Uber คุยกรมขนส่งทางบก ร่วมมือสร้าง ‘กฎหมาย’ รองรับ หาทางออกภายใน 6 เดือน - Forbes Thailand

Uber คุยกรมขนส่งทางบก ร่วมมือสร้าง ‘กฎหมาย’ รองรับ หาทางออกภายใน 6 เดือน

Uber ครบรอบ 3 ปีประเทศไทย เรื่องกฎหมายยังวุ่น นัดคุยกรมขนส่งทางบกตั้งหน่วยงานกลางศึกษากฎหมายรองรับภายใน 6 เดือน เป้าปี’60 เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ เชื่อมต่อปฏิทิน-แชทกับผู้ขับ แย้มอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มบริการ uberPOOL ร่วมโดยสารหลายคนในคันเดียว

ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber (อูเบอร์) กล่าวว่า ปี 2560 เป็นช่วงครบรอบ 3 ปีของการให้บริการ Uber แอพพลิเคชั่นเรียกรถแบบร่วมเดินทาง (ride-sharing) ในประเทศไทย หลังเปิดบริการครั้งแรกในปี 2557  โดยมีผู้โดยสารและผู้ร่วมขับขี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดบริการแล้วใน 4 เมือง คือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เชียงใหม่ เชียงราย และพัทยา-ชลบุรี และเปิดบริการเพิ่มคือ UberEATS บริการรับส่งอาหาร ซึ่งมีร้านค้าพันธมิตรแล้วกว่า 100 ร้าน สำหรับประเด็นหลักที่ถือเป็นอุปสรรคของ Uber ประเทศไทยรวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก คือ การที่ Uber ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ศิริภา เปิดเผยว่า Uber มีการพูดคุยกับตัวแทนจากกรมขนส่งทางบกแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 โดยมีแนวคิดร่วมกันในการหาทางออกเชิงกฎหมายให้กับบริการเรียกรถร่วมเดินทาง “มีการประชุมกันว่าจะนำ ride-sharing มาให้บริการในไทยโดยมีกฎหมายรองรับได้อย่างไร โดยเราตกลงร่วมกันว่าจะตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาศึกษา ให้ทางกรมขนส่งทางบกเป็นผู้เสนอชื่อหน่วยงานซึ่ง Uber ตกลงร่วมกันว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง แล้วจึงเริ่มศึกษา มองกรอบการประชุมติดตามว่าจะพบกันทุกๆ 2 สัปดาห์ และมีกรอบระยะเวลาการศึกษาออกแบบภายใน 6 เดือน” ศิริภากล่าวว่า ในระหว่างนี้ Uber ยังให้บริการอยู่ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวทีนิวส์ว่า กรอบระยะเวลาการศึกษาร่วมกันคือ 6 เดือน – 1 ปี ระหว่างนี้ขอให้ Uber หยุดบริการไปก่อน และ Uber ได้รับปากกับกระทรวงคมนาคมแล้ว ศิริภากล่าวต่อไปว่า ในการประชุมนัดแรก Uber ได้นำเสนอแนวทางจากต่างประเทศที่รองรับ Uber ให้เป็นบริการที่ถูกกฎหมายแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งมีวิธีการที่ต่างกัน แต่มองว่าต้นแบบที่น่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้คือกฎหมายของมาเลเซีย ซึ่งสร้างระบบการสอบใบขับขี่ในอีกประเภทหนึ่ง แตกต่างจากใบขับขี่สาธารณะ เพื่อมาเป็นผู้ร่วมขับขี่ในบริการเรียกรถร่วมเดินทาง แต่ยืนยันว่าการกำหนดค่าโดยสารจะยังใช้ตามระบบบริการร่วมเดินทางที่ปรับขึ้นลงตามดีมานด์-ซัพพลายของตลาด  

พบฟีเจอร์ใหม่ปี’60-สนใจเปิด uberPOOL

ด้านแผนการดำเนินงาน ศิริภายอมรับว่า 3 ปีที่ผ่านมายังเป็นช่วงของการลงทุนโดยยังไม่สร้างกำไร แต่ Uber ยังคงมีการบริการ ลงทุนด้านโปรโมชันการตลาด และนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้งานเพิ่ม โดยปี 2560 มีฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดตัวไปแล้วคือ สามารถเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น Line ได้ทันที และเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้ร่วมขับขี่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถให้บริการได้ ส่วนนวัตกรรมใหม่ๆ ในปีนี้ ได้แก่
  • เชื่อมข้อมูลจุดหมายปลายทางในแอพฯ ปฏิทินสู่แอพฯ Uber อัตโนมัติ
  • พิมพ์ส่งข้อความระหว่างผู้ร่วมขับขี่กับผู้โดยสารได้ในแอพฯ
  • ผู้โดยสารสามารถส่งคำติชมถึงผู้ร่วมขับขี่ได้
  • มาตรการรักษาความปลอดภัย Uber จะทำการสุ่มขอให้ผู้ร่วมขับขี่ถ่ายรูปหน้าตนเองในขณะนั้น เพื่อยืนยันตัวตนว่าตรงกับชื่อในบัญชีหรือไม่
  • เพิ่ม Call Center ให้กับผู้ร่วมขับขี่ติดต่อได้ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00-18.00น. นอกเหนือจากการส่งข้อความผ่านแอพฯ
ศิริภา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาบริการ uberPOOL แต่ที่ยังไม่สามารถเปิดใช้ในทันทีเพราะมีอุปสรรคคือ การจราจรที่ติดขัดของไทยจะทำให้ต้องมีผู้เรียกรถในอัตราความถี่สูงมากจึงจะคุ้มค่า จึงยังต้องติดตามแนวโน้มตลาดให้ไปถึงจุดนั้นก่อน (*uberPOOL เป็นบริการร่วมเดินทางแบบคันเดียวไปได้หลายคนหากไปทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และผู้เดินทางสามารถแชร์ค่าโดยสารกันได้) สำหรับค่าโดยสาร ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นตามดีมานด์ตลาดเป็นระยะ และมีการปรับสัดส่วนรายได้ระหว่าง Uber กับ ผู้ร่วมขับขี่ จากเดิม 20:80 เป็น 25:75 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการปรับใหม่ในเร็วๆ นี้   Forbes in Details
  • Uber ทั่วโลก มีการให้บริการแล้ว 450 เมืองใน 74 ประเทศ มีผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อเดือน ให้บริการเฉลี่ย 5 ล้านเที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ ข้อมูลเฉพาะในประเทศไทยไม่สามารถเปิดเผยได้ด้วยนโยบายบริษัท
  • ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเส้นทางรายได้ของ Uber ประเทศไทยและการชำระภาษี
  • ศิริภา จึงสวัสดิ์ เป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยคนแรกของ Uber แต่งตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 60 จากที่ผ่านมา Uber ไทยถูกกำกับดูแลโดย Uber ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
  • ในประเทศไทย ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวไทย รองลงมาคือ ชาวอเมริกัน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, สหราชอาณาจักร และจีน