ประเมิน ‘นโยบายเพื่อสังคม’ 8 ค้าปลีกไทย ‘เทสโก้-เครือซีพี’ คะแนนนำ ‘บิ๊กซี’ ลดลง - Forbes Thailand

ประเมิน ‘นโยบายเพื่อสังคม’ 8 ค้าปลีกไทย ‘เทสโก้-เครือซีพี’ คะแนนนำ ‘บิ๊กซี’ ลดลง

แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักจับตานโยบายเพื่อสังคมของห้างฯ ค้าปลีกไทย พบว่าเทสโก้-ซีพี เฟรชมาร์ท-แมคโครทำคะแนนดีขึ้น ขณะที่บิ๊กซีแย่ลง อีก 4 รายยังไม่มีคะแนนเช่นเดิม ภาคประชาสังคมชวนผู้ประกอบการผลักดันยกระดับโครงการ CSR เป็นนโยบายหลักขององค์กร

องค์กรภาคีความร่วมมือของ Oxfam, เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมจัดทำแคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในไทย 8 แห่ง โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยมีทั้งการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและแย่ลงกว่าเดิม

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ตัวแทนจาก Oxfam ประเทศไทย กล่าวถึงการประเมินนี้ว่า เป็นการประเมินจากนโยบายสาธารณะที่เปิดเผยต่อสังคมใน 4 หัวข้อ คือ ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ 24 คะแนน, แรงงาน  24 คะแนน, ผู้ผลิตรายย่อย  24 คะแนน และสตรี 21 คะแนน รวมทั้งหมดเต็ม 93 คะแนน

โดยภาคีเครือข่ายเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสาธารณะขององค์กร เช่น เว็บไซต์ รายงานประจำปี และมีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งกลับให้บริษัททั้ง 8 แห่งพร้อมให้ระยะเวลา 5 สัปดาห์ในการส่งข้อมูลเพิ่มเติมตอบกลับเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทนั้นๆ มี

จากการประเมินดังกล่าวพบว่า เทสโก้ โลตัส เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนน "นโยบายเพื่อสังคม" สูงสุด คือ 35 คะแนน รองลงมาคือ ซีพี เฟรชมาร์ท 11 คะแนน แมคโคร 10 คะแนน และท็อปส์ได้ 1 คะแนน ส่วนอีก 4 ซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่สามารถเก็บคะแนนได้ทุกหัวข้อ คือ บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก-นโยบายเพื่อสังคม
คะแนนของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 8 แห่งในแคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก (ย้อนดูคะแนนปี 2561 ที่นี่)

เราเลือกดูที่นโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะเพราะเป็นการแสดงออกว่าบริษัทนั้นมีความใส่ใจ และเป็นจุดตั้งต้นที่จะเกิดการปฏิบัติต่อมาธีรวิทย์กล่าว

ธีรวิทย์กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบกับผลคะแนนของปี 2561 ทั้งเทสโก้ โลตัส ซีพี เฟรชมาร์ท และแมคโคร มีผลคะแนนที่ดีขึ้น ส่วนท็อปส์ยังทำคะแนนเท่าเดิม ขณะที่บิ๊กซี ซึ่งปีก่อนมี 1 คะแนนในหัวข้อผู้ผลิตรายย่อย ปีนี้กลับไม่สามารถเก็บคะแนนได้ ส่วนอีก 3 แห่งที่เหลือคือ ฟู้ดแลนด์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต ยังคงไม่มีความคืบหน้าด้านนโยบายต่อสังคมเช่นเดิม

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก-นโยบายเพื่อสังคม-2

อย่างไรก็ตาม สำหรับเทสโก้ โลตัส ธีรวิทย์กล่าวว่าผลคะแนนที่ได้นั้นเกิดจากเทสโก้ โลตัสเป็นบริษัทลูกในเครือ Tesco ซึ่งมีนโยบายต่อสังคมที่ชัดเจน ทำให้ได้คะแนนค่อนข้างสูงกว่าบริษัทอื่น แต่หากประเมินเฉพาะนโยบายของเทสโก้ โลตัสในไทยจะได้รับประเมินเพียง 1 คะแนนในหัวข้อผู้ผลิตรายย่อย

ต่อประเด็นนี้ ตัวแทนจาก เทสโก้ โลตัส ซึ่งเข้าร่วมในการเปิดรายงานประเมินกล่าวกับ Forbes Thailand ว่า บริษัทมีการปฏิบัติตามนโยบายต่อสังคมจากบริษัทแม่อยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่มีการประกาศนโยบายเหล่านั้นเป็นภาษาไทย หรือบางโครงการที่เป็นโครงการระยะยาว อาจไม่ได้รับการประเมินเพราะมีความคลาดเคลื่อนเรื่องการใช้ภาษา แต่เทสโก้ โลตัสเตรียมจะจัดทำประกาศนโยบายต่อสังคมเป็นภาษาไทยต่อไป

โดยยกตัวอย่างว่า เทสโก้ โลตัสมีการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร (Direct Sourcing) มานานกว่าสิบปี ปี 2561 มีการรับซื้อผลผลิตโดยตรง 2.4 แสนตัน เพิ่มจากปี 2560 ที่รับซื้อ 2.0 แสนตัน โดยมีกลุ่มสินค้าที่รับซื้อผลผลิตโดยตรงเป็นส่วนใหญ่อย่างกลุ่มผักใบที่รับซื้อตรง 60% ของทั้งหมด

 

ปรับโครงการ CSR” เป็นนโยบายหลัก

ด้าน ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เปรียบเทียบกับซูเปอร์มาร์เก็ตต่างประเทศแล้ว ความแตกต่างคือในไทยมักจะจัดทำกิจกรรมต่างๆ เป็นโครงการตอบแทนสังคม" หรือ CSR มากกว่าการจัดตั้งเป็นนโยบายหลักขององค์กร จึงต้องการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการหันมาผลักดันให้โครงการเหล่านั้นเป็นนโยบายแกนหลักที่ใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กรมากกว่า

คำว่าโครงการทำให้มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็อาจจะยกเลิกโครงการได้ แต่หากเป็นนโยบายขององค์กรจะเป็นคำสัญญากับสาธารณะในระยะยาว ทัศนีย์กล่าว

กิ่งกร นรินทรกุล อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี และผู้ประสานงานเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า การทำโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาของซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นการริเริ่มที่ดีและแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ยกตัวอย่างเช่นการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร (Direct Sourcing) ซึ่งมองว่าสามารถยกระดับขึ้นไปได้อีกเป็นการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Sourcing)

การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม (Ethical Sourcing) หมายถึงกระบวนการรับซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตด้วยราคาเป็นธรรม และมีส่วนร่วมในการยกระดับให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการผลิตได้ดีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญมากกับประเทศไทยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่ถึง 40%

ธีรวิทย์เสริมว่า จากการประเมินทั้งหมด ภาคีเครือข่ายยังคงขอเสนอแนะนโยบาย 6 ข้อเช่นเดิมเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนขึ้น คือ

  1. เปิดเผยนโยบายด้านสังคมต่อสาธารณะ แนวทางการทำงานกับคู่ค้า เกษตรกรรายย่อย และแรงงาน
  2. แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงที่ครอบคลุมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะ
  3. มีกลไกการร้องทุกข์ ชดเชย และเยียวยา สำหรับแรงงานและเกษตรกรในซัพพลายเชนที่อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม
  4. จัดทำนโยบายสิทธิแรงงานแก่คู่ค้า เพื่อให้แรงงานทั้งซัพพลายเชนได้รับความเป็นธรรม
  5. รับหลักการส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ (UN Women’s Empowerment Principles)
  6. พัฒนาแนวทางจัดซื้อและข้อตกลงที่เป็นธรรมกับเกษตรกร

การประเมินกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตของภาคีเครือข่ายนี้เกิดขึ้นเพราะธุรกิจค้าปลีกถือเป็นกลุ่มที่สำคัญทางเศรษฐกิจไทย โดยรายได้คิดเป็น 15% ของจีดีพีประเทศ และเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคปลายทางกับผู้ผลิต การปรับนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นจะทำให้เกิดผลประทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างชัดเจน