เศรษฐกิจไทยยังติดลบแม้ทยอยเปิดเมือง ภาคการท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้นตัวและการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ รวมถึงภาวะว่างงานและรายได้ที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศ
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในมุมของ "ภาคการท่องเที่ยว" จากวิกฤต COVID-19 ว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าในหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่อาจคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทันทีจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มปลดล็อกเป็นด่านสุดท้ายและการใช้จ่ายในประเทศที่ยังไม่กลับมาในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ตัวเลขรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีล่าสุดที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของจีดีพีไทยได้สะท้อนถึงการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงกว่าหลายประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2562 ที่มีจำนวนมากถึง 39.8 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวขาเข้าเฉลี่ย 109,040 คนในแต่ละวัน นับเป็นความท้าทายในการเตรียมพร้อมทั้งระบบการตรวจสอบ สถานที่กักตัว และระบบติดตามให้เพียงพอกับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมถึงการตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใหม่ในประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังไม่พร้อมเรื่องระบบการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ (testing) ที่มีประสิทธิภาพทราบผลได้รวดเร็ว และระบบการติดตามคัดกรองผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อที่รัดกุมและครอบคลุมเพียงพอ (contact tracing) แม้การปลดล็อกเมืองอาจช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือการใช้จ่ายในประเทศได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยเม็ดเงินที่สูญเสียจากการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย โดยตัวเลขประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 เฉลี่ยวันละ 1 ล้านคน ซึ่งใช้จ่ายในประเทศไทยเฉลี่ยที่ 6,039 บาทต่อคนต่อวันหรือสูงกว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของไทยเที่ยวไทยกันเองถึงกว่า 2 เท่า และมากกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยถึง 13 เท่า ดังนั้น หากจะให้การใช้จ่ายของคนไทยกันเองสามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวได้หมด คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 56.5 ล้านคนจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายขึ้นร้อยละ 20 ต่อคน ซึ่งคงเป็นไปได้ยากในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวทำให้คนไทยให้ความสนใจในธุรกิจโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2556-2561 มีจำนวนโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี (ไม่นับรวมที่พักที่ไม่ได้จดทะเบียนกิจการโรงแรม ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก) และหากพิจารณาอัตราการเติบโตของจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 สะท้อนว่าที่พักเกิดใหม่ในระยะหลังมีขนาดเล็กลงหรือหมายถึงผู้ประกอบการรายเล็กกระโดดลงมาทำธุรกิจที่พักกันมากขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนแรงงานที่เข้ามาอยู่ในภาคโรงแรมและภัตตาคารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้อาจอยู่ไม่รอดและต้องปิดตัวลง สภาวะวิกฤตการท่องเที่ยวไทยเช่นนี้ย่อมกระทบต่อรายได้ของทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอีกมหาศาล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึงแม้จะเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ขณะเดียวกันการเปิดเมืองแบบที่ยังมีการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) อย่างเคร่งครัดยังคงเป็นเรื่องที่ทางการให้ความสำคัญเพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรค ดังนั้น แม้ว่าไทยจะสามารถเปิดประเทศเพื่ออนุญาตให้มีการเดินทางและการท่องเที่ยวได้กับบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ แต่การท่องเที่ยวแบบต้องกักตัวและรักษาระยะห่างย่อมมีผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวของต่างชาติ นอกจากนี้ การจัดระเบียบใหม่ในหลายธุรกิจยังส่งผลต่อต้นทุนให้ไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มศักยภาพหรือยอดขายไม่กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนคงที่ ได้แก่ ค่าสิ่งปลูกสร้าง ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงานประจำ เช่น กลุ่มโรงแรมและกลุ่มร้านอาหารจะต้องมียอดขายอย่างน้อยร้อยละ 40-50 ของยอดปกติจึงจะเริ่มมีกำไร (breakeven) รวมทั้ง การดูแลสุขอนามัยภายในร้านและการปฏิบัติตามกฎรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัดยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นสวนทางกับรายรับที่ลดลง จนกระทั่งหลายธุรกิจต้องปิดตัวถาวรจากปัญหาภาวะขาดทุน ซึ่งตอกย้ำให้เศรษฐกิจไทยอาจทรุดตัวลงไปนานกว่าที่หลายฝ่ายคาด ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จึงเป็นการหาจุดสมดุลระหว่างการลดต้นทุนผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการลดความเสี่ยงและข้อจำกัดทางระบบสาธารณสุข โดยในวันที่ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในหลัก ‘ต่ำสิบ’ อย่างต่อเนื่อง และข้อจำกัดทางระบบสาธารณสุขได้รับการเตรียมพร้อมเพิ่มมากขึ้น การตั้งการ์ดรักษามาตรการระยะห่างทางสังคมได้รับการตั้งคำถามว่าเคร่งครัดเกินควร และอาจทำให้คนไทยกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศต้องตกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐอย่างเพียงพอและทันท่วงทีแล้ว ต้นทุนที่ประเทศต้องแบกรับย่อมตกอยู่กับคนไทยทุกคนโดยเฉพาะสำหรับคนรายได้น้อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และโอกาสในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คงจะเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประมาณการ GDP ปีนี้โตติดลบร้อยละ 9 ปรับลดจากครั้งก่อนหน้าที่ประเมินติดลบร้อยละ 6.8 โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งมองว่าจะมาเพิ่มอีกเพียง 3 ล้านคน จากข้อสมมติฐานว่า ไทยจะสามารถทยอยเปิดประเทศให้กับบางประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ และจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งปีนี้มีเพียง 9 ล้านคน ลดลงถึงร้อยละ 77 จากตัวเลขปีที่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่านี้ สำหรับภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก คงต้องปรับกระบวนท่ากันขนานใหญ่เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยสิ่งที่น่ากังวล คือ แม้ในระยะต่อไปจะมีการเปิดพรมแดนให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้แล้วก็ตาม แต่ยังไม่อาจคาดหวังถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วเช่นยุคก่อน โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตยังมีโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ ‘รีเซ็ต’ ตัวเอง ลดการกระจุกตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งมากจนเกินไป และมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งถ้ายังไม่มีก็คงต้องเริ่มสร้างขึ้นในวันนี้ อ่านเพิ่มเติม: เศรษฐกิจขาลง “ตลาดหุ้น” ขาขึ้น?ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine