacha Coffee, Bang and Olufsen, Coach, Salvatore Ferragamo และ La Mer นอกจากนี้เครือข่ายโลจิสติกส์ของลาซาด้า มีระบบจัดการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ประกอบไปด้วยศูนย์ปฏิบัติการกว่า 400 แห่ง โดยกว่า 85% ของขั้นตอนขนส่งพัสดุในขั้นแรกจะได้รับการจัดการอย่างสมบูรณ์จากระบบภายใน ลาซาด้า โลจิสติกส์ ยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือที่นำเสนอโซลูชันด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อถือได้ และครบวงจรให้แก่แบรนด์และผู้ขาย เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางธุรกิจ “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของอาลีบาบา เรายังสามารถนำองค์ความรู้ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของ อีคอมเมิร์ซ ระบบ AI เทคโนโลยี และการตลาดดิจิทัลมาสู่ภูมิภาค” Li ย้ำและว่า ลาซาด้าได้ใช้ประโยชน์จากธุรกิจและศักยภาพอื่นๆ ภายใน Alibaba Digital Economy อยู่เสมอ เช่น การใช้ Alipay ในด้าน e-payment และ wallets การใช้ Alimama ในด้านการตลาดอัจฉริยะผ่านระบบ AI ในฐานะกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย ลาซาด้าได้รวบรวมศักยภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าแบรนด์ต่างๆ ในแพลตฟอร์มลาซาด้าจะประสบความสำเร็จ สำหรับแบรนด์สินค้าที่ได้รางวัลในงาน LazMall Brands Future Forum (BFF) ล่าสุด เป็นสินค้าแบรนด์ดังจากหลากหลายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ The Estee Lauder ได้รางวัล LazMall Brand of the Year Samsung ได้รางวัล Best Brand Partnership Nike ได้รางวัล Best New Brand Launch Lancome ได้รางวัล Best New Product Launch Shiseido ได้รางวัล LazMall Marketing Excellence Synagie ได้รางวัล Lazada Partner L'Oreal Consumer Product Division’s ได้รางวัล Best Use of Lazada Sponsored Solutions Coach ได้รางวัล LazMall Rising Star อ่านเพิ่มเติม: เถ้าแก่น้อย รุกสตรีทฟู้ดเกาหลีขายแฟรนไชส์ Bomber Dog
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine