จอน เฉลิมวงค์ ปั้น ‘audacity’ ธุรกิจของคนกล้า - Forbes Thailand

จอน เฉลิมวงค์ ปั้น ‘audacity’ ธุรกิจของคนกล้า

เมื่อ อุตสาหกรรมโฆษณา ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท กลายเป็นอดีต อันเนื่องจากสถาการณ์โควิด-19 เข้าเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เม็ด จอน เฉลิมวงค์ คิดเอาว่าบริษัทธุรกิจแบบเดิมไม่อาจยืนอยู่ได้จึงตัดสินปั้น ‘audacity’ พร้อมกับดึงคนรุ่นเก๋าในวงการอุตสาหกรรมโฆษณาสร้างโมเดลธุรกิจที่คล้ายดังวัคซีนเพื่อต้านทานธุรกิจในยุคโควิด

อุตสาหกรรมโฆษณา ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท และเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างมนุษย์ทองคำที่มีค่าตัวสูง ปัจจุบันถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และยิ่งสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบหนักมาก คาดว่าปีนี้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาจะมีมูลค่า 7 – 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการโฆษณา อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ และต้องอาศัยความกล้าในการผลักดัน จึงทำให้ “จอน เฉลิมวงค์” ตัดสินใจออกจากบริษัทโฆษณาขนาดใหญ่ ออกมาตั้งธุรกิจใหม่ ที่มีชื่อว่า “audacity” ธุรกิจของคนกล้า “auducity หมายถึงความกล้า กล้าทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง กล้านำเสนองานให้กับลูกค้า และต้องการหาลูกค้าที่กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง” จอน เฉลิมวงค์ ผู้ก่อตั้ง และ Chief Creative Officer บริษัท audacity ให้คำจำกัดความรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เขาเองก็ไม่อยากจะใช้คำว่าเอเยนซี่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ audacity จะแตกต่าง

จากเอเยนซี่ใหญ่สู่ธุรกิจใหม่

จอน เป็นครีเอทีฟมากฝืมือ และมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทโฆษณาชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ช่วงเริ่มทำงานในวงการโฆษณาเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ YoungLions Competition ในเทศกาลประกวดโฆษณาเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ติดอันดับ 1 Asia Creative Ranking จาก นิตยสาร Campaign Brief ในปี 2007 เคยร่วมงานกับ Saatchi & Saatchi New York คว้ารางวัล Cannes Gold Lion ให้กับ Y&R Bangkok และตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟให้กับ Dentsu Thailand จอน มองว่า วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปได้ เนื่องจากเอเยนซี่ถูกดิจิทัล ดิสรัปต์ การเข้ามาของเทคโนโลยีแบบใหม่ งบประมาณที่น้อยลง คู่แข่งขันที่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะโครงสร้างธุรกิจแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจออกมาทำธุรกิจใหม่ ร่วมกับเพื่อนๆ ได้แก่ พิชัยพัชร์ ตนานนท์ (Managing Director) และทีมผู้บริหาร วิศวุฒิ นุชพุ่ม (Business Development Director) และ พิสุทธิ์ นิโรจศิล (Creative Director) เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มองหาผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่เป็นมากกว่าบริษัทโฆษณาทั่วไป สำหรับโมเดลธุรกิจของ audacity ประกอบด้วย 3 ส่วน โดยส่วนหนึ่งคือ Creative Solution and Marketing Consultant ที่ปรึกษาทางการตลาดครบวงจร สำหรับลูกค้าที่มองหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในเรื่องกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้ทำแต่ชิ้นงานโฆษณา ส่วนที่ 2 Talent Cloud – แพตฟอร์มที่ช่วยนักการตลาดแบบ one-stop service แหล่งรวมทาเลนท์ฝีมือคุณภาพ ภายใต้แนวความคิด “part-time talent, full-time commitment” ที่ครอบคลุมทั้ง brand strategist, ทีม creative ทั้ง art director และ copywriter content writer designer ช่างภาพ producer sound engineer KOL lifestyle PR และ digital media optimization ส่วนที่ 3 audacity BKK – Knowledge Hub หรือแหล่งความรู้ด้านการตลาด ที่นำเคสการตลาดระดับโลกมาเจาะลึก วิเคราะห์และแชร์มุมมองการตลาดแบบครีเอทีฟแบบไม่เคยมีที่ไหน เพื่อให้นักการตลาด เจ้าของร้านค้า เจ้าของธุรกิจ SME มาเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจและนำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจ “Talent Cloud เป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาสักพัก เหมือนการรวมทีมอเวนเจอร์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด เพราะคนอยากออกมาเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ใช้ชีวิตอิสระ เราเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างทาเลนต์ฝีมือดี กับลูกค้า ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานในวงการมา 20 ปี เรารู้จักคนทำงานฝีมือดีจำนวนมาก ตอนนี้มีคนเข้าร่วมกับเราประมาณ 45 คน” จอนกล่าว ด้วยรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทไม่มีต้นทุนสูง ขณะเดียวกันยังสามารถคัดเลือกคนที่ตอบโจทย์กับงานของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย แต่ละคนสามารถทำงานได้หลายอย่างแบบไฮบริด ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการทำงานให้ลูกค้า และใช้งบประมาณของลูกค้าได้อย่างคุ้มค่า

เน้นเจาะกลุ่ม SMEs คนกล้า

จอน กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งไม่ได้ต้องการบริการแบบครบวงจรเหมือนบริษัทโฆษณาขนาดใหญ่ ประกอบกับทุกวันนี้ลูกค้ามีความเก่ง รอบรู้ โดยเฉพาะเทรนด์ เทคโนโลยี และสื่อสมัยใหม่ แต่สิ่งที่เขาขาด คือครีเอทีฟ ที่จะเข้ามาช่วยคิดงาน ที่แปลก และแตกต่าง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารระหว่างสินค้าไปสู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีมากกว่า 8 แสนรายในปัจจุบัน ถือเป็นเป้าหมายของบริษัท “เป้าหมายของเราคือกลุ่ม SMEs ที่มีความกล้า หรือบางธุรกิจแม้จะมีรายได้ระดับ 1,000 ล้านบาท แต่มีหัวใจ และสปิริตแบบ underdog ที่พร้อมจะแข่งขัน และมีความกล้าที่จะทำสิ่งที่แตกต่าง เราก็พร้อมที่จะสู้ไปด้วยกัน เราไม่ล็อกลูกค้าด้วยจำนวนชิ้นงาน แต่ยึดเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ” จอนระบุ ปัจจุบัน audacity มีลูกค้าหลายราย อาทิ SME ที่กำลังมาแรงอย่าง Yuedpao แบรนด์เสื้อยืดสัญชาติไทยที่เล่าเรื่องราวผ่านสโลแกนกวนๆ “ยังง๊ายย... ก็ไม่ย้วย” หรือ BenzStarFlag ตัวแทนจำหน่ายของ Mercedes-Benz อย่างเป็นทางการที่บริษัทได้สร้างสรรค์แคมเปญ PrivateShowroom เปิดประสบการณ์เดินชมรถคนเดียวทั้งโชว์รูม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หรือ ลูกค้า Ducati Thailand นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิและหน่วยงานราชการอย่าง มูลนิธิรามาธิบดี เป็นต้น จอน กล่าวว่า ภายใน 3 ปีแรก บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ 35 – 50 ล้านบาท และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อผลักดันโมเดลธุรกิจใหม่นี้ให้แข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกิจแบบแบ่งปัน ทั้งในส่วนของ Talent Cloud และ Knowledge Hub ที่ไม่ได้มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการคืนผลกำไรสู่สังคมด้วย โดยล่าสุด audacity ได้คิดแคมเปญ “ความคิดถึง” ออนไลน์วีดิโอที่ออกมาสร้างกำลังใจให้คนไทยในช่วงเวลาวิกฤตที่กำลังสร้างกระแสในโซเชียลมีเดียอยู่ในขณะนี้ “ผมมีความเชื่อว่าเรามีเวลา 1 วันเท่ากัน แต่เราสามารถสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมาได้ และอยากให้มีงานความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ งานที่ให้ความรู้ แรงบันดาลใจ ต่อยอดไอเดียไปสู่ส่วนต่างๆ ได้ ไม่ได้จำกัดแค่งานสื่อสาร สร้างแบรนด์ หรือสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น” จอน กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: 5 บริษัทเด่นจาก ทำเนียบ AI 50: บริษัทที่นำ AI มาใช้กับธุรกิจ ประจำปี 2021
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine