Whoscall เผยรายงานปี 2567 คนไทยเจอมิจฉาชีพ 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 112% จากปีก่อนหน้า - Forbes Thailand

Whoscall เผยรายงานปี 2567 คนไทยเจอมิจฉาชีพ 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 112% จากปีก่อนหน้า

นับตั้งแต่ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Whoscall เริ่มต้นเปิดเผยรายงานประจำปีในปี 2563 เรื่อยมาจนปัจจุบัน พบว่าการหลอกลวงของมิจฉาชีพในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมปี 2567 ที่ผ่านมา Whoscall ตรวจเจอสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และเป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี


    แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า “ในปี 2567 เราสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”


    ยอดการหลอกลวงทางสายโทรศัพท์ตลอดปี 2567 อยู่ที่ 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 85% จาก 20.8 ล้านครั้งเมื่อปี 2566 โดยกลลวงที่มิจฉาชีพใช้บ่อยๆ ได้แก่ การหลอกขายของ การแอบอ้างเป็นองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การหลอกทวงเงินหรือหลอกว่าเป็นหนี้ และการหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย

    ส่วนยอดการหลอกลวงทางข้อความ SMS ตลอดปี 2567 อยู่ที่ 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 123% จาก 58.3 ล้านครั้งเมื่อปี 2566 โดยข้อความหลอกหลวกที่พบได้บ่อย อาทิ การชักชวนเข้าเว็บไซต์พนัน การหลอกว่ามีพัสดุติดค้าง การหลอกว่ามีสิทธิ์กู้เงินผิดกฎหมาย การแอบอ้างเป็นองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และการหลอกให้ลงทุน ซึ่งสาเหตุที่มิจฉาชีพนิยมใช้ข้อความ SMS เพราะต้นทุนต่ำ และปัจจุบันมีการทำเทคโนโลยี Generative AI เข้ามาช่วยเขียนสคริปต์รวมถึงส่งข้อความหาเหยื่อจำนวนมากได้ในคราวเดียว

    เมื่อมองภาพรวมของรายงานประจำปี 2567 ของ Whoscall แล้ว อาจกล่าวได้ว่าคนไทยต้องเผชิญกับมิจฉาชีพไม่ต่ำกว่า 460,000 ครั้งต่อวัน


คนไทยเกือบครึ่งข้อมูลรั่วไหล

    หนึ่งในกลลวงที่มิจฉาชีพส่งมากับข้อความ SMS คือลิงก์อันตราย ซึ่งทาง Whoscall ก็ได้พัฒนาฟีเจอร์ Web Checker เพื่อช่วยตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัย โดยข้อมูลจากผู้ใช้งานในปีที่ผ่านมา พบว่า 30% เป็นลิงก์หลอกให้ติดตั้งแอปอันตรายที่มาพร้อมมัลแวร์ อีก 30% เป็นลิงก์พนันออนไลน์ผิดกฎหมาย และ 40% เป็นลิงก์ฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งก็คือการพาเหยื่อไปยังหน้าเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูลสำคัญ

    ฟีเจอร์ ID Security ของ Whoscall ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง พบว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานชาวไทย 41% มีการรั่วไหลไปยัง Dark Web ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการขายข้อมูลผิดกฎหมาย และ Deep Web ซึ่งเป็นส่วนของอินเทอร์เน็ตที่เสิร์ชเอนจินหาไม่เจอ ต้องใช้โปรแกรมพิเศษเข้าไป


    ข้อมูล 97% รั่วไหลทางโทรศัพท์ และ 88% รั่วไหลทางอีเมล ซึ่งมักมีชื่อ วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และพาสเวิร์ดพ่วงติดไปด้วย โดยต่างก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน และมิจฉาชีพมักนำมาใช้เพื่อเข้าหาเหยื่อ ทาง Whoscall แนะนำว่าเมื่อแอปแจ้งเตือนว่าข้อมูลรั่วไหล ควรรีบเปลี่ยนพาสเวิร์ดสำคัญต่างๆ ทันที


มูลค่าความเสียหาย 80,000 ล้านบาท

    ในการเปิดเผยรายงานประจำปี 2567 นี้ Whoscall ยังได้เชิญ พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ มาร่วมแบ่งปันข้อมูล โดยเผยว่า นับตั้งแต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการเปิดให้ใช้งานระบบแจ้งความออนไลน์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีมูลค่าความเสียหายจากเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้รวมประมาณ 80,000 ล้านบาท เฉพาะเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา มีการแจ้งความรวมกว่า 30,000 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท อายัดได้ราว 73 ล้านบาท

    ในส่วนของปฏิบัติการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลให้สถิติที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนอื่นๆ เช่น SMS เว็บพนันออนไลน์ การหลอกขายของ ฯลฯ ยังคงมีอยู่ ซึ่งทั้งทางภาครัฐและเอกชนต้องเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกันต่อไป


    สำหรับ Whoscall ได้ย้ำจุดยืนในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับกลโกงจากมิจฉาชีพหลากหลายรูปแบบทั้งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ต่อเนื่องไปจนถึงการใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาร่วมกับ Large Language Model (LLM) รวมถึง AI เพื่อคาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ Whoscall ยังดำเนินการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ให้ตื่นตัวและใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องตนเอง เช่น การโหลดแอป Whoscall มาใช้ การบริการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัย และการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆ อย่างรอบรอบ

    “เราพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดในการลดอัตราการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงดิจิทัล รวมถึงออกบริการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อปกป้องทั้งผู้ใช้และองค์กรในทุกช่องทาง” แมนวู จู กล่าวสรุป


ภาพ: บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Mixue ยักษ์ใหญ่ชานมไข่มุกจากจีน เตรียม IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกง ตั้งเป้าระดมทุน 444 ล้านเหรียญ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine