รุ่น 3 ธรรมวัฒนะ พลิกโฉม “ตลาดยิ่งเจริญ 4.0” สั่งสินค้าออนไลน์ ดึงคนรุ่นใหม่เดินตลาดสด - Forbes Thailand

รุ่น 3 ธรรมวัฒนะ พลิกโฉม “ตลาดยิ่งเจริญ 4.0” สั่งสินค้าออนไลน์ ดึงคนรุ่นใหม่เดินตลาดสด

ในยุคที่ตลาดสดล้มหายตายจากเมืองกรุงไปหลายแห่ง ด้วยกระแสคนรุ่นใหม่ถนัดเดินห้างสรรพสินค้าติดแอร์เย็น ไม่มีกลิ่น และพื้นที่สะอาดเรียบร้อย ตลาดสดแบบดั้งเดิมจึงต้องล่าถอย ยอมขายทำเลทองแหล่งผู้คนสัญจรให้บริษัทอื่นพัฒนาโครงการ

แต่ไม่ใช่กับ ตลาดยิ่งเจริญ ทำเลติดถนนพหลโยธิน ย่านสะพานใหม่ ใกล้กองทัพอากาศ ที่เปิดขายมานานย่างเข้าปีที่ 62 และการบริหารกำลังสืบทอดจากรุ่น 2 ณฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด สู่มือของรุ่น 3 คือ อริย ธรรมวัฒนะ และ กัญจนิดา ตันติสุนทร สองกรรมการบริหาร ที่เข้ามาสานต่อการปรับปรุงตลาดให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดย ณฤมล กล่าวว่า ย้อนไปรุ่น 1 คือ สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ คุณแม่ของเธอถือเป็นรุ่นบุกเบิกสร้างตลาดบนเนื้อที่ 30 ไร่นี้ ในสมัยที่พื้นที่รอบข้างยังไม่มีความเจริญใดๆ จนถึงรุ่น 2 คือณฤมลเป็นยุคของการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด และเริ่มต้นปรับปรุงให้ตลาดยิ่งเจริญมีความสะอาดเรียบร้อย ไม่มีกลิ่นเหม็น มีการแยกขยะ และรณรงค์ให้ผู้ค้าไม่ใช้โฟมใส่อาหารเพื่อสุขภาพ มาถึงรุ่น 3 ที่เข้ามาช่วยงานจะเป็นผู้พัฒนาแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับตลาด
(กลาง) ณฤมล ธรรมวัฒนะ รุ่น 2 ผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ และ (ขวา) อริย ธรรมวัฒนะ (ซ้าย) กัญจนิดา ตันติสุนทร สองทายาทรุ่น 3 ผู้สืบทอดตลาดยิ่งเจริญ
“ความเจริญจากรถไฟฟ้า (สายสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต) เข้ามาถึงเรา เราคิดว่าจะมีคนใหม่ๆ เข้าตลาดมากขึ้นได้ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไปเดินตามห้างฯ แต่เราบอกได้ว่า อย่างไรของในตลาดก็สดใหม่กว่าซึ่งเป็นจุดขาย เพราะฉะนั้นเราเป็นตลาดสด เราเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่เราต้องทำตลาดให้สวยงามและขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์” ณฤมลกล่าว จากความพยายามของฝ่ายบริหาร ทำให้ลักษณะกายภาพของตลาดยิ่งเจริญไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงมีห้องทดสอบสารปนเปื้อนของตลาดเองเพื่อสุ่มตรวจแผงค้าของสดทุกวัน สร้างความมั่นใจว่าที่นี่เป็นตลาดปลอดสารพิษ  

เสริมความโมเดิร์นให้ตลาดสด

แต่การปรับตัวเพื่อลบจุดด้อยของตลาดสดเท่านั้นยังไม่พอสำหรับดึงคนรุ่นใหม่เข้ามา อริยและกัญจนิดาจึงต้องสร้างแผนพัฒนาให้ตอบโจทย์มากขึ้น โดยในทางกายภาพ กัญจนิดา กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะนำพื้นที่ 9 ไร่ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถมาสร้างเป็นอาคารแนวสูงในลักษณะมิกซ์ยูสแบบผสมผสานพื้นที่ปรับอากาศและพื้นที่ไม่ติดแอร์ โดยเพิ่มร้านอาหารที่บริการเร็ว (QSR: Quick Service Restaurant) เข้ามาเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่กลุ่ม B+ ถึง C และอาคารใหม่จะแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันลานจอดรถรองรับได้ 800 คัน ขณะที่ความต้องการควรมีที่จอดรถ 2,000-3,000 คัน การปรับให้ทันสมัยนี้ไม่ได้จะทำให้ตลาดกลายเป็นห้างฯ แต่มีเฟสต่อไปที่คาดหวังคือการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต้อนรับนักท่องเที่ยวมาชมบรรยากาศตลาดสดแบบดั้งเดิมได้ ด้าน อริย กล่าวว่า แผนพัฒนาดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือกับที่ปรึกษา รวมถึงแนวทางการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกอง REIT ซึ่งบริษัทว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อศึกษาการใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบนี้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากแผนพัฒนาพื้นที่ 9 ไร่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท คาดว่าประเด็นการจัดตั้งกอง REIT น่าจะแล้วเสร็จใน 6-12 เดือน  

ส่งของสดให้ถึงบ้าน

อริยกล่าวต่อไปว่า อีกแผนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงกำลังซื้อคนรุ่นใหม่เข้ามาได้และพร้อมเปิดตัววันที่ 11 สิงหาคมนี้ คือระบบอี-คอมเมิร์ซ ผ่าน เว็บไซต์ www.songsod.com (ส่งสด) ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าจากตลาดยิ่งเจริญได้หลายรายการจากหลายหมวดหมู่ เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ พริกแกง ของแห้ง ฯลฯ โดยมีราคาระบุชัดเจน พร้อมมี Personal Shopper หรือเจ้าหน้าที่ช็อปปิ้งส่วนตัวจากตลาดเป็นคนเลือกสินค้าคุณภาพดีให้จากแผง จากนั้นตลาดยิ่งเจริญจะจัดส่งผ่านพันธมิตรคือ ลาล่ามูฟ ได้รับภายใน 1 ชั่วโมงหลังชำระเงิน โดยขณะนี้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ 2 แบบคือโอนเงินผ่านธนาคารหรือเก็บเงินปลายทาง คิดค่าบริการคือ ค่าดำเนินการของตลาด 10% จากราคาสินค้า และค่าขนส่งโดยลาล่ามูฟ เริ่มต้นกิโลเมตรแรก 42 บาท และถัดไปกิโลเมตรละ 7 บาท
ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ "ส่งสด"
อริยเปิดเผยว่า เว็บไซต์ส่งสดถือเป็นเฟส 0 นำร่องเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าที่สนใจช่องทางซื้อสินค้าออนไลน์ จากนั้นจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มสร้างแอพพลิเคชั่นในชื่อ Fresh Mate เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้นในการบริการ สามารถชำระผ่านบัตรเครดิต/เดบิตได้ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้แอพฯ Fresh Mate อย่างเป็นทางการได้ช่วงต้นปี 2561 การบริการสั่งสินค้าออนไลน์มีเป้าหมายดึงลูกค้าให้ได้อย่างน้อย 600 คำสั่งซื้อ เปรียบเทียบกับคนเดินตลาดสดยิ่งเจริญ 2 หมื่นคนต่อวันอาจจะยังเป็นสัดส่วนไม่มาก แต่เป็นก้าวแรกสู่อนาคต นอกจากนี้ฝั่งผู้ซื้อปริมาณมาก (B2B) เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน ก็มีแผนพูดคุยกับพันธมิตร Black Cat ของเอสซีจีเข้ามาเสริมในการขนส่ง “เชิงกายภาพยังขาดไม่ได้แต่ถ้าไม่มีออนไลน์จะเสียโอกาส เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ตลาดมีไลฟ์สไตล์ใหม่โดยไม่ทิ้งจิตวิญญาณเดิม โดยเราจะชูจุดแข็งคือความหลากหลายของสินค้า ยกตัวอย่างพริกแกงในห้างฯอาจจะมีให้เลือก 4-5 ยี่ห้อ แต่ที่ตลาดสด แค่แผงค้าแผงเดียวก็มีพริกแกง 15 แบบแล้วและเป็นของทำสดด้วย หรือผักอย่างใบชะคาม ใบพลู ถ้าหาในห้างฯอาจจะไม่มีขายก็ได้” อริยกล่าว   Forbes in Details
  • ตลาดยิ่งเจริญเป็นตลาดกึ่งค้าส่งค้าปลีก มีพื้นที่ให้เช่าราว 1.2 หมื่นตารางเมตร มีจำนวนแผงค้าประจำ 1.5 พันแผง รองรับผู้ค้า 900 ราย และแผงชั่วคราวในตลาดนัดอีก 500 แผง มีสินค้าขายเป็นของสด 60% เครื่องใช้และเสื้อผ้า 30% และศูนย์อาหาร 10%
  • ผู้ซื้อ 70% เป็นผู้ซื้อปริมาณมากที่จะเข้ามาจับจ่ายช่วงตี 2 – ตี  4 ขณะที่อีก 30% เป็นผู้ซื้อกลุ่มครัวเรือน
  • รายได้ปี 2559 อยู่ที่ 440 ล้านบาท 98% ของรายได้มาจากค่าเช่าแผง ที่เหลือเป็นค่าที่จอดรถและค่าน้ำค่าไฟ ณฤมลกล่าวว่าตลาดคิดค่าแผงที่ 1,000 บาทต่อตร.ม./เดือนและไม่ได้ปรับขึ้นมานานหลายปีแล้ว
  • ตลาดยิ่งเจริญเป็นตลาดสดแห่งที่สองต่อจาก ตลาด อ.ต.ก. ที่สามารถสั่งสินค้าออนไลน์ได้ แต่ถ้าหากสร้างแอพฯ Fresh Mate สำเร็จจะถือเป็นตลาดสดแห่งแรกที่มีแอพฯอี-คอมเมิร์ซของตนเอง