Whoscall เผยรายงาน GASA พบกว่า 1 ใน 4 ของคนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา - Forbes Thailand

Whoscall เผยรายงาน GASA พบกว่า 1 ใน 4 ของคนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2024 | 03:45 PM
READ 684

บริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser เปิดรายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทย (State of Scams in Thailand) ประจำปี 2567 เผยถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยกว่า 9,360 คนจากหลากหลายกลุ่มประชากรตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา


    แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า “แม้จะมีความพยายามในการ ป้องกัน ภัยมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาจากการ หลอกลวง และความพยายามในการหลอกกลวงจากมิจฉาชีพ รายงานที่เราได้จัดทำ ร่วมกับ GASA และ Scam Adviser ในปีนี้แสดงให้เห็นถึงระดับความถี่ของการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึง ข้อมูลเชิงลึกกลลวงใหม่ๆ จากมิจฉาชีพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพบว่ามูลค่าความเสียหายที่เหยื่อถูกหลอกจากมิจฉาชีพเฉลี่ยสูงถึง 1,106 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 36,000 บาทต่อคนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา


การหลอกลวงเกิดบ่อยขึ้น และมีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นแม้ว่าคนจะรู้ทันมิจฉาชีพ

    รายงานระบุว่ากว่า 1 ใน 4 หรือ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้พบว่าคนไทยมีความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพมากขึ้น ราว 55% มั่นใจว่ารู้ทันกลลวงของมิจฉาชีพ โดย 44% มีการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ และ 37% ใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ



    อย่างไรก็ตาม 89% เผยว่ายังต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 58% ระบุว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพบ่อยขึ้น โดยเกือบ 10% ระบุว่าถูกก่อกวนจากมิจฉาชีพถี่ขึ้นต่อเดือนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 35% ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงหลายครั้งต่อสัปดาห์

    รายงานยังพบว่าการโทรเข้าและส่งข้อความผ่านมือถือยังเป็นวิธีการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด ตามด้วยโฆษณาออนไลน์ การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับส่งข้อความ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย โดย 5 ช่องทางที่ มิจฉาชีพใช้มากที่สุดในการหลอกลวง ได้แก่ Facebook 50% ตามด้วย Line 43%, Messenger 39%, TikTok 25% และ Gmail 20%



    ในส่วนของการได้รับคืนเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกไปนั้นทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับปีผ่านมา ผลสำรวจพบว่ากว่า 1 ใน 3 หรือ 39% สูญเสียเงินภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ โดยมีเหยื่อเพียง 2% ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืนทั้งหมด แต่มีเหยื่อมากถึง 71% ไม่สามารถนำเงินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ และ 73% ระบุว่าได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากถูกหลอก

การขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้เทคโนโลยี AI เป็นวิธีการหลอกลวงที่แพร่หลาย

    การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Thef) และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพใช้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลสำรวจระบุว่าการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลโดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินเป็นกลลวงที่พบมากที่สุดถึง 22% แซงหน้าการหลอกลวงให้ซื้อสินค้าซึ่งอยู่ที่ 19% ตามมาด้วยการออกใบแจ้งหนี้ปลอมหรือการหลอกให้ชำระหนี้ที่ 16% และการหลอกให้ลงทุน 14% ตามลำดับ



    นอกจากนี้ รายงานระบุว่าคนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่ามิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาเป็นเทคนิคใหม่ในการ เขียนข้อความสร้างบทสนทนาเลียนแบบเสียง รวมถึงสร้างภาพของบุคคลหรือสถานการณ์หลอกลวงในรูปแบบต่างๆ โดย 66 % ของผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่าเคยได้รับข้อความที่เขียนโดยใช้เทคโนโลยี AI

    จอริจ อับบราฮัม ผู้จัดการทั่วไป Global Anti-Scam Alliance (GASA) กล่าวว่า “รายงานสถานการณ์การหลองลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน เพิ่มการดำเนินการที่เข้มงวดและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยจาก มิจฉาชีพ จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหายทำให้เรา จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องประชาชนและฟื้นความเชื่อมั่นในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล”



    เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่เพิ่มขึ้นบริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จึงให้ความสำคัญกับการออกมาตรการในระยะยาว เพื่อป้องกันกลลวงในรูปแบบที่เน้นการจัดการความเสี่ยงและเสริมสร้างความระมัดระวัง ให้แก่ประชาชนจากการให้ความรู้ ตลอดจนมุ่งพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อรับมือกับกับภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการผสานเทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาฟีเจอร์ ใหม่บนแอปพลิเคชัน Whoscall ทั้งเวอร์ชั่นฟรีและพรีเมียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อปกป้องผู้ใช้งานทุกคน

    “นอกเหนือจากฟีเจอร์ Caller ID และ Smart SMS Assistant ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันสายโทรเข้า และข้อความหลอกลวงแล้ว ปัจจุบัน Whoscall ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ เช่น ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหม) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเช็ก Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิกลิงก์ฟิชชิ่งรวมไปถึง Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยกลโกงมิจฉาชีพแห่งแรกในไทยอีกด้วย” แมนวู กล่าวปิดท้าย


ภาพ: Whoscall และ Freepik


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘กลุ่มสยามกลการ’ ทุ่ม 9,500 ล้านบาทใน 3 ปี เน้นลงทุนธุรกิจใหม่ ลดพึ่งพิงธุรกิจยานยนต์แบบเดิม

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine